1 ต.ค. 2022 เวลา 04:29 • ประวัติศาสตร์
๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต
#พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องทำสัญญา ทางพระราชไมตรีตามเงื่อนไขใหม่ที่ชาติมหาอำนาจเป็นฝ่ายกำหนด
ในพุทธศักราช ๒๓๙๘ ทรงทำสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์กับชาติอังกฤษเป็นชาติแรก รู้จักกันในนาม “#สนธิสัญญาเบาริง” หลังจากนั้นได้ทรงดำเนินนโยบายเปิดสัมพั นธภาพกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา โดยใช้สนธิสัญญาเบาริงเป็นต้นแบบ
การทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับชาติต่างๆ เหล่านี้ จำต้องเสียเปรียบทางการค้าและสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่คนในบังคับของชาตินั้นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อแลกกับความอยู่รอดของชาติเป็นสำคัญ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงชาติให้ทันสมัย โดยรับศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมตะวันตกมาปรับปรุงสังคมวัฒนธรรมตามที่เหมาะสมที่ควร เช่น
การศึกษาภาษาอังกฤษ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ภรรยามิชชันนารีเข้ามาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษแก่กุลสตรีชาววัง เมื่อพระราชโอรส พระราชธิดา ทรงเจริญพ ระชันษา ทรงจ้างนางแอนนา เลียวโนเวนซ์ มาเป็นพระอาจารย์ถวายการสอนภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และวรรณคดี และยังทรงสนับสนุนให้มิชชันนารีอเมริกันตั้งโรงเรียนสอนแก่ราษฎรชาวบ้านด้วย
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกทหารอย่างยุโรป
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้ปรับปรุงการทหารโดยทรงเลือกทหารนอกราชการกองทัพเรือ ชื่อ ร้อยเอกอิมเปย์ เข้ารับราชการ “ทหารเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง” หรือ “ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป” เป็นทหารประจำพระองค์ เช่นเดียวกับกองทหารเกณฑ์รักษา พระองค์ในประเทศยุโรป ภายหลังมีกองทหารที่ฝึกหัดและจัดแบบตะวันตกเพิ่มอีกสองกองคือ กองทหารหน้า และกองปืนใหญ่อาสาญวน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนอย่างใหม่
ถนนในพระนครแต่ก่อนมา เมื่อถึงฤดูฝนมักเป็นโคลนสัญจรไปมาไม่สะดวกประจวบกับ “...พวกกงสุลมีหนังสือถวายว่าเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพ มหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนื่องๆ ได้ทรงทราบแล้ว ทรงพระราชดำริว่า พวกยุโรปเข้ามาิอยู่ในกรุงมากขึ้นทุกๆ ปี ด้วยประเทศบ้านเมืองเขามีถนนหนทางก็เรียบรื่นสะอาดไปทุกบ้านทุกเมือง บ้านเมืองของเรามีแต่รกเรี้ยว หนทางก็เป็นตรอกซอกเล็กน้อย หนทางใหญ่ก็เปรอะเปื้อนไม่เป็นที่เจริญตา...”
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างถนนอย่างใหม่ขึ้น ๓ สาย ได้แก่ ถนนเจริญกรุง ถนนหัวลำโพง และถนนสีลม ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้่่าฯให้สร้างถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนครเพิ่มขึ้น ทำให้ราษฎรสัญจรไปมาสะดวกขึ้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดการเสด็จประพาสหัวเมืองเพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร เป็นพระราชจริยวัตรที่กลายมาเป็นแบบแผนสืบเนื่องต่อมาจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โฆษณา