19 ต.ค. 2022 เวลา 10:04 • สุขภาพ
กรุงเทพฯ ประเทศไทย เช้าวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ค่าฝุ่นละอองในเวลา 9 นาฬิกา มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ที่ 152 US AQI
อยู่ในอันดับเมืองที่ปริมาณฝุ่นมากที่สุดอันดับที่ 11
มีการแนะนำให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกอาคาร
ฝุ่น PM2.5 เป็นมลพิษทางอากาศอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพคนไทยทุกปี
ผลกระทบโดยตรงสามารถเกิดขึ้นได้แบบฉับพลัน คือ แสบตา คัดจมูก ภูมิแพ้กำเริบ
แต่หากสะสมเป็นเวลานาน สามารถนำไปสู่อาการเจ็บป่วยอื่นๆ อาทิ โรคหอบหืด โรคเบาหวาน มะเร็งปอด ภาวะคลอดก่อนกำหนด ภาวะซึมเศร้า
นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ เคยอธิบายอันตรายของฝุ่นเอาไว้ว่า
“สมมติว่าใน 100 คนที่ตายเพราะโรคหัวใจ อาจจะมีสาเหตุมาจากการเป็นเบาหวาน เพราะสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย แต่ในจำนวนนั้นมี 25% เป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศ”
โดยปกติ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ก่อฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก มลพิษต่างๆ ที่มาจากจากยานพาหนะและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ เช่น การก่อสร้างจำนวนมาก
เพียงแต่ในบางวัน เราอาจไม่พบว่าค่ามลพิษสูงนัก เพราะเป็นช่วงที่ ‘อากาศเปิด’
แต่หากเป็นฤดูหนาวนั้นจะเกิดสภาพ ‘อากาศปิด’
กล่าวคือ ตามปกติแล้วอากาศที่อยู่เหนือพื้นดินจะมีอุณหภูมิที่สูงกว่าอากาศที่ลอยอยู่บนฟ้า และอากาศจะเคลื่อนตัวจากบริเวณที่อุณหภูมิสูงไปอุณหภูมิต่ำ ซึ่งอากาศจะลอยจากพื้นดินขึ้นสู่ท้องฟ้านั่นเอง
และจะพัดพาเอาพวกฝุ่นละออง และควันต่างๆ ลอยขึ้นไปด้วย
แต่ในช่วงฤดูหนาวหรือวันที่อากาศเย็น จะมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุม เป็นเหมือนโดมครอบเอาไว้ ทำให้อากาศจากพื้นดินที่ลอยขึ้นไปถูกกักเอาไว้ และส่งผลให้ฝุ่นละอองในอากาศไหลย้อนกลับสู่พื้นดิน
1
สำหรับสถานการณ์ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็น ในช่วงวันที่ 18 - 23 ตุลาคม
นอกจากนี้ ในกรณีของกรุงเทพฯ ยังมีปัญหาเรื่องตึกสูง ทำให้ทิศทางการถ่ายเทอากาศมีน้อย ต้องลอยตัวขึ้นด้านบนอย่างเดียว
แต่เมื่ออากาศด้านบนมีโดมครอบ มลพิษก็จะไม่ลอยไปไหน เป็นมัจจุราชเงียบรอคอบผู้คนมาสัมผัส
ส่วนในเรื่องที่ PM2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่บางครั้งกลับสามารถสังเกตเห็นได้จากสภาพอากาศที่ดูทึบๆ นั้น เป็นเพราะฝุ่นเกาะตัวเป็นแพร่วมกับกลุ่มหมอก
เมื่อฝุ่นและหมอกรวมกัน จึงทำให้เราสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
ทั้งนี้ ตามรายงานของ State of Global Air ระบุว่า PM 2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 37,500 ราย ในปี 2015 และประมาณ 32,000 ราย ในรายงานปี 2020
ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุด คือกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก (เด็กแรกเกิดได้รับผลกระทบทำให้มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์)
ตามข้อมูลของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า คนไทยยังต้องจ่ายค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ) ไปกว่า 2,000 - 3,000 ล้านบาท
1
และอาจต้องจัดเตรียมเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลโรคที่เกี่ยวข้องในอนาคตสูงถึง 200,000 บาทต่อคนต่อปี
#IsLIFE #AirPollution
อ้างอิง
ดอยสุเทพหายไปไหน ? คุยกับ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ว่าด้วยเรื่อง มลพิษบนท้องฟ้าและปัญหาฝุ่นควันที่ซุกอยู่ใต้พรม https://shorturl.asia/PidUQ
ฝุ่น : เหตุใดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก จึงพุ่งสูงขึ้นมาอีกครั้ง https://shorturl.asia/AalvF
Thailand suffers from poor air quality and fails to meet Sustainable Development Goals— Greenpeace https://shorturl.asia/3Xx6i
Report attributes 32,000 premature deaths in Thailand to air pollution https://shorturl.asia/9Dczt
 
Photo : iqair.com
โฆษณา