3 ต.ค. 2022 เวลา 03:21 • ข่าว
แทรมน้อยแห่งขอนแก่น รถไฟรางเบาฝีมือคนไทย
การจับมือกันระหว่างเอกชน กับสถาบันการศึกษาของเมือง
ความพยายามในท้องถิ่นเพื่อระบบขนส่งมวลชนที่ดีขึ้น
1
หนึ่งในตัวชี้วัดการพัฒนาของเมืองก็คือการพัฒนานวัตกรรมที่ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวเมืองดีขึ้น ทันสมัยขึ้น และสะดวกสบายมากขึ้น
โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองที่เป็นตัวเลือกการเดินทางของผู้คนที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพายานพาหนะส่วนบุคคล หรือแม้แต่ผู้เดินทางมาเยือนจากต่างบ้านต่างเมืองที่จะได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางไปไหนมาไหน
แน่นอนว่าในเมืองใหญ่ระดับภูมิภาคของประเทศไทยนั้นค่อนข้างมีปัญเรื่องการพัฒนาการคมนาคมขนส่งสาธารณะภายในเมืองที่มีความเป็นสากล เนื่องจากปัจจัยเรื่องความนิยมการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลมีมากกว่า ทำให้การที่รถเมล์สักสายจะสามารถอยู่รอดได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และหลายเมืองที่พยายามมีรถเมล์วิ่งให้บริการภายในตัวเมืองต่างก็ต้องล้มหายตายจากไปเป็นทิวแถว เพราะคนไม่ใช้บริการจนถึงจุดคุ้มทุน
แต่สำหรับขอนแก่น หนึ่งในจังหวัดระดับบิ๊ก 4 ของภาคอีสาน และเป็นจังหวัดที่มีความเจริญเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศกลับมีสภาพสังคมภายในที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ เพราะการวางรากฐานของเมืองให้เติบโตมาเป็นเมืองที่พัฒนาไปสู่อนาคตอย่างมีแบบแผน โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองที่ยังสามารถ “อยู่ได้” และได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการภายในจังหวัด
อีกทั้งความพยายามที่จะพัฒนาระบบขนส่งทางรางภายในเมืองอย่างโครงการรถไฟรางเบา LRT (Light Rail Transport) ขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งภาคนักธุรกิจในจังหวัดขอนแก่นได้รวมตัวทำงานกันในชื่อ “กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด” จับมือกับสถาบันการศึกษาในขอนแก่น คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น (มทร.อีสาน) และภาคราชการส่วนท้องถิ่น วางแผนพัฒนาเมืองร่วมกัน โดยไม่ต้องมัวแต่รองบประมาณหลักจากรัฐบาลส่วนกลาง
หนึ่งในภาคเอกชนที่มีส่วนสำคัญในการผลิต “แทรมขอนแก่น” จนประสบความสำเร็จครั้งนี้คือ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทั้งทุนวิจัย ออกแบบ ผลิตชิ้นส่วน ประกอบตัวถัง-โบกี้ ประกอบขบวนรถไฟฟ้ารางเบา ทดสอบการทำงาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การผลิตรถไฟฟ้ารางเบาเพื่อเชิงพาณิชย์ในอนาคต
1
โดยโรงงาน ช ทวี ตั้งอยู่ในขอนแก่น จดทะเบียนบริษัทมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2511 เป็นบริษัทเก่าแก่ของจังหวัด มีเทคโนโลยีและประสบการณ์ผลิตรถพ่วง รถบัส Catering car ในสนามบิน รวมทั้งเคยทำงานให้กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความสามารถในการผลิตยานยนต์ขนาดใหญ่ที่ส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและทั่วโลก
ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น หัวหน้าโครงการนี้กล่าวว่า แทรมขอนแก่นตัวต้นแบบที่ทางทีมได้ออกแบบและประกอบขึ้นนั้นมีขนาด 2 ตู้โดยสารเชื่อมต่อกัน ความยาว 22 เมตร สูงจากพื้นถึงหลังคา 3.5 เมตร
1
ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจุผู้โดยสารได้ประมาณ 80 คน ซึ่งมีต้นแบบมาจากแทรมรุ่น Hiroden-907 ที่ทางเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่นมอบให้เพื่อมาทำการศึกษาเมื่อปี 2563 ก่อนที่ทาง มทร.อีสาน จะทำการพัฒนาแทรมของตัวเองขึ้นมาในเวลาไม่ถึง 2 ปี
