5 ต.ค. 2022 เวลา 04:32 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงินเฟ้อไทยชะลอตัว เดือนที่แล้วเหลือ 6.41%
กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกันยายน ชะลอตัวลงอยู่ที่ 6.41% จากราคาพลังงานที่ลดลง
แต่เงินเฟ้อก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากราคาที่ปรับเพิ่มในช่วงก่อนหน้าจากราคาพลังงานจนทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่ม
แต่ก็ยังมีประเด็นในเรื่องของ “น้ำท่วมขัง” ที่อาจทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหาย รวมถึงเศรษฐกิจฟื้นตัวจะยังทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง
ส่วนด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักราคาอาหารสดและพลังงานออก ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3.12%
จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 3.15%
สำหรับเงินเฟ้อไทยในเดือนที่ผ่านมา ขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนคือ
เงินเฟ้อเดือนกันยายน ปรับขึ้น 6.41%
เงินเฟ้อเดือนสิงหาคม ปรับขึ้น 7.86%
เงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม ปรับขึ้น 7.61%
ส่วนการขยายตัวแบบเดือนต่อเดือนคือ
เงินเฟ้อเดือนกันยายน ปรับขึ้น 0.22%
เงินเฟ้อเดือนสิงหาคม ปรับขึ้น 0.05%
เงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม ลดลง 0.16%
จะเห็นได้ว่าสำหรับตัวเลขเงินเฟ้อแบบเดือนต่อเดือน แม้จะมีการขยายตัวอยู่บ้าง
แต่ก็เป็นการปรับเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัวลง
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า ทิศทางเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอีก
จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าและการขนส่งถูกลงด้วย
แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากอุปสงค์ในประเทศที่กำลังฟื้นตัว ผลผลิตทางการเกษตรที่น้อยลงจากน้ำท่วมขังและเงินบาทอ่อนค่า ที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น อันจะทำให้เงินเฟ้อ ชะลอตัวไม่มากนัก
ซึ่งทางผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คุณรณรงค์ พูลพิพัฒน์
เคยออกมาเปิดเผยว่า ทาง สนค. ประเมินไว้ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ได้ทำจุดสูงสุดไปแล้ว เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และต่อจากนี้จะปรับตัวลดลงเรื่อย ๆ
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปีนี้ อยู่ที่ระหว่าง 5.5 - 6.5%
และทาง สนค. ประเมินไว้ว่า ภายในทั้งปีนี้ที่เหลือ อัตราเงินเฟ้อจะสูงไม่เกิน 6.5%
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เงินเฟ้อประเทศไทยผันผวนตามราคาพลังงานเป็นหลัก
และในวันนี้ OPEC กำลังจะมีการหารือเรื่องการลดกำลังการผลิตน้ำมันลง
โดยล่าสุด ตลาดได้คาดกันว่าจะลดกำลังการผลิตมากถึง 1 ถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เรื่องนี้ ก็น่าจะยังเป็นสิ่งที่กดดันต่อภาวะเงินเฟ้อสูงในประเทศไทย ต่อไป..
โฆษณา