27 ก.ย. 2022 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา TYREPLUS กับวิธีสร้างโมเดลแฟรนไชส์ ให้เติบโตไปพร้อม ๆ กับนักลงทุน
TYREPLUS X ลงทุนแมน
“ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 4 แสนบาท แต่เชื่อไหมเราลงทุนต่อสาขาแฟรนไชส์กว่า 1 ล้านบาท
มองผิวเผินดูเหมือนขาดทุน แต่เรามองในมุมที่เป็นการลงทุนร่วมกับแฟรนไชส์
เพราะเมื่อเขาขายสินค้าของเราได้ เราก็มีกำไรด้วย”
เป็นคำพูดของ คุณสรพงษ์ จันทร์นฤกุล ผู้อำนวยการธุรกิจไทร์พลัสแฟรนไชส์
บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ที่เสมือนเป็นการซื้อใจนักลงทุน
จนทำให้วันนี้ศูนย์บริการรถยนต์ TYREPLUS มีสาขาแฟรนไชส์ทั้งหมด 164 สาขา
สิ่งที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์รายนี้เติบโตต่อเนื่อง
ไม่ใช่แค่แนวคิดสร้างการเติบโตไปพร้อม ๆ กันอย่างเดียว
เพราะเมื่อมองดูค่าเฉลี่ยในส่วนผลประกอบการของแฟรนไชส์ จะพบตัวเลขที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ ค่าเฉลี่ยรายได้ของ TYREPLUS ต่อ 1 สาขา อยู่ที่ 1.5 ล้านบาท ส่วนอัตรากำไรอยู่ที่ 15-20% ของรายได้
ขณะที่สาขาขนาดใหญ่ที่มีจำนวนลูกค้าเยอะ ๆ บางเดือนสามารถสร้างรายได้สูงถึง 7 ล้านบาท เลยทีเดียว
ศูนย์บริการรถยนต์ TYREPLUS ใช้วิธีไหนถึงสร้างรายได้มากถึงขนาดนี้ ?
และหากเราอยากลงทุนในแฟรนไชส์ จะต้องเตรียมเงินทุนและความพร้อม อะไรบ้าง ?
ลงทุนแมน จะสรุปบทสนทนากับ คุณสรพงษ์ ที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ๆ ให้ฟัง..
1
TYREPLUS เป็นหนึ่งในธุรกิจของแบรนด์ยางรถยนต์ระดับโลกอย่าง Michelin ปัจจุบันมีมากกว่า 2,000 สาขาทั่วโลก
ส่วนในประเทศไทยนั้น TYREPLUS เริ่มต้นธุรกิจในปี พ.ศ. 2546
โดยอยู่ในการดูแลของบริษัท สยามมิชลิน จำกัด ซึ่งในช่วงนั้นจะทำธุรกิจขายและเปลี่ยนยางรถยนต์เพียงอย่างเดียว
จนมาถึงจุดเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2557 ทาง Michelin เริ่มมองว่า TYREPLUS ในประเทศไทย จะอยู่แค่ธุรกิจนี้อย่างเดียวไม่ได้ เมื่อเริ่มมีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมายในตลาด
เลยตัดสินใจเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ TYREPLUS เป็นศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจร ที่มีทั้ง บริการเปลี่ยนยาง, น้ำมันเครื่อง, เบรก, แบตเตอรี่ และอื่น ๆ
พร้อมกับเปลี่ยนมาใช้โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์เต็มตัว เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาเป็นเจ้าของสาขา
ความคิดนี้ถือว่ามา ถูกทาง เลยทีเดียว..
เพราะหาก TYREPLUS มีแค่บริการเปลี่ยนยางรถยนต์ ก็จะทำให้ลูกค้า 1 รายอาจใช้เวลาเป็นปีกว่าจะมาเปลี่ยนยางรถยนต์
หากมีบริการหลายอย่างที่ครอบคลุมการใช้รถยนต์ ก็มีโอกาสมากกว่าที่จะทำให้ลูกค้า 1 คนเข้ามาที่ศูนย์บริการบ่อยมากขึ้น
เป็นวิธีการสร้างความถี่ในการใช้บริการ
เพียงแต่โจทย์ข้อใหญ่มันอยู่ตรงที่จะทำอย่างไร ให้เจ้าของรถที่มีศูนย์บริการประจำอยู่แล้ว
เปลี่ยนมาใช้บริการของ TYREPLUS และกลายเป็นลูกค้าประจำ ไปในที่สุด
คุณสรพงษ์ อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว
โดยบอกว่า ธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์ หากมองดูผิวเผิน แต่ละแบรนด์แทบจะไม่ต่างกันเลย
ด้วยการมีสินค้าและบริการต่าง ๆ ใกล้เคียงกันหมด
โจทย์เลยมาอยู่ที่ว่าแล้วจะค้นหา “ความต่าง” ที่จะชนะใจคนใช้รถด้วยวิธีไหน
“เราจะบอกเจ้าของแฟรนไชส์ทุก ๆ สาขาว่า หัวใจของธุรกิจ TYREPLUS คือต้องจริงใจกับลูกค้า พร้อมกับสร้างบริการให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจทุกครั้งที่มาใช้บริการ”
วิธีนี้ได้สร้างผลประโยชน์ถึง 2 ต่อ นั่นคือ
1. เมื่อลูกค้าประทับใจ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สงครามราคาเพื่อแย่งชิงลูกค้ากับคู่แข่ง
2. เมื่อลูกค้า 1 คน ประทับใจก็จะไปบอกต่อเพื่อนหรือญาติ จนถึงรีวิวใน Social Media
เมื่อคนรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ ก็พร้อมมาเป็นลูกค้า TYREPLUS ในสาขานั้น ๆ ทันที
และการจะสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมาได้นั้น บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ก็ต้องสร้างโมเดลธุรกิจที่มาสนับสนุนสาขาแฟรนไชส์ให้เติบโต
รู้หรือไม่ นอกจาก สยามมิชลิน จะใช้เงินซื้อสื่อโฆษณา และการจัดโปรโมชันต่าง ๆ เพื่อให้คนทั่วประเทศรู้จัก TYREPLUS แล้วนั้น
ก็ยังสร้างระบบมากมายให้แก่สาขาต่าง ๆ ได้ใช้ในการทำธุรกิจ
เช่น NPS ระบบสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า หรือจะเป็น ซอฟท์แวร์สำหรับ Retail solutions
ที่เจ้าของแฟรนไชส์ทุกสาขาต้องมีไว้ เพื่อสั่งสินค้าเข้าศูนย์บริการ, บริหารคลังสินค้า, เก็บข้อมูลลูกค้า
จนถึงยังมีการทำโปรโมชันผ่านช่องทางออนไลน์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ขณะเดียวกัน แต่ละสาขาก็จะมีที่ปรึกษาทางธุรกิจ ที่จะแนะนำและให้ข้อมูลสถิติต่าง ๆ ที่ช่วยวิเคราะห์การทำธุรกิจที่ผ่านมา
เพื่อช่วยให้เจ้าของสาขาคิดค้นและสร้างกิจกรรมทางการตลาด จนถึงมีการจัดคอร์สอบรมพนักงานและช่างอยู่ตลอดเวลา
ด้วยโมเดลที่สร้างขึ้นมานั้น ได้ทำให้ TYREPLUS ทั้ง 164 สาขาแข็งแกร่งเกินคาด
เมื่อการขยายสาขาที่ผ่านมา 30% เกิดจากเจ้าของแฟรนไชส์รายเดิมขยายสาขาเพิ่มขึ้น ต่อยอดธุรกิจตัวเอง
เพราะมองเห็นว่าเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไร มีความแข็งแกร่งในระบบการบริหาร จนถึงการมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์มากมายไว้คอยให้บริการลูกค้าเมื่อมาที่ศูนย์บริการ
