19 ต.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การชักเย่อทางเศรษฐกิจ ระหว่าง “แบงก์ชาติ” และ “รัฐบาล”
ย้อนกลับไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19
ทั้งธนาคารกลางและฝั่งรัฐบาลต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
นั่นคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากผลกระทบของโควิด
แต่ในขณะนี้ หลายประเทศกำลังเผชิญกับการที่ธนาคารกลางกับรัฐบาลกำลังเดินสวนทางกัน
เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ซึ่งหลายครั้งที่ผู้กำหนดนโยบายในประเทศใช้ทิศทางนโยบายสลับขั้วกัน
ทำให้นักลงทุน หรือ ตลาดการเงินต้องสับสน และ ปั่นป่วน
ฝั่งรัฐบาลของอังกฤษในขณะนี้ กำลังต้องการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้วยการใช้นโยบายลดภาษีครั้งใหญ่ แต่ผลที่ตามมา คือ อังกฤษขาดดุลทางการคลังมากขึ้น
ตลาดพันธบัตรจึงถูกเทขายครั้งใหญ่
ในขณะที่ธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England) ต้องเข้ามาแทรกแซงตลาดพันธบัตรแทน
ผ่านการใช้วงเงินกว่า 65 พันล้านปอนด์ เข้าซื้อพันธบัตรของตัวเอง
ซึ่งนักลงทุนก็กำลังเดิมพันว่า อัตราดอกเบี้ยของอังกฤษกำลังจะสูงขึ้นอีก
แต่อังกฤษก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญกับนโยบายที่สวนทางกัน
เพราะเหตุการณ์ความตึงเครียดอาจเกิดขึ้นในตลาดการเงินทั่วโลก
เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่มีอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงแบบไม่ยอมลง
เมื่อผู้กำหนดนโยบายการเงินเห็นว่าประเทศกำลังเผชิญเงินเฟ้อสูง
สิ่งที่ธนาคารกลางเห็นว่าต้องทำ คือ การใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด เพื่อเอาเงินเฟ้อลงมาให้ได้
 
ถึงแม้ว่าจะยอมเสี่ยงให้เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม
ตัวอย่างของกรณีนี้ ก็คือ การที่คุณ Jerome Powell ประธาน เฟด ยึดมั่นคำมั่นสัญญาว่า จะทำทุกวิถีทางเพื่อเอาเงินเฟ้อลงมาให้ได้ ถึงแม้จะต้องยอมเจ็บตัวบ้างก็ตาม
แต่ฝั่งรัฐบาลที่ควบคุมด้านการคลังของประเทศกลับมองต่างออกไป
เมื่อประชาชนผู้ที่เลือกรัฐบาลเข้ามาทำงานต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และ ปัญหาด้านค่าครองชีพสูงลิ่ว
สิ่งที่รัฐบาลเห็นว่าควรทำ คือ การใช้นโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย เช่น การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ หรือ การลดภาษี พื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน
ซึ่งรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ ก็กำลังดำเนินนโยบายในลักษณะนี้อยู่ โดยเฉพาะรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติพลังงาน เช่น เยอรมนีวางแผนที่จะใช้เงินราว 2 แสนล้านยูโร เพื่อจัดการกับปัญหาทางพลังงานที่กำลังเกิดขึ้น
📌 ต่างคนต่างเหตุผล
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงการผสมผสาน นโยบายใหม่ที่ต่างจากอดีตที่ผ่านมา
ตั้งแต่ช่วงวิฤติซับไพรม์ มาจนถึงโควิด เรามักจะได้เห็นรัฐบาลชะลอการใช้จ่ายและใช้นโยบายรัดเข็มขัดในขณะที่ธนาคารกลางพยายามจะผ่อนคลายนโยบายของตน
แต่ปัจจุบัน ผู้กำหนดนโยบายทั้งสองหกำลังสลับบทบาทกัน
โดยระบบนี้กำลังเพิ่มความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอยู่หลายประเด็นด้วยกัน คือ
  • การใช้จ่ายภาครัฐอาจเป็นเชื้อเพลิงเติมไฟให้เงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น กดดันให้ธนาคารกลางจะต้องใช้ยาแรงต่อไป
  • การที่ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมของภาครัฐให้สูงขึ้นตามไปด้วย
  • เกิดความโกลาหลในตลาดการเงิน จากการเก็งกำไร เพราะไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว ทิศทางนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นแบบไหน
ซึ่งแน่นอนว่า การที่รัฐบาลและธนาคารกลางดำเนินนโยบายสวนทางกันในลักษณะนี้
ก็ไม่ต่างอะไรกับการชักเย่อ ระหว่างนโยบายการเงิน และ นโยบายการคลัง
รัฐบาลจะมีเหตุผลมากมาย ที่ต้องใช้นโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย ทั้งปัญหาโควิด วิกฤติค่าครองชีพ
และยิ่งรัฐบาลใช้จ่าย ใช้นโยบายการคลังผ่อนคลายมากเท่าไร
ธนาคารกลางก็จะยิ่งกังวลเรื่องเงินเฟ้อมากขึ้นเท่านั้น และจะยิ่งใช้นโยบายทางการเงินเข้มงวดขึ้น
ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ก็จะไปส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลทันที
📌 การตัดงบประมาณอันเจ็บปวด
ความน่ากลัวทางเศรษฐกิจ อาจเกิดขึ้นได้ในทันที
เมื่อรัฐบาลอังกฤษประกาศนโยบายลดภาษี และ อุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
ในช่วงเวลาเดียวกัน ธนาคารกลางอังกฤษกำลังพยายามควบคุมราคาสินค้าต่าง ๆ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งนโยบายของรัฐบาลอังกฤษนี้เอง ที่ทำให้ตลาดพันธบัตรของอังกฤษและค่าเงินปอนด์ปั่นป่วน
และเมื่อในตอนนี้ ธนาคารต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
ทำให้โลกของเราหมดยุคดอกเบี้ยเบี้ยต่ำ เข้าสู่ยุคดอกเบี้ยสูง
โดย จากการศึกษาของ Bloomberg Economics ชี้ให้เห็นว่า
ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายแห่งกำลังอยู่ใน สภาวะแนวโน้มของหนี้ที่ไม่แน่นอน นอกเสียจากว่า รัฐบาลจะตัดลดงบประมาณที่ใช้
สำหรับกลุ่มประเทศ G7 ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยสำหรับหนี้สาธารณะอาจพุ่งสูงถึง 3.6% ของ GDP ในปีภายในปี 2030 ซึ่งมากกว่าระดับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิดถึง 2 เท่า
โดยประเทศที่เฝ้าจับตามองมากที่สุดคืออิตาลี
ที่พึ่งมีมีรัฐบาลชุดใหม่และมุ่งมั่นที่จะใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวเช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร และ ฝรั่งเศส
โดยจากการศึกษาของ Bloomberg พบว่า สหรัฐอเมริกา ก็มีแนวโน้มที่นโยบายการคลัง และ นโยบายการเงินที่สวนทางกัน
ซึ่งความเสี่ยงที่นโยบายของสหรัฐจะขัดแย้งกันก็อยู่ในวาระการประชุมที่กรุงวอชิงตันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ World Bank และ IMF ต่างก็แนะนำให้ ธนาคารกลางเห็นความสำคัญเรื่องควบคุมเสถียรภาพด้านราคาเป็นอันดับแรก ในขณะที่รัฐบาลควรช่วยด้วยการใช้นโยบายรัดเข็มขัดให้แน่น
คุณ Pierre-Olivier Gourinchas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF
เปรียบการปะทะกันของนโบายทั้งสองในสหราชอาณาจักรว่าเหมือน “คนสองคนที่พยายามจะถือพวงมาลัย และดึงมันไปในทิศทางที่ต่างกัน”
แต่ก็มีข้อกังวลอีกข้อเช่นกัน โดยพื้นฐานแล้ว หากธนาคารกลางและรัฐบาล ใช้นโยบายไปในทิศทางเดียวกัน แต่ทิศทางนั้นเป็นการใช้นโยบายแบบเข้มงวด
สุดท้ายแล้วผู้กำหนดนโยบายเหล่านั้นอาจผลักเศรษฐกิจโลกให้ตกลงสู่หน้าผา
ด้วยอัตราดอกเบี้ยและสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอนาคตข้างหน้า
จะเป็นตัวชะลอการเติบโตของสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่หุ้นไปจนถึงพันธบัตร ที่พุ่งสูงขึ้นในยุคของการครอบงำของธนาคารกลาง
ซึ่งวิกฤติในสหราชอาณาจักรเป็นกรณีทดสอบและเป็นคำเตือนสำหรับประเทศอื่น ๆ และสิ่งเหล่านี้ก็ไม่คิดว่าจะจบลงอย่างง่าย ๆ ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา