27 ก.ย. 2022 เวลา 14:10 • กีฬา
เอ็งฟิตป่ะ ? : คืนชีพเนเธอร์แลนด์ หลังชวดยูโร 2016, บอลโลก 2018 สไตล์ "หลุยส์ ฟาน กัล" | Main Stand
เนเธอร์แลนด์ ไม่แพ้ใครมา 15 เกมติดต่อกันแล้ว นี่ถือเป็นสิ่งที่แปลกใหม่กับทีมชาติที่ถือเป็นต้นตำรับฟุตบอลแต่ถูกมองว่าตกยุคจนไม่สามารถคว้าตั๋วไปเล่น ยูโร 2016, ฟุตบอลโลก 2018 ไปจนถึงการตกรอบแต่หัววันใน ยูโร 2020
เรื่องราวดังกล่าวถือเป็นการมูฟออนเป็นวงกลมที่เหลือเชื่อ พวกเขานำกุนซือที่ประกาศวางมือจากงานคุมทีมอย่าง หลุยส์ ฟาน กัล กลับมากุมบังเหียนเป็นครั้งที่ 3 และหนนี้ ฟาน กัล เข้มกว่าทุกครั้งราวกับหลุดมาจากซีรีส์เรื่อง The Last Dance ของทีม ชิคาโก บูลส์ ปี 1998 ก็ไม่ปาน
ติดตามการซ่อมและสร้างใหม่ภายในเวลา 1 ปีนิด ๆ ของจอมปรัชญาที่ใครก็มองว่าตกยุคได้ที่ Main Stand
มูฟออนเป็นวงกลม
เนเธอร์แลนด์ คือหนึ่งในชาติที่ขึ้นชื่อที่สุดชาติหนึ่งในเรื่องของฟุตบอล แม้มันจะเป็นเรื่องธรรมดาของโลกฟุตบอลที่จะต้องเจอกับวัฏจักรที่มีขาขึ้นและขาลง แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่เนเธอร์แลนด์พลาดการไปเล่นฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหญ่ 2 รายการติดต่อกัน เหมือนกับการพลาดไปเล่นฟุตบอลยูโร 2016 และฟุตบอลโลก 2018 อีกเเล้ว
1
เหตุผลของความล้มเหลวแบบไม่น่าเชื่อคือการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ก่อนความล้มเหลวมาถึง 2 ปี เนเธอร์แลนด์เพิ่งเป็นหนึ่งในทีมที่เล่นได้น่าประทับใจที่สุดในฟุตบอลโลกปี 2014 ที่พวกเขาสามารถคว้าอันดับที่ 3 พวกเขาไม่เคยแพ้ใครใน 90 นาทีเลยแม้แต่เกมเดียว เอาชนะทีมแกร่งจากทุกทวีป กวาดเรียบทั้ง สเปน, ออสเตรเลีย, ชิลี, เม็กซิโก, คอสตาริกา และ บราซิล ... เกมเดียวที่พวกเขาแพ้คือการแพ้ในการดวลจุดโทษกับ อาร์เจนตินา ในรอบ 4 ทีมสุดท้ายเท่านั้น
ทีมชุดดังกล่าวมี หลุยส์ ฟาน กัล คุมทีมและมีนักเตะที่สามารถใช้คำว่า The Last Dance อย่างเต็มปาก ทัวร์นาเมนต์นั้นเป็นทัวร์นาเมนต์ส่งท้ายของยอดแข้งอย่าง ไนเจล เดอ ยอง, อาร์เยน ร็อบเบน, เวสลี่ย์ สไนจ์เดอร์, โรบิน ฟาน เพอร์ซี และ เดิร์ก เคาท์
1
... แค่พูดชื่อเหล่านี้ขึ้นมาคุณก็น่าจะพอนึกถึงคุณภาพของพวกเขาออก และหลังจากจบทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก 2014 หลายคนก็เลยจุดพีกไปแล้ว ดังนั้นมันจึงง่ายที่จะคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับทีมชาติเนเธอร์แลนด์หลังจากนั้น ... พวกเขาประสบปัญหากับการหาตัวแทนของนักเตะเหล่านี้ มันเป็นเรื่องยากที่จะหาใครมาทดแทนคุณภาพที่ขาดหายไปได้
แม้จะเกิดดาวดวงใหม่ที่ขึ้นมาช่วยแบกทีมในช่วงหลังอย่าง เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค, เมมฟิส เดปาย และ จอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม แต่เท่านี้มันก็ยังไม่มากพอ หนำซ้ำชายผู้ได้ฉายาว่า "ทิวลิปเหล็ก" อย่าง หลุยส์ ฟาน กัล ก็ลาออกจากทีมชาติไปคุมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังฟุตบอลโลกครั้งนั้น สถานการณ์ของเนเธอร์แลนด์จึงอยู่ในสถานะ "เริ่มใหม่หมด" และนั่นทำให้พวกเขาเหมือนไม้หลักปักเลน หรือคือการขาดแนวทางที่ชัดเจน
กุนซือที่เขามาทำงานแทน ฟาน กัล คือ กุส ฮิดดิงก์ ที่เชี่ยวชาญเรื่องงานแก้มากกว่าการริเริ่ม ยุคสมัยของฮิดดิงก์ผ่านมานานแล้ว จากนั้น แดนนี่ บลินด์ หนึ่งในทีมงานของ ฟาน กัล ชุดฟุตบอลโลก 2014 ก็มารับหน้าที่กุนซือใหญ่แทน แต่ปัญหาคือเนเธอร์แลนด์ไม่ได้ดีขึ้นแต่กลับมีผลงานย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด เกมบุกที่เคยเป็นเครื่องหมายการค้าของพวกเขาหายไป ครั้นจะมาเล่นบอลแทคติกจ๋าสไตล์เดียวกับ ฟาน กัล ก็ไม่สามารถทำได้อีก
ยูโร 2016 รอบคัดเลือก เนเธอร์แลนด์ไม่ได้อยู่กลุ่มเเข็งอะไรเลย แต่ก็ยังอุตส่าห์ไม่ติด 3 อันดับแรก (จาก 6 ทีม) ของกลุ่ม A พวกเขาเล่นไป 10 นัดมีแค่ 13 แต้ม โยนโควตาให้ เช็ก, ไอซ์แลนด์ และ ตุรกี รับสิทธิ์เข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายแบบช็อกคนทั้งประเทศ
อีก 2 ปีต่อมาในฟุตบอลโลก 2018 เนเธอร์แลนด์ก็ตกรอบคัดเลือกอีก พวกเขาแพ้แม้กระทั่งการเจอกับ เบลารุส ... แม้ทีมชุดนั้นจะเริ่มมีดาวรุ่งที่มีเเววขึ้นมาแทรกบ้างโดยเฉพาะแก๊งเด็กนรกจากอาหยักซ์ที่ขึ้นรุ่นมาพร้อม ๆ กันทั้ง แฟรงกี้ เดอ ยอง, มัทไธจ์ เดอ ลิกต์, ดอนนี่ ฟาน เดอเบ็ค แต่เด็กเหล่านี้ก็ยังอายุแค่ 18-19 ปีเท่านั้น อีกทั้งตัวเก๋าที่แบกทีมอย่าง ร็อบเบน และ สไนจ์เดอร์ ก็มาถึงบั้นปลายสุด ๆ แล้ว สุดท้ายก็ทำได้แค่อันดับ 3 ตกรอบคัดเลือกไปตามระเบียบ
ช่วงเวลาดังกล่าวเนเธอร์แลนด์พยายามเปลี่ยนกุนซือหลายครั้งเพื่อจะทำให้เกิดทีมยุคใหม่ของพวกเขาให้ได้ ไล่มาตั้งแต่ ดิค อัดโวคาต, โรนัลด์ คูมัน และ แฟรงค์ เดอ บัวร์ แต่จนแล้วจนรอดพวกเขาก็ยังล้มเหลวมาจนถึงยูโร 2020 (แพ้ เช็ก 0-2 ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย) อย่างน่าผิดหวัง ... จนแล้วจนรอดพวกเขาก็ต้องยอมแพ้ และเลือกคนที่ทำทีมฟุตบอลระดับทัวร์นาเมนต์เก่งที่สุดเท่าที่พวกเขามีในประเทศมาคุมทีมอีกครั้ง