ส่วนประกอบทุกชิ้นอ้างอิงตามมาตรฐานต่างประเทศ ซึ่งแทรมขอนแก่นนี้จะมีจุดเด่นอยู่ที่ระบบมอเตอร์ลากจูง (Traction Motor) ที่สร้างมอเตอร์รุ่นใหม่ขึ้นมา ด้วยการใช้มอเตอร์ชนิดซิงโครนัสแม่เหล็กถาวร (Permanent Magnet Synchronous Traction Motor : PMSM Traction Motor) ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ และแตกต่างจากเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ข้อดีของมอเตอร์ไฟฟ้ารุ่นนี้ที่นอกจากมีประสิทธิภาพสูง ทำงานเบาแล้ว ยังมีการคืนพลังงาน (Re-Generative Energy) ไปยังแหล่งจ่ายได้ดีเมื่อรถไฟมีการเบรก ส่งผลให้ทำให้ระบบเกิดการประหยัดพลังงาน รถไฟขบวนนั้น ๆ จึงมีค่าใช้จ่ายไฟถูกลง หรือกล่าวได้ว่าเสียงไม่ดัง ไม่มีมลพิษทางอากาศ และประหยัดพลังงาน นั่นเอง
ขณะที่ชิ้นส่วนระบบรถไฟฟ้ารางเบา เช่น โบกี้ ตัวถัง มอเตอร์ลากจูง อินเวอร์เตอร์ขับเคลื่อน หรือ แพนโตกราฟ มีการผลิตและทดสอบคุณภาพไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยภายใน มทร.อีสาน ได้สร้างทางวิ่งทดสอบระยะทาง 400 เมตร ซึ่งผลการทดสอบเป็นที่น่าพึงพอใจ
ส่วนในระยะต่อไปจะเป็นการทดสอบบนพื้นผิวการจราจรจริงในโครงการรถรางรอบบึงแก่นนคร เป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร เพื่อเป็นการทดสอบการเดินรถร่วมกับยานพาหนะอื่นๆ บนท้องถนน ก่อนที่จะพัฒนาต่อยอดนำไปใช้ในโครงการรถไฟฟ้ารางเบา LRT ขอนแก่น ระยะทางความยาวทั้งหมด 26 กิโลเมตร เส้นทางจากตำบลสำราญ-ตำบลท่าพระ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น และจะใช้วิ่งบนเกาะกลางถนนและไหล่ถนนมิตรภาพ ประกอบด้วย 20 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับดิน 12 สถานี สถานียกระดับ 8 สถานี และศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี
ดร.ไพวรรณ กล่าวว่าบุคลากรของทางราชมงคลอีสานได้มีโอกาสไปอบรมเชิงปฏิบัติการ และฝังตัวอยู่กับหน่วยงานของประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านรถไฟชั้นนำของโลก เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น และจีน ทำให้เห็นว่าวิศวกรคนไทยนั้นมีความรู้เยอะแต่ว่าไม่มีโอกาสได้ทำ จึงจำเป็นต้องบูรณาการความรู้ที่มหาวิทยาลัยมี โดยเติม R&D เติมองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับชิ้นส่วนของไฟฟ้ารางเบาเข้าไปในภาคเอกชนที่มีศักยภาพเรื่องการผลิตในอุตสาหกรรมนั้น ๆ อยู่แล้ว
เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะสร้างเทคโนโลยีระบบรางไม่ว่าจะเป็น โบกี้ ตัวถัง มอเตอร์ลากจูงและระบบขับเคลื่อน แพนโตกราฟ รวมทั้งระบบจ่ายไฟฟ้าในขบวนรถเป็นของไทยเอง ไม่พึ่งพาแต่การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศทั้งหมด
ระบบรถไฟฟ้ารางเบาที่ถูกพัฒนาขึ้นไม่ได้มีประโยชน์ต่อประชาชนที่เป็นผู้ใช้เพียงอย่างเดียว แต่ประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ ภาคอุตสาหกรรมที่เป็น Supply Chain และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมายที่จะตามมาทั้ง อุตสาหกรรมการผลิตขบวนรถ ระบบไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบการควบคุมสถานีรถไฟ หรือ อุปกรณ์จำหน่ายตั๋ว ซึ่งจะเป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางต่อไป
“ถ้าเราซื้อรถจากต่างประเทศ (Finish Goods) เฉพาะตัวรถ 90 ล้านบาท (1 ขบวน= 2 ตู้) ถ้าผลิตในไทย จะมีราคาขายที่ประมาณ 70 ล้านบาท ส่วนหนึ่งคือราคาลดลง อีกส่วนที่เป็นประโยชน์มากที่สุดคือ Supply Chain ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ในประเทศ ถ้าซื้อจากต่างประเทศ เราเอาเงินไปให้ได้รถมา แต่อุตสาหกรรมไม่เกิด ถ้าเป็นการผลิตในประเทศ ต้องมีการซื้ออะไหล่ภายในประเทศ เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบ Supply Chain การผลิตรถไฟเกิดขึ้นในประเทศทันที ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมายและจะเป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดจากโครงการวิจัย”
ต้นแบบของรถไฟฟ้ารางเบาที่จะเกิดจากการวิจัยนี้ นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของส่วนหนึ่งของ ขอนแก่น Smart City แล้ว รถไฟขบวนนี้ยังจะเป็นบันไดที่สามารถพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยในอนาคตได้อีกด้วย
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Line : @reporterjourney
1
โฆษณา