26 ก.ย. 2022 เวลา 14:09 • กีฬา
ทาจิกิสถาน : จากตะกอนเถ้าถ่าน สู่ทีมชาติโซนเอเชียกลางที่น่าจับตามอง | Main Stand
สิ้นเสียงนกหวีดยาวที่สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ในรอบชิงชนะเลิศ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์คัพ 2022 เป็นชัยชนะสุดยิ่งใหญ่ของ "ทีมชาติทาจิกิสถาน" เหนือมาเลเซียในการดวลจุดโทษไป 3-0 หลังจากเสมอในเวลาแบบไร้สกอร์
นับเป็นความสำเร็จนอกประเทศรายการแรกของพวกเขา ทั้งยังเป็นทีมชาติจาก "เอเชียกลาง" ทีมแรกที่คว้าโทรฟี่คิงส์คัพได้สำเร็จอีกด้วย
ซึ่งผลงานของพลพรรค "บุตรแห่งที่ราบสูง" ทีมนี้ ยังคงดีอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากการได้ไปแข่งขันเอเชียน คัพ รอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกช่วงกลางปี 2022 ที่ผ่านมา
ทั้งที่หากย้อนไปเมื่อกว่า 10 ปีก่อน พวกเขายังคงเป็นทีมดาด ๆ เป็นลูกไล่ให้กับทีมชาติในโซนเอเชียกลางด้วยกัน และทีมชาติในเอเชียอื่น ๆ อยู่เลย
แล้วสาเหตุอันใดที่พลิกชะตาให้ทาจิกิสถานทีมนี้พุ่งทะยานขึ้นมาจนเป็นที่น่าจับตามองที่สุดในบรรดาชาติจากเอเชียกลาง ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา
ดินแดนแห่งความครึ่ง ๆ กลาง ๆ
ต้องบอกว่าดินแดนทาจิกิสถานเป็นแลนด์ล็อกที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ทั้งยังเป็นที่ราบสูงเกือบค่อนประเทศ และมีสภาพอากาศหนาวเกือบตลอดทั้งปี โดยมีเทือกเขาปามีร์ (Pamir) เป็นสิ่งเลื่องชื่อ ขนาดที่ในอดีตเคยได้สมญาว่า "หลังคาโลก" เรียกได้ว่ามีความสูงระดับน้อง ๆ ของธิเบตเลยทีเดียว
เมื่อมีแต่ที่สูงและอยู่ตรงกลางทวีปเอเชียพอดีเป๊ะ ดินแดนแถบนี้จึงเป็นเหมือน "ทางผ่าน" แต่ละอาณาจักรที่จ้องจะยึดครองดินแดนนี้เพื่อกรุยทางหาโอกาสไปตีดินแดนอื่น ๆ ทั้งทางตะวันออกและตะวันตก จากทั้งเปอร์เซียโบราณหรือจีนโบราณ
ดังนั้นที่นี่จึงเป็นดั่ง "อีสต์มีตเวสต์" ที่มีอัตลักษณ์อย่างละครึ่ง และต่อมามีการเปิด "เส้นทางสายไหม" ก็ยิ่งผสมปนเปกันหลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องของประชากรและวัฒนธรรม
แต่ "ความเป็นทาจิกิสถาน" จริง ๆ มาเริ่มนับตั้งแต่การเข้ามาของ "อิสมาอิล ซามานี (Ismail Samani)" ผู้นำแห่งจักรวรรดิซามานิด รัฐอิสลามที่รวมดินแดนแถบเอเชียกลางให้เป็นปึกแผ่น ซึ่งประชาชนชาวทาจิกิสถานนับถือท่านมากเหมือนเป็นฮีโร่ผู้ให้กำเนิดประเทศ ขนาดที่ตั้ง "อนุสาวรีย์อิสโมอิล โซโมนี" ขนาดสูง 13 เมตรไว้บนจุดที่สูงที่สุดของประเทศเลยทีเดียว
1
และภายหลังได้มีการอัญเชิญท่านมาเป็นสัญลักษณ์ของทีมฟุตบอลทีมชาติ ประดับอกเสื้อข้างซ้ายให้นักเตะภูมิใจ
แต่ช่วงเวลาฮันนีมูนนั้นแสนสั้น เพราะเมื่อมองโกลเป็นใหญ่ก็มากินรวบแดนแห่งนี้ดินไป หรือสมัยที่รัฐอิสลามหรืออาณาจักรไหนเป็นใหญ่ก็มาชิงดินแดนนี้ไปอีก เป็นแบบนี้อยู่หลายร้อยปีจนท้ายที่สุดก็มาตกอยู่ในกำมือของจักรวรรดิรัสเซีย ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสหภาพโซเวียตในคราต่อมา
เรียกได้ว่าก่อนไปอยู่กับโซเวียต ทาจิกิสถานนั้นวุ่นวายขั้นสุด ประชาชนในดินแดนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนการปกครองอยู่ตลอด ดังนั้นจะคิดริเริ่มอะไรก็ "ไปไม่สุด" ติดความ "ครึ่ง ๆ กลาง ๆ" มาเสมอ
ซึ่งส่งผลต่อวงการฟุตบอลในประเทศต่อ ๆ มาด้วย…
เหมือนฟากฟ้าเทวดากลั่นแกล้ง
น่าแปลกอย่างหนึ่งที่การอยู่ภายใต้โซเวียตในชื่อ "โซเวียตทาจิก" นั้น กลับเป็นครั้งแรกที่ดินแดนนี้สงบและไม่มีผลัดแผ่นดินไปเกินครึ่งศตวรรษ
แต่การอยากอยู่เงียบ ๆ คนเดียวนี้ก็ต้องแลกมากับ "การไร้ตัวตน" ของพื้นที่ไปเสียเฉย ๆ เรียกได้ว่าแทบจะลืมไปแล้วว่ามีทาจิกิสถานอยู่ด้วย โดยสิ่งนี้ก็ส่งผลมาสู่วงการฟุตบอลเช่นกัน
เพราะก็ได้แต่นั่งตาละห้อยมองความสำเร็จของเขตปกครองในโซเวียตอื่น ๆ อย่างเขตยูเครน อาร์เมเนีย จอร์เจีย ไบโลรัสเซีย ได้ลงแข่งขัน "โซเวียต ท็อป ลีก" และที่เจ็บใจที่สุดคือบรรดาเขตเพื่อนบ้านอย่าง คาซัค และ อุซเบก ก็ยังเคยสัมผัสประสบการณ์บนลีกสูงสุดมาแล้ว
แต่ในปี 1989 ก็มีสโมสรเดียวจากเขตทาจิก ที่อาจหาญพอจะเข้าไปประชันกับเสือสิงห์กระทิงแรดในโซเวียต ท็อป ลีก ได้ นั่นคือสโมสร "ปามีร์ ดูชานเบ (Pamir Dushanbe)" แม้จะอยู่ท้ายตารางก็เถอะ
กระนั้นอยู่ได้เพียง 3 ปีและกำลังจะขยับทำผลงานดีขึ้นเรื่อย ๆ สหภาพโซเวียตก็มาล่มสลายไป แน่นอนว่าลีกก็ยุบตามไปด้วยจึงเลยต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่กับเอกราชที่เพิ่งจะได้รับ
หลังจากพ้นร่มเงาของสหภาพโซเวียต แทนที่จะดีที่ได้ปกครองตนเองก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะความวุ่นวายที่หายไปนานกลับมาอีกครั้ง และคราวนี้มาแบบหนักหน่วง มันไม่ใช่ภยันตรายจากภายนอก แต่เป็น "การตีกันเอง" ของชาวทาจิกิสถานทั้งผองนี่แหละ
เพราะช่วงปี 1992 ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นที่ตีกันทั้งเรื่องท้องถิ่น ดินแดนในปกครอง ไปจนถึงอุดมการณ์ รวมทั้งมีการผสมโรงจากเพื่อนบ้านและลุกลามใหญ่โต จนมีชาติใกล้เคียงเข้ามาแจมรบด้วย
หรือแม้กระทั่งการตีกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง คีร์กีซสถาน และ อัฟกานิสถาน ในประเด็นเรื่องเส้นเขตแดน และยังคาราคาซังอยู่ จนหากมีโอกาสก็ตอดเล็กตอดน้อยกันตลอด
ทั้งยังมีเรื่องการเป็นเผด็จการ สืบทอดอำนาจการเป็นประธานาธิบดีของ "เอมอมาลี ราห์มอน (Emomali Rahmon)" ที่ยังเป็นประมุขจนถึงตอนนี้ และการใช้อำนาจโดยมิชอบ คอรัปชั่น การเข้าแทรกแซง สอดส่องตรวจตรา หรือการทำตามอำเภอใจของตัวเองด้วย
รวมถึงปัญหา "กับดักความยากจน" ที่ก้าวไปไม่พ้นสักทีตั้งแต่ได้รับเอกราชมา ซึ่งยากจนที่สุดในแถบเอเชียกลางอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น กว่าร้อยละ 28 จนกว่าค่าเฉลี่ยความจน อัตราส่วนเด็กที่เสียชีวิตก่อนอายุ 5 ขวบมีจำนวนถึง 32 ใน 1,000 คน และที่สำคัญประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่ถึง 2 ดอลลาร์สหรัฐด้วยซ้ำไป
1
นี่มันดินแดนที่รวมความวุ่นวายไว้ชัด ๆ เรียกได้ว่ามีแต่ "ตะกอนเถ้าถ่าน" ล้วน ๆ ทำให้ยังไม่ทันได้สร้าง ไม่มีอะไรเป็นจุดยึด หรือเป็นฐานให้ใต่ขึ้นไปได้เลย
แล้วอย่างนี้จะไปตั้งสมาธิกับการพัฒนาฟุตบอลได้อย่างไร ? เพราะประเทศต้องเบนไปให้ความสำคัญกับอย่างอื่นเสียหมด
ประชาชนเองก็วิตกไม่น้อย วันดีคืนดีจะโดนอะไรก่อน จากภายนอกหรือภายในก็ต้องไปวัดดวงกันหน้างาน
ฟุตบอลจะระดับทีมชาติหรือสโมสรไปแข่งมาก็แพ้ โดนยิงยับกลับประเทศมา ก็คงจะไม่มีใครสนใจ จริงไหม ?
แต่ต่อมามีจุดหนึ่งที่ทำให้ฟุตบอลในทาจิกิสถานฟื้นขึ้นมาจากนรกได้
อิสติโกล จุดประกายยุคทอง
วงการฟุตบอลทาจิกิสถานเงียบหายไปนานนับตั้งแต่ได้ลงเล่นโซเวียต ท็อป ลีก ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะมันไร้การเหลียวแลทั้งจากเบื้องบนและแฟนบอล
เรการ์ (Regar) เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศในยุค 2000s โดยพวกเขากวาดแชมป์ลีกสูงสุดไป 7 สมัย แทบจะผูกขาดอยู่ทีมเดียว เพราะได้รับทุนสนับสนุนจาก ทัลโก (TALCO) บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศนั่นเอง
ในระดับนอกประเทศเรการ์ก็ไม่น้อยหน้า เพราะประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน ได้แชมป์ เอเอฟซี เพรซิเดนท์ คัพ ที่เป็นถ้วยเทียร์ 3 คล้าย ๆ ยูฟ่า คอนเฟอเรนซ์ ลีก ไป 3 สมัย
แต่ภายหลังพอถ้วยดังกล่าวยุบไปรวมกับ เอเอฟซี คัพ ยอดทีมจากดินแดนที่ราบสูงนี้ก็พลอยเกมไปด้วย เพราะต้องไปแข่งในระดับที่สูงขึ้นจนยากที่จะไปต่อกร
แต่จุดเปลี่ยนก็มาถึงจากการเกิดขึ้นของสโมสร "อิสติโกล (Istiklol)" นั่นเอง
โดยสโมสรฉายา "พญาราชสีห์" นี้ ถือเป็นทีมเส้นใหญ่พอตัว เพราะได้รับเม็ดเงินสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง แต่จริง ๆ สังเกตจากชื่อสโมสรก็รู้เลย เพราะ อิสติโกล ภาษาทาจิกแปลว่า "อิสรภาพ (Independence)" ซึ่งมีนัยถึงอิสรภาพของทาจิกิสถาน นั่นหมายความว่าทีม ๆ นี้คือ "ตัวแทน" แบบกลาย ๆ ของประเทศนั่นเอง
ด้วยเม็ดเงินที่มีไม่อั้นและแบ็กอัพเป็นรัฐบาลทำให้ทีมมีความมั่นคง ส่งผลให้สามารถดึงดูดบรรดาพ่อค้าแข้งฝีเท้าฉกาจให้อยากมาร่วมงานด้วย ดีกว่าไปตกระกำลำบากกับทีมอื่น ๆ
ส่งผลให้ฟุตบอลลีกของทาจิกิสถานแทบจะ "ผูกขาด" ให้กับสโมสรเดียวหรือก็คือเก่งอยู่ทีมเดียวนั่นเอง และแน่นอนว่าในประเทศก็กวาดแชมป์มาหมด และถึงเวลาจะไปเฉิดฉายนอกประเทศเสียที
1
โดยปีแรกคือปี 2011 พวกเขาได้ไปชิมลางในฟุตบอลเพรซิเดนท์ คัพ ก่อนจะตกรอบสองไป แต่ที่พีกที่สุดคือปี 2012 ที่ไปไกลถึงขั้นชนะเลิศเลยทีเดียว ก่อนที่รายการนี้จะยุบไปในอีกไม่กี่ปีต่อมา
อิสติโกลกลับมาอีกครั้งในเอเอฟซี คัพ ปี 2015 และมาคราวนี้พวกเขาไม่ได้มีดีแค่ฝีเท้าแต่กลับพวกดวงมาด้วย เพราะในรอบรองชนะเลิศที่พบกับ อัล คูเวต ทีมแพ้ไปก่อนถึง 0-4 ดูแล้วอย่างไรก็พลิกกลับมาเข้ารอบยากมาก ๆ แต่ตอนนั้นสมาคมฟุตบอลคูเวตโดนแบน อิลติโกลเลยเหมือนทองหล่นทับผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศหน้าตาเฉย ก่อนที่จะไปแพ้ ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม ทีมแกร่งจากมาเลเซียไปแบบน่าเจ็บใจด้วยสกอร์ 0-1
ปีต่อมาเลยเหมือนโดนเอฟเฟ็กต์ตกรอบแบบไม่ได้ลุ้น ก่อนที่ในปี 2017 อิลติโกลจะมาแบบเหนือ ๆ ทำสถิติไร้พ่ายตั้งแต่รอบแรกยันรอบรองชนะเลิศ ผ่านเข้าไปชิงกับ อัล คูวา อัล จาวิยา ทีมแกร่งจากอิรัก ซึ่งก็เหมือนฉายหนังม้วนเดิมเมื่อ 2 ปีก่อน เพราะแพ้ไป 0-1 อกหักซ้ำสองน้ำตานองหน้าเลยทีเดียว
เดินหน้าสู่ขอบฟ้าไกล
แม้อิสติโกลจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ประสบการณ์ดังกล่าวก็สามารถนำมาสร้างโมเมนต์ "พลังบวก" ให้แก่พ่อค้าแข้งชาวทาจิกิสถานว่าหากทุ่มเทมากพอ ใส่ไม่ยั้งมากพอ ก็สามารถต่อกรได้ทุกทีมบนโลกนี้
จากที่แพ้มาตลอดพลพรรค "ตรามงกุฎ" ก็เริ่มชนะมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากในทีมระดับต่ำกว่าเล็กน้อย จากที่ชนะไม่เกินลูกหรือมีหลุดเสมอบ้างก็ขยับสกอร์ขาดลอยมากขึ้น อาทิ ชนะ บังกลาเทศ 5-0 หรือชนะ เนปาล 3-0
หรือในทีมระดับใกล้เคียงกันก็พอจะต่อกรได้สูสีมากขึ้นและถึงขั้นชนะก็มี อย่างการชนะ อินเดีย 4-2 หรือการชนะ จอร์แดน ได้ 1-0
กระทั่งทีมบ้านใกล้เรือนเคียงคู่แข่งคู่แค้นโดยตรงทาจิกิสถานก็เก็บได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการชนะ อัฟกานิสถาน 1-0 และ เติร์กเมนิสถาน 3-0 ในการแข่งขันกระชับมิตร การชนะ คีร์กีซสถาน 1-0 ในรายการคัดเลือกฟุตบอลโลก 2018 ยันเสมอ 0-0 ในเอเชียนคัพ รอบคัดเลือก 2023 และกอดคอกันเข้ารอบ
แม้ทีมระดับดีกรีสูงกว่าจะยังถือว่าเป็นงานหินและเก็บชัยชนะไม่ค่อยจะได้ แต่ผลงานระดับนี้ก็ถือว่ามาไกลมากโขแล้ว นี่แหละคือความน่าสนใจที่ทำให้ทั่วเอเชียต่างจับตามองทาจิกิสถานเป็นที่สุด
ยิ่งในคิงส์คัพหนนี้ในรอบรองชนะเลิศ พวกเขาก็สามารถกำชัยเหนือ ตรินิแดดและโตเบโก ทีมที่อันดับโลกสูงกว่าไปได้ มิหนำซ้ำยังชนะจุดโทษ มาเลเซีย คว้าแชมป์กลับประเทศสุดยิ่งใหญ่ได้อีก และยิ่งเติมความมั่นใจเติมความกระหายชัยชนะให้พวกเขามากขึ้นไปเรื่อย ๆ
ก็น่าสนใจว่าบรรดาลูกหลานท่าน อิสมาอิล ซามานี จะบินสูงต่อไปได้ไกลอีกสักแค่ไหน จะต่อยอดไปไกล เจริญรอยตามเพื่อนบ้านจนเป็นระดับหัวแถวของเอเชียอย่าง อุซเบกิสถาน ได้หรือไม่ ?
สถานีต่อไป การประเดิม เอเชียนคัพ 2023 รอบสุดท้าย ก็คงจะให้คำตอบได้ดีเลยทีเดียว
บทความโดย วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา