27 ก.ย. 2022 เวลา 04:07 • ท่องเที่ยว
เทศกาลออกพรรษา ตำนานงานชักพระ สุราษฎร์ธานี
เมื่อถึงวันออกพรรษาของทุกปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะมีงานบุญที่สำคัญและยิ่งใหญ่ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คืองานประเพณีชักพระ - ทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาว เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งได้อนุรักษ์สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษนับร้อยปี จนนับได้ว่าเป็นมรดกแห่งศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของจังหวัดโดยเฉพาะ
ชักพระ หมายถึง การชักหรือลากพระโดยทางวัดจะถือเอาวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 อัญเชิญพระพุทธรูปให้พุทธศาสนิกชนชักลากแห่ไปบำเพ็ญกุศล และสมโภชเพื่อความเป็นสิริมงคล เรียกว่าชักพระทางบกและชักพระทางน้ำ เป็นการจำลองเหตุการณ์ตามเรื่องราวใน “เทโวโรหนสูตร” กล่าวไว้ว่า ประเพณีแห่พระหรือชักพระสืบเนื่องมาแต่ครั้งสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ครั้นถึงวันออกพรรษา จึงทรงเสด็จลงมาจากดาวดึงส์พิภพสู่โลกมนุษย์
โดยมีบันไดทิพย์ ทั้ง 3 ได้แก่
1. บันไดทอง อยู่ทางขวามือ เป็นที่ลงแห่งฝูงเทพยดา ที่ตามเสด็จ
2. บันไดเงิน อยู่ทางซ้ายมือ เป็นที่ลงแห่งหมู่พรหม
3. บันได้แก้ว อยู่ท่ามกลาง เป็นทางเสด็จของพระพุทธเจ้า
เมื่อพุทธศาสนิกชนทราบข่าวต่างยินดี ชวนกันเฝ้ารอตักบาตรรับเสด็จอย่างคับคั่ง จนเกิดประเพณี ตักบาตรเทโวขึ้น ควบคู่กับประเพณีชักพระ
ประเพณีชักพระฯ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำกันทั้งทางบก – ทางน้ำ ก่อนถึงวันออกพรรษาแต่ละปี วัดและชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ช่วยกันจัดเตรียม รถ เรือ ประดับประดาตกแต่งสวยงาม แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบก (นมพระ) บนเรือพระ รถพระ เมื่อถึงวันออกพรรษาแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรอาหารคาวหวาน ซึ่งต้องมีขนมชนิดหนึ่งเรียกว่าขนมต้ม ต่อจากนั้นจะเริ่มชักเรือพระ - รถพระ ออกจากวัดไปสมโภช พร้อมกับตีกลองโพนไปตลอดทาง เพื่อประกาศให้รู้ว่า มีการชักพระแล้ว
การทอดผ้าป่าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองหรือบ้านดอน จะแตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่น คือ การทอดผ้าป่าหน้าบ้าน ทำติดต่อกันมานานจนกระทั่งสมัยที่ “ขุนโชคชัยการ” เป็นกำนัน ต.ตลาด อ.เมือง มีการทอดผ้าป่าในวันลากพระน้ำ เป็นที่สนุกสนานแต่ก็เลิกรากันไป
ในปี พ.ศ. 2467 “นางพยอม สารสิน” ได้ชักชวนให้มีการทอดผ้าป่าหน้าบ้านขึ้นมาอีกทำอยู่หลายปีจนกระทั่งชราภาพ เทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีรับเป็นผู้จัด ครั้นปี พ.ศ. 2530 จังหวัดสุราษฎร์ธานีเห็นว่างานชักพระ – ทอดผ้าป่า เป็นงานใหญ่ ชาวต่างเมืองสนใจ จึงรับเข้าเป็นงานประจำของจังหวัดจนถึงปัจจุบัน
จากการที่มีการจัดพุ่มผ้าป่ามากมาย กองศาสนพิธีจัดสลากเรียงเลขเป็น 2 ชุด ชุดแรกแจกเจ้าของพุ่มผ้าป่า อีกชุดหนึ่งมีเลขพุ่มผ้าป่าและชื่อเจ้าของพุ่ม จัดไปถวายตามวัดต่างๆ เท่าจำนวนพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่
เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตั้งแต่หัวค่ำเป็นต้นไป อาคารบ้านเรือนและร้านค้าจะจัดพุ่มผ้าป่าประดับประดาด้วยไฟหลากสีสวยงาม และตกแต่งเป็นเรื่องราวพุทธชาดกเกี่ยวกับนรกสวรรค์ มีภาพเขียน ภาพปั้น บางพุ่มจะมีคนรวมกันหลายๆ คน ร่วมกันจัดเป็นพุ่มๆ หนึ่ง
สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการจัดพุ่มผ้าป่าคือผ้า 1 ผืน ห้อยไว้บนพุ่มไม้ สำหรับภิกษุชักเป็นผ้าบังสุกุล และปิ่นโต 1 เถา พร้อมอาหาร เพราะในวันนั้นพระจะไม่ออกบิณฑบาตตามปกติ เหตุนี้จึงเรียกพุ่มผ่าป่า ในวันนี้ว่า “ผ้าป่าข้าวสุก” นอกจากนั้นยังมีของอื่นๆ เช่น ร่ม ไฟฉาย พัด ฯลฯ รวมทั้งปัจจัย แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าของพุ่มนั้นๆ
การแข่งขันเรือยาว ซึ่งมีควบคู่กับงานประเพณีชักพระ – ทอดผ้าป่า สร้างความสนุกสนานและสีสันบรรยากาศในลำน้ำตาปี อีกทั้งการแข่งขันเรือพาย และการประกวดเรือแต่ง จากประเพณีการแข่งขันเรือยาวในแม่น้ำตาปีเป็นจุดกำเนิดเรือยาวที่มีชื่อเสียง ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คือเรือเจ้าแม่ตาปี และเรือเจ้าแม่ธารทิพย์
นางสาวนันทวัน ศิริโภคพัฒน์ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุราษฎร์ธานีกล่าวว่า ถึงช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะมีการจัดงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ขึ้น นั่นคือ “งานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว ฯ” เพื่อเป็นการร่วมทำบุญเนื่องในเทศกาลออกพรรษา ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ / เอกชน และประชาชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สืบทอดกันมายาวนาน ถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ เก่าแก่ และสำคัญอย่างยิ่งของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยกำหนดจัดขึ้นในช่วงเทศกาลวันออกพรรษา รวมเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน กว่าหนึ่งเดือนก่อนถึงวันออกพรรษา วัดและชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะช่วยกันจัดเตรียมตกแต่งเรือพนมพระทางบกและเรือพนมพระทางน้ำ นำมาประดับตกแต่งลวดลายอย่างประณีตงดงาม ตามจินตนาการบวกกับความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นรูปสัตว์ในวรรณคดี อาทิ พญานาค หงส์ พญาครุฑ รวมแล้วกว่า 100 ลำ (ร้อยวัด)
และพร้อมที่จะร่วมขบวนแห่สมโภชในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 นอกจากนี้ ยังมีการประดับประดาตกแต่งพุ่มผ้าป่าซึ่งมีที่เดียวในประเทศไทย เรียกว่า พุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน ขึ้นทั่วทุกมุมเมืองในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรต่าง ๆ สถาบันการศึกษา และอาคารบ้านเรือน รวมกว่า 1,000 พุ่ม
โดยการจัดจำลองฉากเป็นภาพพุทธประวัติ หรือพุทธชาดก ประดับประดาตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ ประกอบแสง สี เสียง และที่ขาดไม่ได้คือต้องมีต้นไม้สำหรับแขวนเครื่องอัฏฐะบริขาร (พุ่มผ้าป่า) เพื่อให้พระสงฆ์ท่านมาชักพุ่มในช่วงเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งจะมีการประกวดพุ่มผ้าป่าชิงถ้วยพระราชทานของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ในคืนวันที่ 10 ตุลาคม 2565
สำหรับปีนี้ในปีนี้ งานประเพณีชักพระฯ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 15 ตุลาคม 2565 บริเวณริมแม่น้ำตาปี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันชักพระตรงกับวันที่ 11 ตุลาคม 2565 นักท่องเที่ยวและผู้ที่มาร่วมงานสามารถทำบุญร้อยวัดได้ภายในวันเดียว หรือเรียกว่า “ไหว้พระร้อยวัด มหัศจรรย์ วันเดียว”
ส่วนการแข่งเรือยาว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 11 ตุลาคม 2565 ขอเชิญผู้ที่ชื่นชอบการแข่งเรือยาวมาชม มาเชียร์ ณ สนามแข่งแม่น้ำตาปี บริเวณเกาะลำพู กันได้
ในปีนี้ ททท. สำนักงานสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมกับบริษัทนำเที่ยว และพันธมิตรทางการท่องเที่ยวเสนอขายแพ็คเกจนำเที่ยวราคาพิเศษ นำนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมงานประเพณีชักพระฯ เพื่อสัมผัส และเรียนรู้ประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิต รวมทั้งเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ซึ่งมีผู้สนใจซื้อแพ็คเกจนำเที่ยวผ่านบริษัททัวร์แล้ว ดังนี้ บริษัทอัมพรทัวร์ จากจังหวัดราชบุรี , บริษัทท่องไทยทั่วทิศ จากจังหวัดสงขลา และชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลรัษฎา จังหวัดภูเก็ต โดยในช่วงเย็นวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ททท.สำนักงาน สุราษฎร์ธานี จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ ณ โรงแรมวังใต้ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายในงานจะมีการประกวดแต่งตัวในธีม “ไหว้พระร้อยวัด” เพื่อชิงของรางวัลมากมาย
โฆษณา