6 ต.ค. 2022 เวลา 12:22 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Too big to fail..?
ช่วงนี้เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับธนาคารยักษ์ใหญ่ในยุโรปเจอ “ปัญหาวิกฤตศรัทธา” เมื่อสื่อสังคมออนไลน์เริ่มประโคมข่าวว่ามีธนาคารบางแห่งท่าทางจะไปไม่รอด
และน่ากลัวขึ้นไปอีกเมื่อ Credit Default Swap (CDS) หรือ ค่าประกันความเสียหายในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ของธนาคารพุ่งสูงขึ้นสูงสุดในรอบหลายปี CDS ระยะ 1 ปีขึ้นไปถึง 5% (หรือมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้มากกว่า 5%) และ CDS อายุ 5 ปี ขึ้นไปเกิน 3%
และราคาหุ้นร่วงลงมาเกือบ 60% ตั้งแต่ต้นปี
และพอตลาดเริ่มกังวล ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและ CDS ของธนาคารอื่นๆในยุโรป
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภายในของธนาคารเอง ที่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ตกเป็นคู่กรณีในเหตุการณ์น่าฮือฮาซี้ดปากหลายรอบ ทำให้ธนาคารขาดทุนและถูกปรับเป็นเงินหลายพันล้านเหรียญ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการล่มสลายของกองทุน Archegos Capital, กรณี Greensill Capital, การฟอกเงินของผู้ค้ายาใน Bulgaria, กรณี Mozambique Tuna bond หรือแม้กระทั่ง #ดราม่า espionage ของ CEO คนก่อน ที่อ่านรายละเอียดในข่าวแล้วนึกว่าอ่านนิยาย (ใครอยากรู้รายละเอียด ลอง google keyword พวกนี้ได้เลยครับ)
ซึ่งธนาคารเองก็รู้ว่าประเด็นพวกนี้กระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท และกำลังจะประกาศปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ และอาจจะต้องมีการขายธุรกิจหรือเพิ่มทุน
แต่เป็นเรื่องเมื่อธนาคารแห่งนี้ เป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก และนับว่าเป็นหนึ่ง Global Systemically Important Bank หรือ G-SIB ที่ต้องมีการประสานงานในกำกับดูแลเพิ่มเติม และต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัย
ถ้าดูตัวเลขเงินกองทุนขั้นที่ 1 หรือ Core Equity Tier 1 (CE-T1) ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ยังอยู่ในระดับ 13-14% ซึ่งสูงกว่าระดับขั้นต่ำพอควร
แต่ถ้าไม่แก้ปัญหาโดยเร็ว ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนอาจจะทำให้ธนาคารสู้คนอื่นไม่ไหว และเริ่มเห็นข่าวว่าธนาคารเริ่มเสียพนักงานและผู้บริหารไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ฐานะของบริษัทแย่ลงไปอีก
จนมีคำถามว่า เหตุการณ์นี้จะนำไปสู่ #วิกฤตธนาคารครั้งใหญ่ แบบที่เคยเกิดในปี 2008 หรือความกังวลจะลามไปหาธนาคารยุโรปหลายแห่งแบบในอดีตหรือไม่
อันนี้อาจจะรับประกันกันได้ยากว่าจะไม่มีปัญหา (เพราะธุรกิจธนาคารตั้งอยู่บนความเชื่อมั่น) แต่ผมว่ามีข้อน่าสังเกตสองสามข้อว่าไม่น่าจะทำให้เกิดวิกฤตของระบบธนาคาร
  • หนึ่ง คือปัญหารอบนี้ยังเป็นปัญหาเฉพาะของธนาคารบางแห่ง ยังไม่ใช่ปัญหาของทั้งระบบธนาคารแบบปี 2008 และธนาคารถูกกำกับดูแลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพด้วยเกณฑ์ที่สูงขึ้นกว่าเดิม
  • สอง แม้ว่าธนาคารแห่งนี้จะมีธุรกรรมขนาดมหาศาลกับธนาคารอื่นๆ โดยเฉพาะธุรกรรมตราสารอนุพันธ์ ที่อาจจะทำให้เกิดความเสียดายได้ แต่ exposure อาจจะมีการจำกัดจากการใช้ clearing house ซึ่งเป็นหนึ่งบทเรียนจากปี 2008
  • สาม ในยุคที่ธนาคารมีเครื่องมือสำคัญคือ #QE ธนาคารสามารถให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแทบจะไม่จำกัดให้กับธนาคาร และบทเรียนสำคัญจากปี 2008 คือการปล่อยให้ธนาคารขนาดใหญ่ล้มไป สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล หรือที่หลายคนเรียกว่า too big to fail
แม้จะรู้ว่า concept ของคำว่า #TooBigToFail อาจจะสร้างพฤติกรรมให้ธนาคารรับความเสี่ยงมากกว่าปกติ แต่ถ้ามาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ ธนาคารกลางอาจจะต้องตัดสินใจช่วยธนาคารขนาดใหญ่อยู่ดี โดยเฉพาะถ้าชัดเจนว่าปัญหาคือ #ปัญหาสภาพคล่อง (liquidity) ไม่ใช่ #ปัญหาฐานะทางการเงิน (solvency)
ธนาคาร (และลูกหนี้) ขนาดใหญ่หลายรายเลยอาจจะสามารถจับธนาคารอื่นๆ และธนาคารกลางเป็นตัวประกันในยามมีปัญหาได้
เพราะทางเลือกอีกทางมันรุนแรงเหลือเกิน….
โฆษณา