20 ต.ค. 2022 เวลา 09:36 • ข่าวรอบโลก
ล่าวาฬอย่างยั่งยืน แนวคิดที่พาโลกเข้าสู่ยุคแห่งการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่นานาประเทศทั่วโลกมองว่าการล่าวาฬเป็นสิ่งผิด และมนุษยชาติควรอนุรักษ์สายพันธุ์ยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลเอาไว้ก่อนที่พวกมันจะสูญพันธ์
แม้จะมีบางประเทศ ที่ยังคงล่าวาฬในเชิงพาณิชย์อยู่ เช่น ญี่ปุ่น ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์
รวมถึงกลุ่มชุมชนเล็กๆ บางแห่งที่ได้รับการอนุโลมเป็นพิเศษ เช่นในอะแลสกา เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยหาอาหารประเภทอื่นได้ยาก
แต่นั่นก็พอช่วยรักษาประชากรวาฬหลากหลายสายพันธุ์เอาไว้ได้ จนจำนวนวาฬในหลายๆ พื้นที่เริ่มเพิ่มขึ้น - ได้ทำหน้าที่ทางระบบนิเวศ ไม่สูญพันธุ์ไปก่อนเวลาอันควร
อย่างไรก็ตาม นาทีนี้ ดูเหมือนอนาคตของเหล่าวาฬจะเริ่มสั่นคลอนอีกครั้ง เมื่อประเทศสมาชิก IWC หรือคณะกรรมาธิการการล่าวาฬระหว่างประเทศ เริ่มเสนอการอภิปรายเรื่อง ‘การล่าวาฬอย่างยั่งยืน’ ขึ้นมาใหม่
ตัวแทนจากเกาะแอนติกาและเกาะบาร์บิวดา ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองบนเกาะในทะเลแคริบเบียน ต่างเห็นตรงกันว่า IWC ควรอนุญาติให้มีการล่าวาฬอีกครั้ง ผ่านการดำเนินการที่พ่วงคำว่า ‘ล่าอย่างยั่งยืน’ ต่อท้าย
และคาดว่า จะมีตัวแทนจากประเทศกัมพูชา กินี และแกมเบีย ร่วมสนับสนุนข้อเสนอ ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่ได้จากทรัพยากรทางทะเล
การล่าวาฬอย่างยั่งยืน คืออะไร
ตามข้อเสนอนั้น ประเทศที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้จะยกตัวอย่างญี่ปุ่น (ซึ่งถอนตัวจากการเป็นสมาชิก IWC ไปเมื่อปี 2018) ว่าจะเป็นการล่าโดยการจำกัดจำนวน และทำเพื่อรักษาวัฒธรรมชุมชนไม่ให้สูญหาย
หรือในกรณีของหมู่เกาะแฟโร ซึ่งไม่ใช่การล่าเพื่อการค้า แต่เป็นการล่าเพื่อปากท้องของประชาชนในท้องถิ่น เพราะพื้นที่ของเกาะไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์ และก็ไม่ได้เพื่อเอาไปขายในภัตราคาร-ร้านอาหาร
แต่โดยที่ทราบกันใน กรณีของประเทศญี่ปุ่น ถึงจะอ้างว่าเพื่อรักษาวัฒนธรรมชุมชน แต่วัฒนธรรมนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ที่ทำเพื่อหาเลี้ยงชีพมากกว่าแค่เรื่องของอาหารในท้องถิ่น
หรือกรณีของหมู่เกาะแฟโร ก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการล่าเกินกว่าเหตุอันควรหรือเปล่า เช่น ในปีที่ผ่านมา มีการล่าวาฬและโลมามากรวมกันมากกว่า 1,400 ตัว ที่แม้แต่ผู้คนบนเกาะรู้สึกเลยว่าเป็นการล่าที่มากเกินความต้องการ
ไม่นับว่าผู้ที่ล่า หลายๆ คน ยังไม่มีใบอนุญาตให้ล่า ลักลอบล่า
นอกจากนี้ บางส่วนยังอ้างข้อมูลว่า วาฬหลายๆ ชนิดมีอัตราการผสมพันธุ์ที่ 3 - 7 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี หากกำหนดโควตาการล่าไว้มรา 1 เปอร์เซ็นต์ ก็จะไม่กระทบต่อประชากรของวาฬเลยแม้แต่น้อย
ในมุมของ IWC หรือองค์กรอนุรักษ์อย่าง OceanCare และ Humane Society International มองว่าไม่มีทางที่การล่าวาฬจะนำไปสู่คำว่ายั่งยืนได้
ในทางกลับกัน เราสามารถใช้ประโยชน์วาฬอย่างยั่งยืนได้ด้วยแนวทางอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การดูวาฬ เป็นต้น
อีกทั้ง วาฬยังเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ที่ถูกยอมรับว่า ตลอดอายุขัยของมันช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากถึง 33 ตัน ตลอดช่วงอายุขัยของวาฬหนึ่งตัว
การอนุรักษ์วาฬจึงเป็นสิ่งสำคัญกับโลกในปัจจุบันอย่างมาก
และนอกเหนือจากการล่า วาฬยังเสี่ยงที่จะพบกับจุดจบจากสาเหตุอื่นๆ ที่อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ได้อีกหลากหลายประการ เช่น ขยะพลาสติก อุตสาหกรรมในทะเล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำทะเลแปรปรวน
หรือเหตุการณ์ที่ยังหาคำตอบไม่ได้อย่างการเกยตื้นตายของวาฬในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก เช่น วาฬนำร่อง 447 ตัว เกยตื้น บริเวณหาดบนหมู่เกาะชาแธม ประเทศนิวซีแลนด์
ปัญหาเหล่านี้ ทำให้ชีวิตวาฬทั้งหลายตกอยู่ในความเสี่ยงมากมายพอแล้ว
 
เราจึงมิควรเพิ่มความเสี่ยงด้วยการล่าเข้ามาอีกเลย
อ้างอิง
Countries push to undermine ban on commercial whaling https://shorturl.asia/QOjLV
the benefits of sustainable whale watching https://shorturl.asia/9foTY
Sustainable whaling and sealing in line with the SDGs https://shorturl.asia/BT56L
Resumption of Whaling and the Principle of Sustainable Use https://shorturl.asia/rV97n
Here’s why the global ban on whaling is as essential as ever https://shorturl.asia/mTV3k
Recent whale strandings highlight the mystery that still baffles marine scientists https://shorturl.asia/Ka0M8
Photo : Jeremy Sutton-Hibbert/Alamy Stock photo
โฆษณา