หลุยส์ ฟาน กัล ถูกเรียกตัวกลับมาช่วยทีมครั้งสุดท้ายทั้ง ๆ ที่เขาประกาศเลิกเป็นเฮดโค้ชไปแล้ว ฟาน กัล ยอมรับข้อเสนอเพื่อชาติครั้งนี้ และในวันที่รับตำแหน่งเขายืนยันเองว่าต่อให้เขาเลิกคุมทีมไปเป็นปี แต่เขาก็ยังเป็นหมายเลข 1 ของกุนซือชาวดัตช์อยู่ดี ดังนั้นการที่สมาคมเลือกเขากลับมาคุมทีมเป็นหนที่ 3 คือคำตอบที่ถูกต้องอย่างที่สุด
“ผมไม่ได้รับงานนี้เพื่อตัวเอง แต่ผมทำเพื่อช่วยวงการฟุตบอลดัตช์ และผมก็พร้อมที่จะทำทุกอย่าง" ฟาน กัล กล่าวเริ่ม
“ผมคิดว่าถ้าผมเป็นสมาคมฟุตบอลฯ ก็คงต้องตัดสินใจจ้างผมเช่นกัน ใครจะมีความสามารถแบบผมได้อีกล่ะ? มันอาจจะฟังดูโอเวอร์เล็กน้อย แต่ผมคิดว่าตอนนี้เรื่องประสบการณ์คือสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเราไม่มีเวลาเหลือแล้ว เราต้องทำทุกอย่างให้เรียบร้อยในทันที และคุณไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้หากผู้เล่นไม่มีความฟิต”
งานของเขาเริ่มขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม ปี 2021 ... นั่นหมายความว่าเขามีเวลาเพียง 1 ปีกับอีก 3 เดือนในการปลุกทีม ๆ นี้กลับมาเล่นให้สมฉายาอัศวินสีส้มอีกครั้ง ... และเขาก็เริ่มงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเร้าใจ
ทิวลิปเหล็กคัมแบ็ก
ฟุตบอลสไตล์ ฟาน กัล นั้นไม่ใช่จะทำให้สำเร็จกันง่าย ๆ ฟาน กัล เป็นโค้ชที่เรียกร้องจากทุกคนรอบตัวสูงมาก เขาต้องการสิทธิ์ขาดในหลายเรื่อง และกลุ่มแชร์แมนทั้งหลายจะต้องเชื่อมั่นในโปรเจ็กต์ของเขาด้วย
ส่วนตัวนักเตะทุกคนต้องยินดีที่จะทำตามที่เขาสั่ง ฟุตบอลของ ฟาน กัล ให้ความสำคัญกับเรื่องความฟิต ความเข้าใจเกม และการให้ความเคารพกับเพื่อนร่วมทีม ที่เน้นย้ำเป็นพิเศษและเด็ดขาดคือหากมีใครหรือนักเตะคนไหนปีนเกลียวเขา คน ๆ นั้นจะต้องออกไป และถ้าคำสั่งของเขาไม่เป็นผลเขาก็จะเป็นคนออกไปเอง
ฟาน กัล เข้าใจความหม่นหมองหดหู่ภายในทีมชุดนี้ เขาเข้ามามาทำทีมช่วงแรกและเริ่มแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่เขามี ฟาน กัล ตัดชื่อฮีโร่ชุดฟุตบอลโลกปี 2014 อย่าง ทิม ครูล ผู้รักษาประตูสำรองออกทันที หลังจากที่ ฟาน กัล สั่งให้ครูลซ้อมการเซฟลูกจุดโทษเป็นพิเศษไม่ว่าจะตอนที่เข้าเเคมป์ทีมชาติและตอนเล่นให้กับสโมสร (นอริช ซิตี้) แต่สิ่งที่ครูลแสดงปฏิกิริยาตอบกลับคือเขาไม่ทำตามที่ ฟาน กัล บอก
