25 ต.ค. 2022 เวลา 10:06 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อินเดียจะสามารถแทนที่จีน ในฐานะ 'โรงงานโลก' ได้หรือไม่?
ก่อนหน้านี้ Apple ได้ประกาศแผนย้ายการผลิต iPhone 14 ประมาณ 5% ไปยังอินเดียภายในปลายปีนี้ และคาดว่า ในปี 2025 Apple จะขยายการผลิต iPhone ในอินเดียให้ถึง 25%
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบรนด์ข้ามชาติ ประกาศย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปอินเดีย ก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวว่า Samsung, HP และ Dell เริ่มย้ายไปฐานการผลิตบางส่วนจากจีนไปยังอินเดียเช่นกัน
จนเกิดคำถามตามมาว่า ในอนาคต อินเดียจะสามารถเข้ามาแทนที่จีน ในฐานะ ‘โรงงานโลก’ แห่งใหม่ได้หรือไม่?
[ อินเดียกับความพยายามที่จะเป็น ‘ศูนย์กลางการผลิตโลก’ ]
อินเดียมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่สามในเอเชีย ด้วยอัตราการเติบโตของ GDP ที่ 6-7% ในปีนี้ และการส่งออกสินค้าทะลุ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาเกือบทศวรรษ
ทำให้ตอนนี้ เศรษฐกิจอินเดียใหญ่เป็นอันดับห้าของโลก แซงหน้าสหราชอาณาจักรเป็นที่เรียบร้อย และ The Guardian หนังสือพิมพ์รายวันของอังกฤษ ได้วิเคราะห์ด้วยว่า เศรษฐกิจของอินเดียจะแซงหน้าเยอรมนีและญี่ปุ่น ขึ้นเป็นอันดับสามของโลกภายในทศวรรษหน้า
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของอินเดียเติบโตขึ้น เกิดจากการวางเป้าหมายของอินเดีย ที่อยากจะเป็นศูนย์กลางทั้งการผลิตและการส่งออก ด้วยจุดเด่นของอินเดียที่มีแรงงานต้นทุนต่ำ แรงงานบางกลุ่มมีทักษะไอทีสูง ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในอินเดียมากขึ้น
ซึ่งหนึ่งในบริษัทข้ามชาติที่สนใจก็คือ Apple ที่ประกาศย้ายฐานการผลิต iPhone 14 บางส่วนไปยังอินเดีย เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตในจีน จากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในจีนหลายครั้ง โดยเฉพาะปัญหาการล็อกดาวน์ และซัพพลายเชนที่ชะงัก
Joey Yen นักวิเคราะห์เทคโนโลยีของ International Data Corporation (IDC) บอกกับ สำนักข่าว Nikkei Asia ว่า การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอินเดียเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญ ด้วยตลาดไอทีของอินเดียที่มีขนาดใหญ่อยู่แล้ว และแรงงานมีความสามารถด้านวิศวกรรมไอทีสูง
ซึ่งอินเดียก็ได้เรียนรู้ความสำเร็จจากจีนแล้ว ทำให้อินเดียมีศักยภาพพอ ที่จะกลายเป็นซัพพลายเชนระดับโลกได้ในอนาคต และการผลิต iPhone ในอินเดียอาจช่วยเพิ่มยอดขายได้ เพราะอินเดียเป็นตลาดที่ใหญ่อันดับสองรองลงมาจากจีน
โดยข้อมูลจาก India Brand Equity Foundation (IBEF) เผยว่า อุตสาหกรรมไอทีของอินเดียในปี 2020 คิดเป็น 8% ของ GDP อินเดีย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 10% ภายในปี 2025 ส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ คาดว่าจะแตะ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2025 เช่นกัน
ในอนาคต Apple ยังได้วางแผนให้อินเดียเป็นฐานผลิตหูฟัง AirPods และ Beats ตามรอยเวียดนาม ที่ได้เริ่มผลิต AirPods มาตั้งแต่ปี 2019 ตามมาด้วยหูฟัง Beats หลังจากที่จีน เป็นฐานผลิต AirPods มาอย่างยาวนาน
[ นโยบายการค้า ‘China Plus One’ ]
ที่ผ่านมา จีนมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมาก สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากให้มาลงทุน จนได้รับฉายาว่าเป็น ‘โรงงานโลก’ จากค่าแรงและต้นทุนการผลิตในจีนที่ถูก และขนาดของตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่และเติบโตต่อเนื่อง บริษัทตะวันตกหลายแห่งจึงตัดสินใจลงทุนในจีนตลอดหลายสิบปี
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ มาจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ ‘Zero Covid’ ที่เข้มงวดของจีนในช่วงโควิดที่ผ่านมา เกิดปัญหาซัพพลายเชนและความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่มีการตอบโต้กันอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงความไม่ไว้วางใจทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและชาติตะวันตกเพิ่มขึ้น
ทำให้แบรนด์ข้ามชาติทั้งหลาย หันมาใช้กลยุทธ์ ‘China Plus One’ เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในจีนอย่างเดียว และกระจายธุรกิจไปยังประเทศอื่น เพื่อปรับทิศทางซัพพลายเชนใหม่
ที่ผ่านมา กลยุทธ์ China Plus One ปรากฏให้เห็นมาหลายปีมาแล้ว อย่าง ในปี 2010 ญี่ปุ่นเคยพึ่งพาการทำธุรกิจกับจีนมานาน แต่ด้วยความไม่มั่นใจในความสัมพันธ์ทางการเมือง นักลงทุนอยากกระจายความเสี่ยง จึงมองหาประเทศอื่นในการสร้างฐานการผลิตเพื่อนำเข้าและส่งออกแทนที่จีน
2
ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กลยุทธ์ China Plus One กลับมามีบทบาทอีกครั้ง เมื่อบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติพากันย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกจากจีน ไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างเวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย และบังกลาเทศ
ทำให้เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้เริ่มเติบโตขึ้น และถูกมองว่า ในอนาคตจะมาแทนที่จีนด้วย
[ อินเดียจะสามารถมาแทนที่จีนได้หรือไม่? ]
หลังจากที่บริษัทข้ามชาติหลายแห่ง ทยอยออกจากจีนไปอินเดีย ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วอินเดียจะสามารถมาแทนที่จีนได้หรือไม่ ?
