25 ต.ค. 2022 เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์
ต้องยอมรับเลยว่า ในตอนนี้คนส่วนใหญ่ตั้งแต่เด็กอายุน้อยจนถึงผู้ใหญ่วัยเดียวกับพ่อแม่ของเรา ต่างก็ใช้ชีวิตบนโลกโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ตอนตื่นจนถึงเข้านอน ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะกินข้าว ออกกำลังกาย ช้อปปิ้ง หรือทำกิจกรรมอะไรก็ตาม โซเชียลมีเดียล้วนมีผลกับชีวิตพวกเราเสมอ แต่บางครั้งการเสพข้อมูลจากโซเชียลมีเดียตลอดทั้งวัน ทั้งอ่านข้อมูลจากเพื่อน ๆ ที่แชร์มาให้ในหน้าเฟซบุ๊ก
หรือใช้เวลาไปกับการอัปเดตชีวิตเพื่อน ๆ ในอินสตาแกรม ยิ่งดู ยิ่งไถฟีด ก็ยิ่งติดแล้วใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับกิจกรรมเหล่านี้ตลอดทั้งวัน หากเมื่อไหร่ที่ไม่ได้เล่น หรือใช้งานโซเชียลมีเดีย ก็จะมีอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย หงอย ๆ ไม่เป็นตัวของตัวเอง บางทีเราอาจเข้าข่ายอาการ FOMO (Fear of Missing Out) หรือกลัวการตกกระแสสังคม อยู่ก็เป็นได้นะ ถ้าใครยังไม่แน่ใจว่าเรามีอาการนี้อยู่หรือไม่ มาตรวจดูอาการเบื้องต้น จากเช็กลิสต์นี้กันได้เลย
เครียดทุกที ถ้าไม่ได้ตามกระแส หรือว่าเราจะมีอาการ FOMO
ใช้สมาร์ทโฟนต่อเนื่องเกิน 4 ชั่วโมง
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้โทรศัพท์มือถือทำอะไรได้มากกว่าแค่ โทรเข้า-ออก แต่สามารถใช้แทนคอมพิวเตอร์ได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว บางคนก็ต้องใช้สมาร์ทโฟนเพื่อการทำงาน แต่อีกหลายคนก็ใช้สมาร์ทโฟนในการใช้เสพข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย เสพความบันเทิงอื่น ๆ ทำให้ต้องมีการถือโทรศัพท์ หรือใช้สายตาจ้องจอตลอดเวลา พฤติกรรมแบบนี้อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น มีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง ดวงตาเมื่อยล้า ส่งผลต่อการนอนหลับ เพราะร่างกายจะคิดว่าเราต้องการใช้สมาร์ทโฟนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเครียดสะสมโดยที่ไม่รู้ตัว
รู้สึกเศร้าถ้าตามเทรนด์ไม่ทันคนอื่น
บางเรื่องในโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นไว โดยไม่ทันตั้งตัว ถ้าหากไม่ได้ตามโซเชียลมีเดีย อาจพลาดข่าวสารโดยไม่รู้ตัวสำหรับบางคนการพลาดข่าวสารบางเรื่องก็เป็นเรื่องปกติ แต่คนที่เสพติดการเล่นโซเชียลมีเดียการพลาดเพียงเรื่องเดียว จะทำให้รู้สึกเศร้าในชีวิตเพราะกลัวคุยกับเพื่อน ๆ ในเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่รู้เรื่อง อาจทำให้ความมั่นคงทางอารมณ์เกิดความเปลี่ยนแปลง
จากที่ร่าเริงแจ่มใสก็กลายเป็นไม่มีความสุขในชีวิต พฤติกรรมแบบนี้จะยิ่งส่งผลเสียมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเรายังคิดว่าต้องตามเทรนด์ อัปเดตเรื่องราวให้ทันคนอื่นอยู่เสมอ ลองถอยออกมาสักนิด แล้วเปลี่ยน Mindset ว่าบางเรื่อง ไม่รู้ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ไม่ต้องคิดมาก แล้วเอาเวลาไปโฟกัสเรื่องที่สำคัญจริง ๆ ดีกว่า
รู้สึกด้อยค่าเมื่อเปรียบชีวิตกับคนอื่นในโซเชียล
เพราะทุกคนเมื่อเล่นโซเชียลมีเดียก็อยากจะโชว์มุมดี ด้านที่มีความสุขเพื่อนำเสนอให้โลกภายนอกได้เห็น บางคนก็อัปเดตชีวิตได้ไปเที่ยว พักผ่อน ปาร์ตี้มีความสุขอยู่ตลอดเวลา มันก็จริงที่เสพข้อมูลที่มีแต่ความสุข แต่ถ้ามันมากเกินไป อาจทำให้จิตใจของเราที่ไม่ได้มีชีวิตแบบคนอื่น เกิดความสงสัยที่ว่า ทำไมชีวิตเราถึงแย่แบบนี้ คนอื่น ๆ ชีวิตดีกว่าตั้งเยอะ ความรู้สึกที่เรานำคนอื่นมาเป็นตัวกำหนดความสุขในชีวิต หากยังคิดแบบนี้ต่อไป
เราอาจเกิดภาวะของโรคซึมเศร้าได้ง่าย ยิ่งถ้าเราเอาคนชีวิตของคนอื่นมาเปรียบเทียบมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มความรู้สึกด้านลบในตัวเรา ลดทอนคุณค่า และความมั่นใจที่เราเคยมี กลายเป็นคนที่มีความทุกข์ใจตลอดเวลา หากเราเริ่มรู้สึกแบบนี้ ลองเปลี่ยนความคิดดูว่า ถ้าเราเห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดี ก็นำไปเป็นแรงกระตุ้นในชีวิต เก็บเงิน ขยันทำงาน หารายได้เสริมแล้วไปใช้ชีวิตให้มีความสุขแบบที่เราเห็นในโซเชียลมีเดีย
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วใครที่มีอาการกลัวตกกระแสสังคมหรือ FOMO อยากจะลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองดูก็สามารถเริ่มต้นได้ไม่ยาก แค่ลองทำตามทริคดี ๆ ด้านล่างนี้เลย
ยอมรับว่าตัวเองติดโซเชียลมีเดีย
การจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ชีวิตกลับมามีความสุข จะต้องเริ่มต้นจากเริ่มยอมรับก่อนว่าเราเสพติดโซเชียลมีเดียจริง ๆ แล้วเรามีพฤติกรรมกรรมการเสพติดแบบไหนแล้วมาวางแผนแก้ไข หากชอบเล่นโซเชียลเพราะไม่มีอะไรทำ ว่าง ลองหางานอดิเรกใหม่ หรือใช้เวลาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น ออกไปเล่นกีฬาที่อยู่ในกระแสอย่างสเกตบอร์ด เซิร์ฟสเกต ลงคอร์สเรียนออนไลน์ หรือทักษะที่อาจนำไปต่อยอดในชีวิต เพื่อใช้เวลาที่หมดไปในแต่ละวันได้อย่างคุ้มค่า ไม่เสียไปกับการเล่นสมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียว
ละสายตาจากหน้าจอบ้าง
เราเข้าใจที่คุณต้องเล่นโซเชียลตลอดเวลา เพราะยังมีหลายคนใช้ช่องทางเหล่านี้เป็นเครื่องมือหาเงิน แต่การจดจ้องหน้าจอตลอดทั้งวัน นอกจากจะทำให้เราเสพติดการใช้งานโซเชียล ยังทำให้สุขภาพร่างกายเสียอย่างไม่รู้ตัว ไหนจะแสงสีฟ้าจากหน้าจอ ทำให้มีปัญหาด้านสายตา ยังมีเรื่องของการคอมเมนต์บนโลกออนไลน์ หากเจอเรื่องที่ไม่ถูกใจ ก็ทำให้เราหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ลองห่างกันสักพักจากโซเชียลมีเดีย อย่างน้อยทุก ๆ 2 ชั่วโมง ไปนอนพักสัก 10-20 นาที ให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย แล้วค่อยกลับมาเล่นใหม่ก็ได้
ใช้เวลาในโลกแห่งความจริงมากขึ้น
ลองปิดสมาร์ทโฟน หรืออินเทอร์เน็ตสักหนึ่งวัน เพื่อออกไปทำกิจกรรม หรือใช้ชีวิตในโลกความจริง อาจนัดเพื่อน หรือครอบครัวมาทำกิจกรรมด้วยกัน จากเดิมที่เราอาจติดต่อผ่านการแชทกับคนกลุ่มเหล่านี้ ก็ชวนมาคุยกันในชีวิตจริงซะเลย แล้วรวมกลุ่มกันไปเที่ยวต่างจังหวัด ออกไปแคมป์ปิ้ง หรือรวมกลุ่มกันออกกำลังกายใหม่ ๆ อย่างเช่น การเล่นเซิร์ฟสเกต หรือการไปกินอาหารอร่อย ที่ไม่เคยลอง ในช่วงแรกอาจมีความคิดถึงโลกโซเชียลมีเดีย
แต่ถ้าเราทำบ่อย ๆ ฝึกให้เป็นนิสัย อาการที่เราเคยติดการเล่นโซเชียลมีเดียก็จะค่อยหายไป ลองหายไปจากโซเชียลมีเดียสักวัน อาจพบความสุขในโลกความจริงมากขึ้นก็ได้นะ
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โฆษณา