1
... แค่รู้แบบนั้น ฟาน กัล ก็ประกาศกับสื่อทันทีว่าจะตัดชื่อของครูลออกจากทีม แม้ครูลจะถูกวางไว้เป็น 1 ใน 23 นักเตะที่จะได้ไปเล่นรอบสุดท้ายแน่นอน ด้วยทักษะการเซฟจุดโทษที่ทำได้ดีมาตลอดจนได้รับฉายาจากสื่อว่า "มือพิฆาตจุดโทษ"(Penalty Killer) ก็ตาม
"ไม่มีอนาคตสำหรับเขาในทัพอัศวินสีส้ม เพราะเขาไม่ต้องการโอกาสนั้น นั่นคือผลการตัดสินใจของเขาเองล้วน ๆ" ฟาน กัล กล่าว ซึ่งแม้เรื่องนี้จะทำให้เขาเสียเวลากับการหามือ 1 ถาวรอยู่พักใหญ่ก็ตาม
ไม่ใช่แค่ตัวสำรองเท่านั้นที่ ฟาน กัล กล้าหักกันแบบตรง ๆ เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค ปราการหลังเบอร์ 1 ของโลกก็ยังเคยงัดข้อกับ ฟาน กัล มาแล้ว จนกระทั่งสุดท้าย ฟาน กัล ก็เป็นผู้ชนะในเกมจิตวิทยาครั้งนี้
เรื่องมันมีอยู่ว่าแนวรับลิเวอร์พูลออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่ชอบแทคติคของ ฟาน กัล ในระบบ 3-4-1-2 ที่ใช้ในเกมชนะ เดนมาร์ก 4-2 เพราะดูเน้นเกมรับมากเกินไป โดยส่วนตัวแล้วเขาชอบแทคติค 4-3-3 มากกว่า ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ลิเวอร์พูล ต้นสังกัดของเขาใช้ ... หลังจากนั้น ฟาน กัล ก็ไม่รอนานและจัดการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาดว่านี่คือทีมที่เขามีสิทธิ์ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว
ฟาน กัล ยอมรับว่าเขากับ ฟาน ไดจ์ค เถียงกันเรื่องนี้อยู่บ่อย ๆ แต่สุดท้ายเมื่อผลงานของทีมดี ฟาน กัล ก็ยืนยันว่าเขาจะไม่ง้อนักเตะคนไหนแม้แต่คนเดียวที่ไม่อยู่ในลู่ในทาง สุดท้าย ฟาน ไดจ์ค ก็ยอมรับการตัดสินใจของ ฟาน กัล ซึ่ง ฟาน กัล ก็แฟร์พอที่จะให้ ฟาน ไดจ์ค กลับมาเป็นลูกทีมคนโปรดของเขาอีกครั้ง
1
"ผมรู้ว่าเขามีแทคติคที่ชื่นชอบ เขาพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะเสมอ ... เราเคยโต้เถียงกันตอนที่ผมเข้ามารับงานที่นี่ แต่ผู้จัดการทีมคือคนตัดสินใจเลือกแทคติค" ฟาน กัล กล่าวปิดประเด็นดังกล่าว
ความเด็ดขาดของ ฟาน กัล ส่งอิทธิลต่อทีมชุดนี้จริง ๆ เขากลายเป็นบอสใหญ่ที่ทุกคนเชื่อฟัง แม้สื่อพยายามจะเสี้ยมให้เกิดปัญหาระหว่าง ฟาน ไดจ์ค กับ ฟาน กัล แต่สุดท้าย ฟาน ไดจ์ค ก็ออกมายืนยันด้วยตัวเองและยุติข่าวลือว่าเขาเป็นหัวโจกในการเลื่อยขาเก้าอี้ ฟาน กัล ด้วยตัวเอง
ฟาน กัล เอาอยู่กับทุกคนอย่างไม่น่าเชื่อ โจนาธาน วิลสัน นักเขียนของ เดอะการ์เดี้ยน เขียนถึงเรื่องดังกล่าวในหัวข้อ "ฟาน กัล หยายคาย เผด็จการ และดื้อรั้น ... แต่วิสัยทัศน์ของเขาสมควรได้รับการยกย่อง"
1
วิลสันอธิบายถึงการจัดการภายในที่ไม่มีใครแทรกแซงเขาได้ นอกจากนี้ ฟาน กัล ยังสยบเสียงวิจารณ์จากเหล่านักข่าวด้วยการสวนแบบแสบ ๆ ทุกคำ เขาเคยบอกกับ วาเลนติน ดรีสเซ่น Valentijn Driessen นักข่าวอาวุโสสายฟุตบอลของเนเธอร์แลนด์ ที่วิจารณ์แผนการเล่นของเขาว่า "ขอโทษทีนะที่ต้องพูดตรง ๆ แบบนี้ คุณเป็นแค่นักข่าว ผมว่าคุณทำสิ่งที่คุณถนัดไปเถอะ ส่วนเรื่องฟุตบอลนั้นอย่ามายุ่งเลย ไปตั้งใจทำงานดีกว่า"
1
นี่คือตัวอย่างการบริหารแบบ ฟาน กัล เมื่อเขาได้รับตำแหน่งเขาเชื่อเสมอว่าเขาเป็นคนที่เอาตัวเองมาเสี่ยงมากที่สุด ดังนั้นถ้านักเตะคนไหนไม่เห็นด้วยหรือไม่ต้องการทำสิ่งที่เขาร้องขอก็ไม่เป็นไร ... ก็แค่ต่างคนต่างไป เขาจะเลือกใช้คนที่เหลืออยู่แม้คุณภาพจะไม่ดีเท่า แต่ที่สุดเเล้ว ฟาน กัล เชื่อเสมอว่าคุณภาพที่แท้จริงนั้นสามารถสร้างได้ และฟุตบอลของเขาคุณภาพหมายถึง "ความฟิต" และ "ความเข้าใจเกม" ซึ่งนี่เป็นเรื่องในสนามล้วน ๆ
1
The Last Dance ของ ฟาน กัล
ฟาน กัล กลับมาทำงานรอบนี้ด้วยความแข็งกร้าวกว่าครั้งไหน ๆ เหตุผลเพราะมันคือการคุมทีมครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขาจริง ๆ ในช่วงที่เขามารับงานครั้งนี้ใหม่ ๆ เขาได้ปิดบังความจริงเอาไว้ตลอดเพื่อให้ทุกคนในทีมโฟกัสกับเรื่องในสนาม ทั้งที่ความจริงเเล้วเขากำลังเผชิญกับโรคมะเร็งอัณฑะ เขาฝืนรักษาไปพร้อม ๆ กับดูแลฉากหน้าด้วยความเข้มงวด จนกระทั่งสุดท้ายเนเธอร์แลนด์ก็ผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2022 จากนั้นเขาจึงค่อย ๆ เผยความจริงให้กับทุก ๆ คนได้รู้
1
"ระหว่างที่คุมทีมชาติผมต้องออกจากที่พักกลางดึกเพื่อไปโรงพยาบาลโดยไม่มีผู้เล่นคนใดรู้จนถึงวันนี้และคิดว่าผมแข็งแรงดี ผมคิดว่าคุณคงไม่บอกเรื่องแบบนี้แก่เพื่อนร่วมงาน เพราะมันอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจและความเด็ดขาดของพวกเขา ดังนั้นผมจึงคิดว่าพวกเขาไม่ควรรู้" ฟาน กัล กล่าว
หลังจากเข้าโหมดดราม่าได้ไม่กี่วัน ฟาน กัล ก็กลับเข้าสู่โหมดบริหารความเข้มในสนามต่อไป ฟาน กัล เผยว่าเขามีเวลาเตรียมทีมก่อนไปฟุตบอลโลกแค่ 1 ปีนิด ๆ ดังนั้นเขาจะต้องทำทุกอย่างให้เร็วที่สุด ประการเเรกคือการเลือกแทคติกประจำที่นักเตะดัตช์ทุกคนคุ้นเคยมากที่สุดนั่นคือ 4-3-3 ในช่วงแรก
