12 พ.ย. 2022 เวลา 13:00 • หนังสือ
Talk Like Ted
9 เคล็ดลับการนำเสนอให้เปี่ยมพลัง ตรึงใจ และสร้างสรรค์ โดย Carmine Gallo
9 เคล็ดลับแบ่งเป็นหัวข้อหลักสามหัวข้อ ได้แก่หัวข้อการเข้าถึงอารมณ์ การสร้างสิ่งแปลกใหม่ และการทำให้น่าจดจำ...
I เข้าถึงอารมณ์
1. ปลดปล่อยผู้เชี่ยวชาญในตัวคุณ
สิ่งที่คุณต้องการจะนำเสนอนั้นควรเป็นสิ่งที่คุณหลงใหล ก่อนอื่นต้องตอบคำถามให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่คุณหลงใหล?
หากได้แบ่งปันความหลงใหลให้ผู้ฟังได้รับรู้ ก็มีแนวโน้มว่าคุณจะกังวลน้อยลงเมื่อพูดในที่สาธารณะ
การพูดในสิ่งที่หลงใหลนำไปสู่...ความมั่นใจ พลัง และการถ่ายทอดอันเปี่ยมอารมณ์เข้มข้น ทำให้การพูดโดดเด่นไม่เหมือนใคร
2. ฝึกศิลปะการเล่าเรื่องให้เชี่ยวชาญ
คุณจะต้องพยายามเชื่อมโยงกับผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังเชื่อใจก่อน ด้วยการพูดสิ่งที่ผู้ฟังเข้าถึงได้ อาจจะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันที่ผู้ฟังต้องพบเจออยู่แล้ว จะเพิ่มโอกาสที่ทำให้ผู้ฟังเห็นด้วยกับมุมมองที่คุณพูด จากนั้นค่อยนำเข้าสู่ประเด็นหลักที่ต้องการเสนอ แล้วผู้ฟังก็จะร่วมเดินทางไปกับคุณอย่างเต็มใจ
เรื่องราว 3 ประเภทที่นำมาเล่าได้แก่ เรื่องราวส่วนตัว เรื่องราวของผู้อื่นที่ให้บทเรียน และเรื่องราวความสำเร็จหรือล้มเหลวของแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหัวข้อหลักในการนำเสนอ
คล้ายกับภาพยนตร์หรือนวนิยาย คือเล่าให้คนชมผู้ฟังมีตัวละครไว้เอาใจช่วยสักหนึ่งตัวเป็นอย่างน้อย
3. พูดให้เหมือนบทสนทนา
ใช้น้ำเสียงที่ใช้เวลาอยู่ในบทสนทนา เหมือนกำลังคุยเล่น ที่ดูเป็นธรรมชาติ เป็นกันเอง ถ้าหากลงรายละเอียดถึงองค์ประกอบในการถ่ายทอดข้อมูล จะต้องควบคุม 4 องค์ประกอบคือ อัตราเร็วในการพูด ความดัง-เบา การใช้เสียงสูง-ต่ำ และการเว้นจังหวะในการพูด ถ้าหากจำเนื้อหาที่จะนำเสนอได้แล้ว จากนั้นก็สามารถพูดให้เหมือนบทสนทนาได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด นอกจากคำพูดแล้ว ภาษากายก็สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งการเดิน การสบตา การขยับมือ ที่สำคัญคือต้องใช้ภาษากายของผู้นำที่ให้ความรู้สึกมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม
ต่อให้คุณไม่มั่นใจ ก็ให้ทำท่าทางเหมือนมั่นใจเอาไว้ เพราะท่าทาง ของร่างกายเรา ส่งผลต่อการเปลี่ยนความคิด ความคิดเปลี่ยนพฤติกรรม และพฤติกรรมก็เปลี่ยนผลที่ตามมา ดังนั้นให้ฝืนทำ จนทำได้ ฝืนทำจนกลายเป็นตัวตนของคุณ
II แปลกใหม่
4. สอนเรื่องใหม่ให้ฉันได้รู้
เพราะคนเรามักสนใจความแปลกใหม่ สิ่งที่ไม่คุ้นเคย ไม่ธรรมดา ดังนั้นการนำเสนอจะต้องเผยข้อมูลที่ผู้ฟังไม่เคยรู้มาก่อน หรือนำเรื่องน่าเบื่ออย่าง ตัวเลข สถิติต่างๆ มาจัดองค์ประกอบให้แตกต่าง หรือนำเสนอวิธีการสดใหม่เพื่อแก้ปัญหาเก่า
5. สร้างช่วงเวลาชวนอ้าปากค้าง
นำเสนอข้อมูลที่น่าตกตะลึง ไม่ได้คาดคิด หรือทำสิ่งที่น่าตกใจ น่าประทับใจ และน่าจดจำ ดังตัวอย่างของบิลล์ เกตส์ ที่เคยมาพูดใน Ted Talk เขาสร้างความประหลาดใจโดยการปล่อยยุงกลางเวที ซึ่งเขาพูดเกี่ยวกับเรื่องความยากจนและการเสียชีวิตของเด็กทั่วโลก เขาพูดถึงมาลาเรียจากยุง ซึ่งไม่มีเหตุผลที่คนจนเท่านั้นที่ต้องติดเชื้อ
