26 ก.ย. 2022 เวลา 21:43 • ปรัชญา
“ไม่ต้องไปทำอะไร”
การเข้าสู่สมาธิเข้าสู่ความสงบนี้ อาจจะมีประสบการณ์ต่างกัน อาจจะมีแสงมีภาพให้เห็น หรือไม่มีอะไรให้เห็นเลย
ถ้าไม่มีอะไรเลยจะดีที่สุด ถ้ารวมลงแล้วสงบนิ่งเป็นเอกัคตารมณ์ สักแต่ว่ารู้ ไม่มีความคิดปรุงแต่ง ไม่สนใจกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่ยังได้รับสัมผัสรับรู้ จะสักแต่ว่ารู้ ไม่มีอารมณ์กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ในบางกรณีก็จะลงไปแบบไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ตาหูจมูกลิ้นกาย หายไปจากความรับรู้ของจิต แล้วก็นิ่งสงบ เป็นสัมมาสมาธิ คือสงบแล้วไม่เคลื่อนไหว
ถ้าสงบแล้วเคลื่อนไหว คือออกไปรับรู้นิมิตต่างๆ อย่างนี้เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะไม่เป็นฐานให้ปัญญา ไม่มีกำลังที่จะตัดกิเลส จิตที่ออกไปรับรู้นิมิตต่างๆนี้ เป็นเหมือนนอนหลับแล้วฝันไป เวลาออกจากสมาธิจะไม่มีพลัง ที่จะข่มจิตข่มใจ
เวลาสัมผัสรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แล้วเกิดอารมณ์โลภโกรธรักชัง ก็จะไม่สามารถดับได้ ไม่เหมือนกับสมาธิที่นิ่งสงบสักแต่ว่ารู้ พอถอนออกมาจะอิ่มเย็นสบาย พร้อมที่จะเจริญปัญญาต่อไป
คือพิจารณาอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกฯลฯ พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย ดินน้ำลมไฟ ถ้าไม่อยากจะนั่งจะลุกขึ้นมาเดินจงกรมพิจารณาก็ได้ ตอนนั้นจะไม่มีอารมณ์อื่นมารบกวน มาฉุดลากให้จิตไปคิดเรื่องอื่น
เพราะกิเลสยังงัวเงียอยู่ ถูกอำนาจของสมาธิกดไว้ ยังไม่มีกำลัง เหมือนคนเพิ่งตื่นใหม่ๆ ตอนนั้นจะพิจารณาธรรม ก็จะเห็นตามความจริง ถ้าพิจารณาอนิจจังก็จะเห็นว่าเป็นอนิจจังเกิดแก่เจ็บตาย
ถ้าพิจารณาว่าเป็นดินน้ำลมไฟก็จะเห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟ ถ้าพิจารณาว่าเป็นทุกข์ก็จะเห็นว่าเป็นทุกข์ พอพิจารณาไปสักระยะหนึ่งแล้ว กิเลสเริ่มหายงัวเงีย เริ่มมีกำลังขึ้นมา ก็จะมาป่วนกับการพิจารณา ทำให้เห็นไม่ชัด ก็ต้องหยุดแล้วก็กลับไปทำสมาธิใหม่
แสดงว่ากิเลสมีกำลังต้านมากขึ้น ถึงเวลาที่ต้องให้ยาสลบกับกิเลสใหม่ ด้วยการกลับเข้าสู่สมาธิ ให้จิตสงบรวมลง สักแต่ว่ารู้ แล้วก็พักตามความต้องการของจิต หลังจากนั้นก็จะถอนออกมา แล้วค่อยพิจารณาใหม่
ในขณะที่อยู่ในสมาธิ ขณะที่จิตพัก สักแต่ว่ารู้อยู่ ไม่ต้องไปทำอะไร อย่าไปพิจารณาตอนนั้น เพราะจะเป็นการรบกวนจิต จิตจะไม่ได้พักผ่อน แล้วก็จะพิจารณาไม่ได้ผล รอให้จิตพักให้เต็มที่แล้วถอนออกมา มารับรู้กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ กลับมาอยู่ในระดับจิตปกติ แล้วค่อยพิจารณา พิจารณาซ้ำๆซากๆ จนเป็นความรู้ที่ติดอยู่กับจิตตลอดเวลา
เวลาเห็นร่างกายของใครก็ตาม จะเห็นพรึบเลย เห็นเกิดแก่เจ็บตาย เห็นดินน้ำลมไฟ เห็นอาการ ๓๒ เห็นอสุภะ เห็นปฏิกูล เหมือนกับอ่านหนังสือ พอเห็นตัวหนังสือปั๊บ ก็จะรู้ความหมายของตัวหนังสือนั้นเลย จะไม่เห็นเพียงแต่สมมุติ เช่นเห็นพ่อเห็นแม่เห็นพี่เห็นน้องเห็นเพื่อน ชื่อนั้นชื่อนี้ ทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร ที่เป็นความรู้ทางโลก ที่จะผูกจิตให้ติดอยู่กับความทุกข์
ต้องมีความรู้ที่จะปลดจิตให้หลุดจากความทุกข์ คือเห็นพ่อเห็นแม่แล้วก็ต้องเห็นดินน้ำลมไฟ เห็นเกิดแก่เจ็บตาย ถ้าเห็นภาพที่สวยงามแล้วเกิดอารมณ์ใคร่ ก็ต้องเห็นอสุภะ เห็นอาการ ๓๒ เห็นอสุภะไม่สวยไม่งาม ปฏิกูลไม่สะอาด ที่ถูกขับออกมาตามทวารต่างๆของร่างกาย
ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะดับความกำหนัดยินดี ความยึดติดว่าเป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นน้อง เพราะเห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ที่จะต้องแยกออกจากกันในภายภาคหน้า ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม ต้องเห็นอย่างนี้ พอดูปั๊บก็จะเห็นเลย ไม่เพียงเห็นว่าเป็นใคร มีตำแหน่งอะไรเท่านั้น
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
กำลังใจ ๕๐ กัณฑ์ที่ ๔๑๔
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓
โฆษณา