เช่น ยางรถยนต์ MICHELIN และ BFGoodrich, รวมถึง แบรนด์สินค้าพันธมิตร อื่น ๆ เช่น Castrol, TOTAL, TRW, Bendix และ FB Battery เป็นต้น
ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่ดึงดูดใจนักลงทุนก็คือ หากเราตัดสินใจเปิดสาขา TYREPLUS ก็จะมีกลุ่มลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาใช้บริการในทันที
รู้หรือไม่ว่า TYREPLUS ดูแลรถให้บริษัทขนาดใหญ่ระดับประเทศ มากกว่า 12 บริษัท
เช่น TRUE, ดัชมิลล์ และอำพลฟูดส์ เป็นต้น
โดยรถของบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้ รวมกันจะมีจำนวนรถเยอะ
และหากต้องการซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนอะไหล่ ก็จะต้องเข้าศูนย์บริการ TYREPLUS ที่ใกล้ที่สุด
โดยรายได้จากการให้บริการลูกค้ากลุ่มนี้ ก็จะมาอยู่ที่สาขาแฟรนไชส์ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ TYREPLUS จะมีโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่ง
แต่คุณสรพงษ์ ก็บอกว่า คนที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ได้
ก็จำเป็นต้องมี Passion เองด้วย ต้องคอยเข้ามาดูแลและบริหารศูนย์อยู่เป็นประจำ
และมีความหลงใหลในเรื่องของรถยนต์ จนถึงมีใจรักในงานด้านบริการ
เมื่อตัดสินใจลงทุนในธุรกิจนี้ เราควรเตรียมความพร้อมถึง 6 เรื่องหลัก ๆ นั่นคือ
1. เตรียมที่ดินเป็นของตัวเองโดยเริ่มต้นที่ 400 ตารางเมตร
ซึ่งหากไม่มีที่ดินว่างเปล่า ทาง TYREPLUS ก็จะมีการนำเสนอที่ดิน ทั้งรูปแบบซื้อขาดเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง หรือเป็นสัญญาเช่า
2. เงินลงทุนซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ซ่อมแซมรถต่าง ๆ เริ่มต้นที่ 2,500,000 บาท
3. ค่าธรรมเนียมแรกเข้าแฟรนไชส์ 400,000 บาท
4. พนักงานและช่างซ่อมเริ่มต้นที่ 5 คน
5. กระแสเงินสดที่ใช้ในการหมุนเวียนธุรกิจ 2,000,000 บาท
6. ค่าตกแต่งศูนย์และอุปกรณ์สำนักงาน 500,000 บาท
สำหรับใครที่อยากลงทุนและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถโทรไปที่ Call Center 02-700-3999 หรือ ลงทะเบียนเพื่อให้ไทร์พลัสติดต่อกลับได้ที่ https://bit.ly/3xVqv0u หรือ Facebook : TYREPLUS Thailand
ถึงตรงนี้ คงสรุปได้แล้วว่า ทำไม แฟรนไชส์ ศูนย์บริการ TYREPLUS ถึงสร้างผลตอบแทนคุ้มค่า
และเป็นโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน
เพราะธุรกิจใดก็ตาม ที่มองถึงการสร้างประโยชน์ให้แก่คนรอบข้าง ก็เหมือนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจนั้นแข็งแกร่ง และพร้อมเติบโตเรื่อย ๆ
เหมือนอย่าง TYREPLUS ที่มองว่า ผู้ลงทุนแฟรนไชส์ได้อะไร ลูกค้าที่มาใช้บริการได้อะไรกลับไป และก็ตอบสนองความต้องการเหล่านี้อย่างสมบูรณ์แบบ
พอคิดแบบนี้ ทำแบบนี้ ก็จะทำให้ทั้ง TYREPLUS และผู้ที่ลงทุนแฟรนไชส์ เติบโตไปพร้อม ๆ กัน..
Reference
-เอกสารประชาสัมพันธ์ TYREPLUS
โฆษณา