5 ต.ค. 2022 เวลา 03:39 • ปรัชญา
กรมหลวงชุมพรใช้มะพร้าวขี่แทนเรือ
เรื่องนี้เป็นวิชาหนึ่งซึ่งกรมหลวงชุมพรฯได้เรียนจากหลวงพ่อศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่าเมื่อเรียนเสร็จแล้วจึงได้ทดลองทำที่หน้าวัดปากคลองมะขามเฒ่า โดยเหตุที่กระทำในตอนกลางวันจึงมีผู้ยืนดูทั้งสองฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งผู้เล่าซึ่งกำลังบวชเป็นพระอยู่
เรื่องนี้ผู้เล่าคือ นายเนตร แพ่งกลิ่น อายุ ๘๕ ปี (เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕) บ้านใต้วัดพิกุลงาม ตำบลธรรมามูล อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ผู้เล่าบวชอยู่กับหลวงพ่อศุขที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ๗ พรรษา ทำหน้าที่ "เลขานุการ" ของหลวงพ่อศุขสืบแทน
จากพระพี่ชายที่สึกไป เคยร่วมไปที่วังกรมหลวงชุมพรฯ กับหลวงพ่อศุขรวม ๖ ครั้ง ผู้เล่าๆให้ฟังเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ และได้สอบถามเพิ่มเติมอีกเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้ความดังต่อไปนี้
วันหนึ่งเวลาเช้า พระเนตรออกบิณฑบาตไปทางทิศใต้ของวัดปากคลองมะขามเฒ่า มีพระบิณฑบาตทั้งหมด ๒๙ องค์ พระเนตรเป็นองค์นำในตอนขากลับจากบิณฑบาตเข้าวัดปากคลองมะขามเฒ่า เมื่อเดินผ่านมาถึงต้นโพธิ์หน้าวัด พบกรม
หลวงชุมพรฯ พร้อมทั้งฝ่ายในกำลังรอใส่บาตรอยู่ (ปรกติเมื่อกรมหลวงชุมพรฯ มาที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านจะใส่บาตรทุกวัน) เมื่อพระเนตรนำพระเดินผ่านมา ท่านพูดขึ้นว่า "นิมนต์ค่ะ" พระเนตรไม่ยอมหยุดรับเพราะกรมหลวงชุมพรฯ ไม่ถอดรองเท้า จึงนำพระเดินผ่านไป ท่านก็พูดขึ้นใหม่ว่า "นิมนต์ค่ะ" เป็นครั้งที่สอง พระเนตรหยุดไม่ยอมรับ แล้วเดินต่อไปจนเกือบจะถึงกุฏิอยู่แล้ว กรมหลวงชุมพรฯ ตามไปแล้วพูดขึ้นว่า "นิมนต์ค่ะ" เป็นครั้งที่ ๓พร้อมทั้งถอดรองเท้า พระเนตรจึง
ยอมให้กรมหลวงชุมพรฯ ใส่บาตรพระเนตรบอกว่า "พระสมัยก่อนเขาถือกันยังงั้น"
เมื่อฉันเช้าวันนั้น กรมหลวงชุมพรฯ ได้ขึ้นไปคุยกับหลวงพ่อศุข ถามหลวงพ่อศุขว่าพระเนตรเป็นใคร ในขณะฉันอาหารเช้าอยู่นั้น พระเนตรได้ยินกรมหลวงชุมพรฯ คุยกับหลวงพ่อศุขว่า กรมหลวงชุมพรฯสามารถไปกรุงเทพฯและกลับมาวัดปากคลองมะขามเฒ่าได้ภายในเวลาเพียง ๑ ชั่วโมง ๑๕ นาทีเท่านั้น เข้าใจว่าเช้าวันนั้นกรมหลวงชุมพรฯคงจะเรียนวิชากับหลวงพ่อศุขตอนบ่ายคงจะมาทดลองทำ
เวลาบ่าย ๓ โมงเย็นวันนั้นกรมหลวงชุมพรฯ หยิบเอาลูกมะพร้าวซึ่งผูกติดกันอยู่ ๒ ลูก ดึงออกเสียลูกหนึ่ง คงถือไว้เพียงลูกเดียว หลังจากบริกรรมอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็โยนลูกมะพร้าวลงน้ำ กรมหลวงชุมพรฯ ขึ้นเหยียบลูกมะพร้าวย่อตัวลงในท่านั่งคุกเข่า มะพร้าวลูกนั้นก็วิ่งไปข้างหน้าเหมือนเรือ เมื่อไปถึงฝั่งตรงข้ามแล้วพวกฝ่ายในจึงขึ้นเรือตามไป เมื่อตอนขากลับจากฝั่งตรงกันข้ามนั้นก่อนจะขึ้นที่วัดปากคลองมะขามเฒ่ากรมหลวงชุมพรฯท่านขี่มะพร้าวฉวัดเฉวียนอยู่ที่หน้าวัดหลายรอบ
มีประชาชนออกมาดูทั้งสองฝั่งแม่น้ำเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้เล่าเองด้วย
นายเนตรผู้นี่หลวงพ่อศุขได้สักสังวาลย์รอบอกให้พร้อมกับกรมหลวงชุมพรฯสักครั้งนั้นเพียง ๒ คนเท่านั้น นายเนตรเล่าว่า มักจะไปวังกรมหลวงชุมพรฯ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๒ ซึ่งจะมีสวดมนต์ใช้พระ ๗-๙ รูป แต่ถ้าเพ็ญเดือน ๑๒ ปีใดตรงกับวันเสาร์ท่านจะไม่ไป เพราะหลวงพ่อศุขท่านจะทำตะกรุดใต้น้ำ โดยจะเอาแผ่นตะกั่วหรือทองแดงใส่ลงในฝาบาตรถือลงไปในน้ำทั้งเทียนและเหล็กจานมีคนคอยเก็บตะกรุดที่จะลอยขึ้นมา ถ้าเทียนยังไม่ลอยขึ้น แสดงว่าหลวงพ่อศุขจะไปต่อ .
อาจเข้าถ้ำจระเข้หรือขึ้นทางหลังวัดด้านแม่น้ำท่าจีน
หลวงพ่อศุขเคยจะให้พระเนตรไปเป็นสมภารวัดท่านจั่น พระเนตรไม่ยอมเป็น บอกว่าถ้าให้เป็นจะสึก
พระเนตรสึกและแต่งงานเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เมื่อแต่งงานหลวงพ่อศุขปลุกเสกเข็มเย็บผ้าให้ ๓ เล่ม เป็นเข็มต้องสู้ขนาดค่อนข้างยาว เข็มเล่มหนึ่งสำหรับให้ภรรยาไว้ใช้เย็บเสื้อผ้าให้สามี อีกสองเล่มสำหรับภรรยาไว้ใช้เอง
ผู้บันทึก นายแพทย์สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย จากหนังสือประวัติพระครูวิมลคุณากร ( ศุข ) ขอบคุณข้อมูลจากคุณ Ba Daeng
โฆษณา