5 ต.ค. 2022 เวลา 00:02 • หนังสือ
หนังสือหลายเล่มที่แนะนำการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มักบอกให้เราอยู่ห่างจากคนที่คิดลบ มีทัศนคติไม่ดี และบ่นด่าทุกสิ่งรอบตัวไปหมด หากทำได้ชีวิตจะดีขึ้นมาก
สมัยเด็ก ๆ ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจนักว่ามันจะช่วยอะไรได้ แต่พอเข้าสู่วัยทำงานก็เข้าใจทันทีว่าเวลาอยู่ใกล้คนที่บ่นด่า อารมณ์เสียกับทุกเรื่องบนโลก มันเหนื่อยมากจริง ๆ ครับ นอกจากเราจะต้องรับมือกับงานแล้ว ยังต้องรับมือกับอารมณ์ที่ท่วมท้นอีก
เมื่อย้อนมองตัวเองดูดี ๆ เชื่อว่าหลายคนก็เคยคิดลบมากจนชีวิตเป็นทุกข์เช่นกัน แต่พอจะลองคิดบวกดู ก็ไม่รู้ว่าการคิดบวกหน้าตาเป็นอย่างไร? ผมว่าหนังสือ “วิทยาศาสตร์ของการใช้ชีวิต” อาจให้คำแนะนำเราได้ครับ
ในหนังสือตั้งคำถามในทำนองว่า คุณเคยสังเกตไหมครับว่าเวลาเดินทางไปที่ไหนก็ตาม เรามักรู้สึกว่าขาไปใช้เวลานานมาก ในขณะที่ขากลับดันรู้สึกใช้เวลาไม่นาน
Dr. Stuart Farrimond ผู้เขียนอธิบายว่าสมองของเราถือเป็นนาฬิกาจับเวลาที่ไม่น่าเชื่อถือครับ เพราะมันจะปะติดปะต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเพื่อคาดเดาเวลาที่ผ่านไป เช่น ถนนหนทางใหม่ ๆ ร้านรวงข้างทาง จำนวนรถบนถนน เสียงรอบตัว เป็นต้น เวลาเราเดินทางไปที่ใหม่ ๆ สมองเราจึงโฟกัสข้อมูลใหม่เต็มไปหมด และตีความว่า “อ๋อ นี่ใช้เวลาเดินทางนานมากเลยนะ เจอสิ่งใหม่ ๆ เต็มไปหมดเลย”
ในทางกลับกัน การเดินทางกลับในเส้นทางเดิม เราก็จะพบกับบรรยากาศเดิม ๆ ที่เคยผ่านมาแล้ว สมองจึง “ไม่ได้โฟกัส” สิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป และตัดสิ่งเหล่านั้นออกจากการคาดเดาเวลา เราจึงมักรู้สึกว่าการเดินทางกลับมันเร็วกว่าขาไปนั่นเอง
เหตุนี้เองเวลาเราออกจากบ้านสายกว่าเดิม เราจึงมักเครียดกับรถติดมากขึ้น หงุดหงิดกับคนแน่นรถไฟฟ้ามากขึ้น เพราะสมองไปโฟกัสกับสิ่งที่มันแย่ ๆ มากขึ้นจนรู้สึกว่าเราใช้เวลานานกว่าเดิมนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ด้านดี ๆ ของการโฟกัสก็มีนะครับ Farrimond เสริมไว้ในบทอื่นด้วยว่า การเพิ่มพุ่มไม้เล็ก ๆ กำแพงหลากสีสันตามทางเท้า ทำให้คนมีแนวโน้มจะเดินช้าลง วิตกกังวลน้อยลง แถมยังมีโอกาสช่วยคนแปลกหน้าที่กำลังเดือดร้อนมากขึ้นด้วย!
คำแนะนำของ Farrimond ทำให้เราได้ข้อคิดที่เป็นกุญแจสำคัญของชีวิตที่มีความสุขเลยครับ นั่นก็คือ “แค่โฟกัสสิ่งดี ๆ ก็ทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้แล้ว”
เห็นได้ชัดเลยว่าเวลาเราเลือกโฟกัสสิ่งใด มันก็จะส่งผลต่อสมองเราจริง ๆ ดังนั้นหากเราเลือกโฟกัสสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น ก็น่าจะทำให้มุมมองและอารมณ์ที่เรามีต่อสถานการณ์ต่าง ๆ มันดีขึ้นตามไปด้วย
สมมุติว่าคุณไปเที่ยวทะเลกับแฟน คุณวาดภาพไว้สวยงามว่าต่างคนต่างจะได้ชมวิวทะเลสวย ๆ ถ่ายรูปชุดว่ายน้ำสัก 100 รูป แต่บังเอิญวันที่ไปดันฝนตก
หากคุณเป็นคนคิดลบ คุณอาจจะทำให้ทริปนั้นพังไปเลยด้วยการบ่นด่า โทษโชคชะตา โมโห และพาลทำให้คู่ของคุณเศร้าไปด้วย
แต่ถ้าคุณเป็นคนคิดบวก คุณอาจจะลองหาสิ่งดี ๆ ที่ยังเหลืออยู่รอบตัวได้ เช่น เปลี่ยนแผนมานั่งจิบเบียร์เย็น ๆ ในร้านริมหาดแทน สั่งอาหารทะเลอร่อย ๆ กินให้หายอยาก หัวเราะและร้องเพลงไปกับท่วงทำนองของบรรยากาศที่เรามี
แน่นอนครับ ผมไม่ได้พยายามจะชวนคุณโลกสวยว่าฝนตกตอนไปทะเลมันดี จริง ๆ แล้วมันก็แย่มาก แต่เราทำอะไรกับมันไม่ได้นิครับ เราควบคุมสภาพอากาศไม่ได้ สิ่งที่เราควบคุมได้คือมุมมองและความคิดที่เรารับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ครับ
แม้การคิดบวกจะไม่ได้ทำให้โลกดีขึ้น ไม่ได้ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อยถ้าคุณอารมณ์ดีขึ้น บรรยากาศรอบตัวคุณก็น่าจะดีขึ้นด้วยจริงไหมครับ (หรือจะคิดลบให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วมันแย่ก็เดิม ก็ไม่บังคับกันนะครับ)
#ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น #TheScienceOfLiving #วิทยาศาสตร์ของการใช้ชีวิต
แค่โฟกัสสิ่งดี ๆ ก็ทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้แล้ว ข้อคิดจากหนังสือ วิทยาศาสตร์ของการใช้ชีวิต
โฆษณา