ข้อมูลจาก Venture Beat รายงานว่า ในปี 2016 อินเดียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับที่ห้าของโลก โดยการผลิตในอินเดียเติบโตขึ้น 7% ต่อปี คิดเป็น 14-17% ของ GDP ทั้งหมด และภายในปี 2026 ตั้งเป้าผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.5 เท่าจากปี 2021
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก The Guardian เผยว่า ข้อได้เปรียบของอินเดียคือ ชนชั้นกลางมีการศึกษาที่ดี สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ทำให้โดดเด่นในอุตสาหกรรมไอทีระดับโลก ซึ่งอินเดียยังมีดีมานด์ผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง ราว 55% ของเศรษฐกิจ เทียบกับจีนอยู่ที่ 40% ทำให้อินเดียสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และยังขยายเศรษฐกิจให้บริษัทข้ามชาติมาลงทุนได้มากขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ ทางรัฐบาลอินเดียยังได้ผลักดันข้อตกลงลงนามการค้าทวิภาคีกับหลายประเทศ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและลดอัตราภาษี โดยในปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ตาม การที่อินเดียจะก้าวไปเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกอาจไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างกรณีการเปิดเสรีทางการค้าของอินเดีย มีผู้เชี่ยวชาญมองว่า แม้อินเดียจะก้าวไปข้างหน้า 1 ก้าว แต่ต้องถอยกลับมาอีก 3 ก้าว
เพราะข้อตกลงการค้าเสรีจะกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กของอินเดีย ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยข้อตกลงนี้จะลดภาษีสำหรับสินค้านำเข้าถึง 80-90% ผู้ผลิตในประเทศต้องแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศมากขึ้น
Mihir Sharma ผู้อำนวยการ Observer Research Foundation (ORF) บอกว่า การจะทำให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าไอที ไม่ใช่แค่สนับสนุนแต่บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในอินเดีย แต่รัฐบาลต้องเริ่มสนับสนุนกลุ่ม SMEs ภายในประเทศด้วย เพราะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ มีแรงงานอินเดียในภาคธุรกิจนี้เป็นจำนวนมาก
แต่กลับพบว่ารัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญมากพอ ถ้าหากธุรกิจ SMEs เหล่านี้ได้รับการผลักดัน เพิ่มทักษะมากขึ้น จะช่วยให้ส่งออกของอินเดียแข็งแกร่งและเติบโตมากกว่าเดิม พร้อมสร้างบรรยากาศทางธุรกิจที่ ‘เป็นมิตรมากขึ้น' แข่งขันกับประเทศอื่นในเอเชียได้
[ ความท้าทายของอินเดีย ที่มาจากโครงสร้างของประเทศ ]
1
สรุปก็คืออินเดียยังต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายอย่าง ซึ่งต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านนานพอสมควรกว่าจะมาแทนที่จีนในฐานะโรงงานโลกได้
ด้วยความที่จีนมีข้อได้เปรียบด้านการผลิตมายาวนาน ทำให้สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น ในเมืองเซินเจิ้น ที่ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการผลิต การส่งออก จัดจำหน่าย รวมไปถึงการขนส่งโลจิสติกส์ได้เป็นจำนวนมาก
ส่วนทางรัฐบาลจีนก็ให้การส่งเสริม วิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และก็ยังมีแผนเศรษฐกิจในระยะยาวอีกด้วย
ในทางกลับกัน ภายในปี 2023 อินเดียคาดว่าจะแซงหน้าจีนในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ทำให้เกิดความท้าทายภายในประเทศในการจัดหาอาหาร การศึกษา และการจ้างงานสำหรับประชากรวัยหนุ่มสาวที่กำลังขยายตัว
อย่างไรก็ตาม Alex Capri นักวิจัยของ Hinrich Foundation บอกว่า ตอนนี้อินเดียอยู่ในสถานะที่ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ รวมถึงชาติตะวันตกอื่นๆ อยู่มากเลยทีเดียว
หากในอนาคต อินเดียสามารถแก้ปัญหาเรื่องของโครงสร้างภายในประเทศ ที่รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำ สร้างระบบการศึกษาให้แข็งแกร่ง พัฒนาแรงงานด้านไอทีหรือแรงงานทักษะอื่นตามที่ตลาดต้องการได้มากขึ้น และส่งเสริมผู้ผลิตภายในประเทศให้เติบโตไปได้พร้อมกัน
การพัฒนาทั้งหมดนี้ยังช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอินเดีย ประเทศที่เคยถูกมองว่ายากจน มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง ไม่แน่ว่าในอนาคตภาพจำนี้อาจจะเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้การจะเป็นฐานผลิตที่ใหญ่ของโลก อาจไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับอินเดีย
ชวนอ่านบทความเรื่อง ‘อีกไม่นานอินเดียจะแซงหน้าจีน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก’ ได้ที่ https://workpointtoday.com/india-population-surpasses-china/
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
โฆษณา