คุณต้องหา "หมัดเด็ด" ในการนำเสนอของคุยให้เจอ ถ้าคุณยังใช้เพาเวอร์พอยต์เป็นเครื่องมือในการนำเสนออาจจะต้องวางสตอรี่บอร์ด ร้อยเรียงเรื่องราวเป็นฉากๆ คล้ายกับภาพยนตร์ ถ้าหากเป็นการนำเสนอข้อมูล สถิติ ตัวเลข ก็ให้หาบริบทมาเล่าประกอบ ทำให้มันกลายเป็นข้อมูลสำคัญสะเทือนโลก ทำให้เป็นช่วงที่คุณได้ปล่อย "หมัดเด็ด" ออกมา
6. ผ่อนคลาย
ก็คือการพูดอย่างมีอารมณ์ขัน ทำให้ผู้ฟังยิ้มได้ จะช่วยลดกำแพงทำให้ผู้ฟังเปิดรับสารที่คุณสื่อได้มากขึ้น แต่ต้องระมัดระวังเรื่องกาละเทศะ และความไม่เป็นธรรมชาติด้วย วิธีเพิ่มอารมณ์ขันโดยไม่จำเป็นต้องปล่อยมุกตลก อาจเลือกใช้ 5 วิธี ได้แก่ 1.เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ข้อสังเกตและเรื่องส่วนตัว 2.การเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย 3.การยกคำพูดคนอื่น 4.คลิปวีดิโอ 5.ภาพ
III น่าจดจำ
7. ยึดมั่นในกฏ 18 นาที และกฏเลข 3
18 นาทีเป็นระยะเวลาที่นานพอที่จะจริงจังกับเนื้อหา และสั้นพอที่จะยึดเหนี่นวความสนใจของคนเอาไว้ได้ ถ้าหากต้องพูดเนื้อหาที่นานกว่า 18 นาที ก็ควรมีเรื่องเล่า คลิป หรือการสาธิตอื่นๆ มาคั่นกลาง สำหรับการนำเสนอภายใน 18 นาทีนี้แล้ว ต้องคำนึงถึง "กฏเลข 3" ประกอบด้วย
กฏเลข 3 คือการแบ่งส่วนที่จะนำเสนอออกเป็น 3 ส่วน เป็นสามประเด็นที่เชื่อมโยงกับหัวข้อหลัก ซึ่งกำหนดออกเป็นขั้นตอนได้แก่ ขั้นแรกกำหนดพาดหัวเป็นข้อความสั้นๆ สะดุดตา คล้ายในทวิตเตอร์ ขั้นที่สองหาสารหลักสามข้อมาสนับสนุนพาดหัว (อาจแบ่งส่วนละ 6 นาที) ขั้นสุดท้ายเสริมสารทั้งสามส่วนด้วยเรื่องเล่า สถิติ และตัวอย่าง (อย่างหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนก็แบ่งเป็นสามหัวข้อหลักเช่นกัน)
8. วาดภาพในใจด้วยประสบการณ์หลากรูปแบบการรับรู้
ปรับเปลี่ยนสไลด์เพาเวอร์พอยต์ที่เต็มไปด้วยตัวอักษรมากมาย มาเพิ่มการอธิบายด้วยถ้อยคำพร้อมกับภาพ รวมทั้งการรับรู้ที่เข้าถึงประสาทสัมผัสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง สัมผัส รส หรือกลิ่น ผสมกันอย่างน้อยให้มากกว่า 1 อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาพจะนิยมมากกว่าอย่างอื่น เพราะภาพนั้นถูกประทับลงในสมองของเราได้อย่างล้ำลึกกว่าและจดจำได้ง่ายกว่า (ง่ายกว่าคำพูด) ลองมาปรับลดคำจากสไลด์ทั่วไปที่มีประมาณ 40 คำต่อหน้า เป็น 40 คำของทั้งการนำเสนอ
9. เดินในทางของตน
เป็นตัวของตัวเอง เปิดเผย โปร่งใส ไม่ดูเสแสร้ง จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความไว้วางใจ เป็นเรื่องธรรมดาในช่วงเริ่มต้นที่คุณจะตื่นเต้น วิตกกังวล มาอาการเกร็งในการพูดในที่สาธารณะ คนดังมากมายอย่างริชาร์ด แบรนสัน, วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือคนอื่นๆ ก็เคยบอกว่าพวกเขากลัว ตื่นเต้น และวิตกกังวลอย่างมาก ก่อนจะฝึกฝน ปรับปรุง สั่งสมประสบการณ์จนกลายมาเป็นผู้ที่สื่อสารได้อย่างยอดเยี่ยมในปัจจุบัน เมื่อเราร่าง สร้าง และซ้อมการนำเสนอแล้ว ก็ถึงเวลาปลดปล่อยและพูดจากหัวใจ ในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง
สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดคือความกล้า กล้าที่จะนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ ฝึกฝน พร้อมถ่ายทอดความปรารถนาอันแรงกล้าของคุณในหัวข้อที่จะพูด ด้วยความมั่นใจ แล้วเป็นตัวของตัวเอง และนำไปสู่... การเปลี่ยนแปลง
โฆษณา