จนกระทั่งเมื่อทุกคนสามารถเข้าใจแผน 4-3-3 ได้แล้ว เขาจึงค่อย ๆ เปลี่ยนมาลองแทคติกใหม่ทั้งในระบบ 3-4-3 หรือ 5-3-2 ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีคล้าย ๆ กับตอนที่เขาพาทีมไปฟุตบอลโลกปี 2014 นั่นคือในรอบคัดเลือกที่มีความเข้มข้นไม่มากนักเขาจะเล่นหลัง 4 ที่เปิดเกมบุกได้ดีกว่า แต่เมื่อเกมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาถึงเขาจะใช้ระบบหลัง 3 เพื่อเน้นความแน่นอน และใช้ความฟิตของนักเตะที่สามารถวิ่งขึ้นลงได้ตลอดทั้งเกมเข้าสู้
ฟาน กัล ยืนยันว่าความฟิตคือความสำคัญอันดับ 1 และความเข้าใจในเเทคติกจะตามเป็นอันดับ 2 สำหรับการตัดสินใจเลือกใครสักคนลงสนาม เขาอธิบายแทคติกของเขาสั้น ๆ ว่าทุกคนต้องยืดหยุ่นและมีสมาธิอยู่กับเกมตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่นในตำแหน่งฟูลแบ็กอย่าง ไทเรลล์ มาลาเซีย และ แดนเซล ดุมฟรีส์ นั้นต้องทำงานสัมพันธ์กันตลอด เมื่อ 1 คนบุกหนึ่งคนต้องถอยมาช่วยเกมรับ นั่นคือสิ่งที่เขาเชื่อว่าจะทำให้ทีมเกิดสมดุลที่แท้จริง
1
ขณะที่ในเกมรุก ฟาน กัล เลือกใช้นักเตะหนุ่มอย่างครบครัน ประกอบไปด้วย โคดี กักโป (23 ปี), สตีเว่น เบิร์กไวจ์น (24 ปี) และ เมมฟิส เดปาย (28 ปี) เป็นตัวหลัก วิธีเล่นเกมรุกของพวกเขาคือการต่อบอลเข้าไปยิงประตู ไม่ใช่การเล่นฉาบฉวยแบบไดเร็กต์ฟุตบอลแต่เป็นการใช้ความเข้าใจกันและกันหาช่องเข้าไปเล่นในกรอบเขตโทษให้ได้ วิธีการนี้เขาเคยพยายามใช้มาตั้งแต่สมัยคุมทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ในช่วงปี 2015-16 แล้ว
แต่อย่างที่บอกนักเตะดัตช์ชุดนี้สู้ถวายหัวเพื่อเขา พากเขาจับใครไปเล่นตรงไหนคนนั้นก็เต็มใจที่จะทำตาม เขาสั่งให้เล่นแบบไหนทุกคนก็เชื่อ นั่นเป็นเหตุให้เกมรุกของเนเธอร์แลนด์ยุค ฟาน กัล นั้นไหลลื่นสุดขีด ณ ตอนนี้เขาคุมทีมไปแค่ 15 เกม แต่ทีมก็ยิงประตูไปได้ถึง 41 ลูก และยังไม่เคยแพ้ใครแม้แต่เกมเดียว ... มันคือการยืนยันว่าปรัชญาฟุตบอลของเขาที่เคยถูกล้อเลียนในอดีตสามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพได้จริงหากทุกคนมีความเข้าใจในเกมและมีความฟิตมากพอ
1
แม้ที่สุดเเล้ว ฟาน กัล จะได้ทีมชุดที่ดีที่สุดมาตั้งแต่ช่วงรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก แต่สิ่งที่เขาย้ำกับนักเตะทุกคนตลอดคือทีมชุดนี้ไม่มีการการันตีสำหรับ 23 คนที่จะได้ไปเล่นในรอบสุดท้าย เขาย้ำว่า "การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ" และเขาจะตัดสินใจเลือกนักเตะที่ฟิตที่สุดไปกาตาร์
