6 ต.ค. 2022 เวลา 03:40 • ปรัชญา
ทองย้อย แสงสินชัย
3 วัน ·
ป.ธ.๙: คุณค่าเทียมกับคุณค่าแท้
“ป.ธ.๙” เป็นคำย่อมาจากคำเต็มว่า “เปรียญธรรมเก้าประโยค” เวลาอ่านต้องอ่านเป็นคำเต็ม
หลายท่าน-รวมทั้งชาววัด-มักจะอ่าน “ป.ธ.๙” ว่า ปอ-ทอ-เก้า
โปรดทราบทั่วกันว่าเป็นคำอ่านที่ผิด
“ป.ธ.๙” อ่านว่า “เปรียญ-ธรรม-เก้า-ประโยค”
เวลานี้ คำที่อ่านผิด เราก็พากันยอมรับว่าถูก อ้างว่า “อ่านตามความนิยม”
ข้ออ้างนี้ ถ้าให้ผมพูด และพูดอย่างไม่ต้องเกรงใจก็คือ-อ่านตามความมักง่าย
อย่างคำว่า “พระพุทธศักราช” คนเขียนเขาต้องการประหยัดเวลาและประหยัด
เนื้อที่ เขาจึงเขียนว่า “พ.ศ.”
ฝ่ายคนอ่านที่ไม่ศึกษาสังเกตสำเหนียก เห็นคำว่า “พ.ศ.” แทนที่จะอ่านว่า “พระพุทธศักราช” ก็อ่านตามความมักง่ายว่า พอ-สอ
แล้วก็มีคนมักง่ายอ่านตามกันไป จนเวลานี้ “พ.ศ.” อ่านว่า พอ-สอ กันทั้งบ้านทั้งเมือง แล้วก็พากันยอมรับว่าถูก สร้างความชอบธรรมด้วยข้ออ้างว่า “อ่านตามความนิยม”
อะไรที่มันผิด เราควรจะหยุดและถอยกลับมาหาจุดที่ถูกต้อง ไม่ใช้ดันทุรังเดินหน้าผิดต่อไปแล้วหาเหตุผลมารองรับให้ผิดกลายเป็นถูก
ขอย้ำว่า “ป.ธ.๙” ไม่ใช้ ปอ-ทอ-เก้า
ต้องอ่านว่า “เปรียญ-ธรรม-เก้า-ประโยค”
ก่อนหน้าที่จะย่อว่า “ป.ธ.๙” เคยย่อว่า “ป.๙” แต่ทางราชการสมัยก่อนไม่ได้ใช้คำย่อ แต่ใช้คำเต็มเรียกว่า “๙ ประโยค” (เปรียญชั้นอื่นก็ทำนองเดียวกัน เช่น ๖ ประโยค ๓ ประโยค)
“ป.ธ.๙” เป็นวุฒิการศึกษาทางพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๖๒ รองรับว่าเป็นวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี
ยังมีผู้เข้าใจผิดว่า “วุฒิ ป.ธ.๙ เทียบเท่าปริญญาตรี”
โปรดทราบว่า วุฒิ “ป.ธ.๙” ไม่ใช่ “เทียบเท่าปริญญาตรี” แต่ “เป็นปริญญาตรี” ด้วยตัวเอง
ทางราชการไทยรับรองวุฒิ “ป.ธ.๙” ว่าเป็นปริญญาตรีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ ตามพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๒๗
ก่อนหน้าที่ทางราชการไทยจะรับรองวุฒิ “ป.ธ.๙” ว่าเป็นปริญญาตรี สถาบันการศึกษาต่างประเทศ-เช่นอินเดียเป็นต้น (มีประเทศอะไรอีก ท่านผู้ใดทราบแน่นอน
กรุณาช่วยเพิ่มเติม)-ยอมรับว่า “วุฒิ ป.ธ.๙ เป็นปริญญาตรี” มานานแล้ว ประจักษ์พยานคือ ยอมให้ผู้จบ ป.ธ.๙ เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกมาแล้วเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หน่วยราชการบางหน่วยของไทย-เช่นกระทรวงกลาโหมเป็นต้น-ได้ยอมรับให้ผู้มีวุฒิ ป.ธ.๙ สอบเข้ารับราชการในตำแหน่งชั้นสัญญาบัตร คือชั้นของผู้จบปริญญาตรีขึ้นไปมาก่อนแล้ว ประจักษ์พยานคือ ผู้จบ ป.ธ.๙ สอบเข้ารับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตรตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” ใน ๓ เหล่าทัพเป็นจำนวนมาก และผู้ที่ใช้วุฒิ ป.ธ.๙ สอบเข้ารับราชการในหน่วยงานอื่นของทางราชการก็มี
มาแล้วก่อน พ.ศ.๒๕๒๗
วุฒิ ป.ธ.๙ เรียนเกี่ยวกับอะไร?
วุฒิ ป.ธ.๙ เรียนภาษาบาลีอันเป็นภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ให้ดำรงคงอยู่ไม่แปรปรวนไป
แต่พึงเข้าใจว่า ไม่ใช่อยู่ๆ ก็มีวุฒิ ป.ธ.๙ โผล่ขึ้นมา หากแต่จะต้องเรียนมาตั้งแต่ชั้นพื้นฐาน โดยเริ่มต้นที่ชั้นประโยค ๑-๒ เมื่อสอบได้แล้วจึงเลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นเปรียญธรรม ๓ ประโยค ๔ ประโยค ... ไปจนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค
ตามหลักสูตร กำหนดให้ใช้คัมภีร์ภาษาบาลีเป็นแบบเรียน ๕ คัมภีร์ คือ -
๑ คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา อธิบายความคัมภีร์ธัมมปทคาถาในพระไตรปิฎก
๒ คัมภีร์มังคลัตถทีปนี อธิบายมงคลสูตรในพระไตรปิฎก
๓ คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อธิบายพระวินัยปิฎกทั้งหมด
๔ คัมภีร์วิสุทธิมรรค อธิบายหลักศีล สมาธิ ปัญญาในพระพุทธศาสนา
๕ คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี อธิบายหลักธรรมชั้นสูงในพระอภิธรรมปิฎก
โดยแต่ละชั้นจะเรียนคัมภีร์ดังนี้ -
ชั้นประโยค ๑-๒ และเปรียญธรรม ๓ ประโยค (ป.ธ.๓) เรียนคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา
ชั้น ป.ธ.๔ และ ป.ธ.๕ เรียนคัมภีร์มังคลัตถทีปนี
ชั้น ป.ธ.๖ และ ป.ธ.๗ เรียนคัมภีร์สมันตปาสาทิกา
ชั้น ป.ธ.๘ เรียนคัมภีร์วิสุทธิมรรค + แต่งฉันท์ภาษาบาลี
ชั้น ป.ธ.๙ เรียนคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี + เรียงความภาษาบาลี
ระบบการวัดผล ใช้เกณฑ์ ๑ ปีสอบเลื่อนชั้น ๑ ครั้ง
ผู้สอบได้ชั้น ป.ธ.๖ และ ป.ธ.๙ จะได้เข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำนองเดียวกับผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ป.ธ.๙ จะได้รับค่าตอบแทนซึ่งเรียกว่า “นิตยภัต” เป็นราย
เดือนตลอดเวลาที่อยู่ในสมณเพศ
ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ป.ธ.๙ ที่เป็นสามเณร จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้อุปสมบทในฐานะ “นาคหลวง” อีกด้วย
คุณค่าของวุฒิ ป.ธ.๙ คืออะไร?
คุณค่าอันเกิดจากศักดิ์และสิทธิ์แห่งวุฒิ ป.ธ.๙ มี ๒ แบบ คือ -
๑ คุณค่าเทียม คือการยกย่องของสังคม ถ้าอยู่ในสมณเพศต่อไป มีโอกาสได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระราชาคณะ” และได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการระดับสูงเป็นต้น การมีสิทธิ์สมัครเข้าศึกษาระดับที่สูงขึ้นใน
สถาบันการศึกษาของทางราชการ และการมีสิทธิ์สอบเข้ารับราชการในหน่วยงานของทางราชการเป็นต้น
๒ คุณค่าแท้ คือ -
(๑) การใช้ความรู้ทางภาษาบาลีเป็นเครื่องมือศึกษาพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติต่อไปอีก เพื่อให้ได้ความรู้ที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา
(๒) แล้วใช้ความรู้ที่ถูกต้องนั้นฝึกหัดปฏิบัติขัดเกลาตนเองให้พัฒนาขึ้นในทางธรรม
(๓) แล้วเผยแผ่ความรู้ที่ถูกต้องนั้นให้แพร่หลายขยายวงกว้างออกสู่สังคมต่อๆ ไป
ดูก่อนภราดา-ผู้ได้รับ วุฒิ ป.ธ.๙ ทั้งหลาย!
บัดนี้ ท่านกำลังใช้ศักดิ์และสิทธิ์แห่งวุฒิ ป.ธ.๙ ไปเพื่อคุณค่าแบบไหน?
โฆษณา