29 ก.ย. 2022 เวลา 11:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมคนไทย ต้องไปเก็บเบอร์รี ไกลถึงสวีเดน
ในช่วงหน้าร้อนของสวีเดน พุ่มเบอร์รีหลากหลายพันธ์ุ กำลังพากันออกผลหลากสีสัน
ซึ่งเป็นที่ต้องการ ของบริษัทผลิตและส่งออกเบอร์รีในสวีเดน เพราะทั้งสามารถนำไปแช่แข็งและส่งออก
หรือนำไปบดเป็นผง ก่อนนำไปผสมกับอาหารเสริม
ซึ่งลูกเบอร์รีเหล่านี้ จะขึ้นอยู่บนภูเขาสูง จึงต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเท่านั้น
ทว่าแรงงานเหล่านั้น กลับไม่ใช่สายเลือดชาวสวีเดนที่ไหน แต่เป็นแรงงานชาวไทย
ที่ต้องจากบ้านมาไกลกว่า 8,000 กิโลเมตร
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าเพราะอะไร คนไทยถึงจากบ้านมาเป็นแรงงาน ไกลขนาดนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ตั้งแต่ช่วงปี 1940 ประเทศสวีเดนนั้น มีหลักการอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า Allemansrätten
หรือสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะอย่างเสรี ซึ่งอนุญาตให้ผู้ที่อยู่ในสวีเดน สามารถเดินทางท่องไปในป่า
เพื่อเก็บพืช ผัก และผลไม้ อย่างลูกเบอร์รี ที่ขึ้นอยู่ในป่า มาใช้ประโยชน์ได้ ตามที่ต้องการ
โดยหลักการนี้ก็สอดคล้อง กับสภาพสังคมของสวีเดนในตอนนั้น
ที่เป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่พอ ๆ กับไทย แต่กลับมีจำนวนประชากรแค่ 6 ล้านกว่าคน
ส่งผลให้มีทรัพยากรธรรมชาติ เหลือเฟือให้ทุกคนเก็บไปใช้
ซึ่งลูกเบอร์รี ที่ชาวสวีเดนได้เก็บมานั้น นอกจากจะนำมาแปรรูปเป็นแยม
เพื่อใช้กินกันภายในครอบครัวของตัวเองแล้ว
พวกเขายังสามารถ นำไปขายให้กับโรงงานแปรรูปเบอร์รี ที่อยู่ใกล้บ้านได้อีกด้วย
จนกระทั่งช่วงปี 1980 ที่หลายประเทศทั่วโลก ต่างพากันเปิดเสรีทางการค้า
อุตสาหกรรมแปรรูปเบอร์รีของสวีเดน ก็เริ่มกลายเป็นการผลิตเพื่อส่งออก
แทนการผลิตเพื่อขายให้แก่ตลาดภายในประเทศ เหมือนแต่ก่อน
การผลิตเพื่อส่งออก ทำให้เกิดความต้องการเบอร์รีมากขึ้น
แต่เศรษฐกิจของสวีเดน ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปี 1970 ถึงปี 1980
ก็ได้ทำให้ประชาชนชาวสวีเดน มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมาก
และไม่ต้องการ เป็นแรงงานเก็บเบอร์รี ที่ลำบาก
1
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ภาคการผลิต ขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก
ส่งผลให้ในตอนแรก แรงงานหลักที่เข้ามาทำงานเก็บเบอร์รี ก็คือแรงงานจากประเทศในยุโรป
ที่มีรายได้ต่ำกว่า อย่างโปแลนด์ และตามมาด้วยแรงงานจากยุโรปตะวันออก
และอดีตประเทศสหภาพโซเวียต ในช่วงปี 1990
เวลาได้ล่วงเลยมาถึงช่วงปี 2004 ถึงปี 2007 สหภาพยุโรปรับสมาชิกเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งหลายประเทศ ที่เคยเป็นแหล่งแรงงานหลักในการเก็บเบอร์รี อย่างโปแลนด์, เอสโตเนีย,
ลัตเวีย, ลิทัวเนีย และบัลแกเรีย ก็ได้เข้าร่วมสหภาพยุโรปด้วย
การที่ประเทศเหล่านี้ เข้าร่วมสหภาพยุโรป ทำให้แรงงานในประเทศเหล่านั้น
หลั่งไหลไปยังประเทศใหญ่ ๆ ของยุโรป ที่มีแหล่งงานจำนวนมาก และให้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า
ส่งผลให้อุตสาหกรรมเบอร์รีของสวีเดน กลับมาขาดแคลนแรงงานอีกครั้ง
ในตอนนี้เองที่แรงงานชาวไทย ได้เริ่มกลายมาเป็นกำลังสำคัญ ของอุตสาหกรรมเบอร์รีในสวีเดน เมื่อรัฐบาลสวีเดน ได้เปิดให้การเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น ในปี 2004
เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
1
ซึ่งอันที่จริงแล้ว คนไทยได้มีการเดินทาง เข้ามาทำงานเก็บเบอร์รีในสวีเดนอยู่บ้างแล้ว
ตั้งแต่ช่วงปี 1984 ผ่านการชักชวนของญาติพี่น้อง โดยผู้หญิงไทย ที่มีสามีเป็นชาวสวีเดน
หรือไม่ผู้หญิงไทยเหล่านั้น ก็จะตั้งตัวเป็นนายหน้า ในการพาคนไทยมาเก็บเบอร์รี
แต่มาตรการเปิดเสรีแรงงานดังกล่าวนั้น ได้ทำให้การเดินทางมาเก็บเบอร์รีที่สวีเดน
เป็นไปอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น และเริ่มมีบริษัทจัดหางาน
เข้ามาเป็นตัวกลาง ในการพาคนเข้ามาทำงาน ที่สวีเดนแทน
ส่งผลให้แรงงานไทย เริ่มหลั่งไหลเข้ามาเป็นคนงานเก็บเบอร์รีมากขึ้น
จากนั้นในปี 2009 รัฐบาลสวีเดน ก็ได้ออกกฎระเบียบ เพื่อดูแลสภาพการทำงาน
ของแรงงานข้ามชาติชาวไทย พร้อมกับให้มีการเซ็นสัญญาทำงาน และยังมีการกำหนดเงินรายได้ขั้นต่ำ
เผื่อในกรณีที่ปีนั้น เบอร์รีออกผลไม่ดีอีกด้วย เนื่องจากแต่ก่อน คนเก็บเบอร์รีจะได้เงินมากหรือน้อย
ขึ้นอยู่กับปริมาณเบอร์รีที่เก็บได้เท่านั้น
โดยแรงงานชาวไทยนั้น จะเดินทางไปเก็บเบอร์รีในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน
ซึ่งระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนนี้ แรงงานจะมีรายได้ต่อคน มากถึงประมาณ 150,000-180,000 บาท เลยทีเดียว
ด้วยรายได้ที่ค่อนข้างดีมาก และมีมาตรการ ควบคุมสภาพการทำงาน
ก็ทำให้มีแรงงานชาวไทย เดินทางไปทำงานที่ประเทศสวีเดนเป็นจำนวนมาก
และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากข้อมูลของกรมการจัดหางาน พบว่า
ปี 2563 คนไทยเดินทางไปทำงานในสวีเดน 3,176 คน
ปี 2564 คนไทยเดินทางไปทำงานในสวีเดน 5,288 คน
ปี 2565 คนไทยเดินทางไปทำงานในสวีเดน 6,787 คน
และยังมีอีกหลายพันคน อยู่ในประเทศใกล้เคียง
ที่ก็มีการเก็บเบอร์รีเช่นกัน อย่างเช่น ฟินแลนด์
ซึ่งแรงงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรในภาคอีสาน ที่เสร็จจากการทำนา
จึงได้เดินทางไปเก็บเบอร์รี เพื่อหารายได้เพิ่ม เพราะรายได้จากการทำนา
ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็น เช่น ลงทุนในการเพาะปลูกข้าว และจ่ายค่าเทอมของลูก
ซึ่งจากเรื่องนี้เอง แม้ในด้านหนึ่ง การที่มีคนไทยไปทำงานที่ต่างประเทศมาก ๆ
จะมีด้านดีคือ มีเงินหลายร้อยล้านบาท โอนกลับเข้ามาที่ประเทศไทย
แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงปัญหา ที่ยังคงอยู่มานาน ในสังคมไทย
คือรายได้ที่ไม่พอดีกับรายจ่าย ของเกษตรกร
จนทำให้เกษตรกรเหล่านั้น ต้องเดินทางไปเก็บเบอร์รีในต่างแดน เพื่อหารายได้เสริม
จึงเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามเช่นกันว่า จะมีทางไหนบ้าง ที่เราจะสามารถพัฒนา
คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้นได้ โดยที่พวกเขา ไม่จำเป็นต้องจากบ้าน
ไปทำงานไกล ๆ แบบนี้..
โฆษณา