ส่วนใครที่ไม่ได้เป็นตัวหลักในสโมสรก็ต้องหาทางพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีเกมมากขึ้น เพราะทีมของเขาจะเลือกแต่คนที่พร้อมที่สุดเท่านั้น ตัวอย่างเช่นเกมล่าสุดในยูฟ่าเนชันส์ลีก เขาเลือกใช้บริหาร เรมโก้ พาสเฟียร์ นายทวารวัน 38 ปีจากอาหยักซ์ ติดทีมชาติเป็นครั้งแรกด้วยเหตุผลของความสม่ำเสมอในการลงเล่น เพราะพาสเฟียร์ยึดตัวหลักในสโมสรได้ตั้งแต่ครึ่งซีซั่นหลังของฤดูกาล 2021-22 มาจนถึงเวลานี้
3
“ทีมชุดนี้ของเราจะไม่ใช่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายให้กับนักเตะคนไหนแน่นอน หากพวกเขาอยากจะไปฟุตบอลโลกพวกเขาต้องแสดงให้ผมเห็นว่าพวกเขาฟิตพอที่จะทำให้ผมตัดสินใจเลือกพวกเขา" ฟาน กัล กล่าวผ่านสื่อโดยพาดพิงถึง 2 นักเตะสำคัญของทีมอย่าง แฟรงกี้ เดอ ยอง และ เมมฟิส เดปาย ที่เป็นตัวสำรองที่บาร์เซโลน่า ต้นสังกัดของพวกเขา
1
ฟาน กัล ย้ำเรื่องนี้กับทุกคนมาตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา เขาบอก ยูเลียน ทิมเบอร์ส กองหลังจากอาหยักซ์ ให้คิดดี ๆ ก่อนจะย้ายไปแมนฯ ยูไนเต็ด เพราะฟุตบอลโลก 2022 รอเขาอยู่ เขาบอกให้ สตีเว่น เบิร์กไวจ์น ที่หลุดเป็นตัวสำรองของสเปอร์สให้กลับมาเล่นในดัตช์ลีกกับอาหยักซ์ ... ทั้งหมดนี้คือความใส่ใจให้สมกับเป็นการโชว์ฝีมือครั้งสุดท้ายในเวทีฟุตอลโลกของเขาอย่างแท้จริง
ไม่มีใครกล้าการันตีว่าเนเธอร์แลนด์ชุดนี้จะไปได้ไกลถึงขั้นเป็นแชมป์โลกหรือไม่ แต่ช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาเนธอร์แลนด์ในยุคของ ฟาน กัล กลับมาเป็นทีมที่ทุกคนต้องระวังอีกครั้ง พวกเขาเป็นทีมที่มีนักเตะที่เข้าใจระบบการเล่นเป็นอย่างดี มีกุนซือที่สามารถทำให้ทั้งทีมเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสำหรับฟุตบอลที่เน้นกันนัดต่อนัดอย่าง ฟุตบอลโลก โดยเฉพาะ
ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนแปลงภายในช่วงเวลาสั้น ๆ และต้องยอมรับว่า หลุยส์ ฟาน กัล คือคนที่มีความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างที่สุด ... จะไปได้ไกลถึงไหนไม่มีใครรู้ แต่ ฟาน กัล ได้พายุคสมัยแห่งความหวังกลับมาสู่แฟนบอลชาวดัตช์อีกครั้ง
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา