21 ต.ค. 2022 เวลา 13:36 • ข่าวรอบโลก
รู้จักกับ AirJapan สายการบินน้องใหม่ (แต่ไม่แกะกล่อง) จาก ANA
ANA Holdings ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสายการบิน ANA เปิดตัวสายการใหม่ล่าสุดในเครือ "AirJapan" เตรียมเริ่มทำการบินเที่ยวบินพาณิชย์แรกภายในครึ่งหลังของปี 2023 โดยก่อนหน้าที่ ANA ได้เคยมีการเปิดเผนแผนการเปิดสายการบินใหม่มาแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา
ย้อนไปเดือนตุลาคมปี 2020 ที่ ANA เปิดเผยว่าเตรียมตั้งสายการบินใหม่ ทำการบินด้วย Boeing 787 ในครั้งนั้นคาดกันว่าจะเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ
📌น้องใหม่ แต่ไม่แกะกล่อง
สายการบินใหม่นี้จะเรียกว่าใหม่เอี่ยมก็เรียกได้ไม่เต็มปาก เนื่องจากจะอยู่ภายใต้บริษัทลูกเดิมที่มีอยู่แล้วอย่าง Air Japan Co. ที่ก่อตั้งมาแล้วกว่า 30 ปี โดยปัจจุบันให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำและปฏิบัติการบินแทน ANA ในบางเที่ยวบิน แต่สายการบินใหม่นี้จะมีภาพลักษณ์ใหม่ทั้งหมดและมีชื่อว่า AirJapan (เขียนติดกัน) คาดว่าจะทำการบินภายใต้รหัสเที่ยวบินเดิมคือ NQ
หน้าเว็ปไซต์ของสายการบิน Air Japan สายการบินที่ก่อตั้งมานานกว่า 30 ปี
📌ความน่าสนใจของ "AirJapan" โฉมใหม่
ความน่าสนใจคือจะเป็นสายการบินที่ให้บริการเส้นทางระยะกลางระหว่างประเทศด้วย Boeing 787 กับภาพลักษณ์ใหม่ทั้งหมด และนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลาย ด้วยพื้นฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่น รวมถึงห้องโดยสารที่สะดวกสบาย ที่สำคัญคือราคาที่เข้าถึงง่ายในวงกว้าง
สำหรับแนวคิดเบื้องหลังภาพลักษณ์แบรนด์คือ “Fly Thoughtful” หรือความรอบคอบ ที่แสดงออกถึงการใส่ใจในรายละเอียด ความห่วงใย ความสุภาพที่สายการบินมอบให้แก่ผู้โดยสาร มุ่งหวังที่จะนำเสนอการเดินทางแบบใหม่ที่ผสานความเป็นญี่ปุ่นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
📌ชื่อสายการบิน ตราสัญลักษณ์ สีสันและลวดลายของเครื่องบิน
ชื่อ "AirJapan" นั้นมีที่มาจากความต้องการที่จะสื่อสารอย่างชัดเจนให้กับผู้คนทั่วโลกว่านี่คือสายการบินของชาวญี่ปุ่น และเป็นการเน้นย้ำกับผู้โดนสารถึง
"Japanese Quality" หรือคุณภาพในแบบฉบับญี่ปุ่น ส่วนตราสัญลักษณ์หรือโลโกนั้น เป็นการใช้ตัวอักษร AirJapan ที่ออกแบบให้ตัว r และ J เป็นภาพการจับมือทักทายกัน ส่วนสีสันของโลโกและลวดลายเครื่องบินนั้น มาจาก 2 สีดั้งเดิมของญี่ปุ่นคือ "Ai" หรือสีคราม และ "Akebono" หรือสีสันของช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น
Hideki Mineguchi ประธานบริษัท Air Japan ซึ่งปัจจุบันให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำภายใต้ชื่อ "Air Japan"
ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดผลิตภัณฑ์โดยละเอียด รวมถึงเส้นทางการบินออกมา มีเพียงแค่การประกาศว่าจะเริ่มให้บริการจากท่าอากาศยานนาริตะ ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (คาดว่าจะมีกรุงเทพฯ อยู่ในช่วงแรกของการให้บริการ) ในช่วงปลายปี 2023 ก่อนที่จะขยายเครือข่ายการบินต่อไป
ส่วนรูปแบบการให้บริการและการจำหน่ายบัตรโดยสารนั้น จะเป็นแบบสายการบินต้นทุนต่ำ (LCC) โดยเลือกที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ผู้โดยสารต้องการอย่างแท้จริงด้วยราคาที่สมเหตุสมผล
การวางตำแหน่งทางการตลาด หรือ Brand Positioning วางตำแหน่งระหว่าง ANA และ peach ปัจจุบันมีการเปิดเผยว่า จะเป็นรูปแบบสายการบินต้นทุนต่ำ (LCC) ที่เลือกที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ผู้โดยสารต้องการอย่างแท้จริงด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ถือว่าวางตำแหน่งใกล้เคียงกับสายการบิน Zipair ในเครือ Japan Airlines
ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวในวงการการบินที่น่าสนใจ ถ้าดูกว้างๆก็ชัดเจนว่าเป็นสายการบินที่มีตำแหน่งทางการตลาดเดียวกับ ZIPAIR อีกหนึ่งสายการบินในเครือ Japan Airlines...น่าสนใจจริงๆกับการแข่งขันกันในตลาดสายการบินประเทศญี่ปุ่น อีกหนึ่งตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมายาวนาน
โฆษณา