26 ต.ค. 2022 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก
ปีนี้เป็นปีที่โลกบอกกับเราอย่างชัดเจนว่า วิกฤตโลกร้อนเป็นของจริง และมีความอันตรายมากมายแค่ไหน
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้มากที่สุด คือ ฤดูร้อนทางแถบซีกโลกเหนือ ไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐอเมริกา จีน หรือยุโรป ต่างก็ประสบกับภัยแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่
World Weather Attribution (WWA) กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในการแสดงที่มาของปรากฏการณ์สภาพอากาศสุดขั้วต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ถอดข้อมูลของปีนี้ออกมาพบว่า
เดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม พื้นดินทางซีกโลกเหนือเกิดความแห้งแล้งขึ้นอย่างรุนแรง
โดยนักวิจัยสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ได้ทำให้สภาพอากาศในฤดูร้อนเกิดความแห้งแล้งทางซีกโลกเหนือ มากขึ้นอย่างน้อย 20 เท่า
และเหตุการณ์เช่นนี้ จะกลับมาเกิดซ้ำอยู่ร่ำไปในทุกๆ 20 ปี
ด้วยตัวเลขนี้ อาจทำให้เข้าใจว่าเหตุการณ์ครั้งต่อไปยังห่างไกลอีกหลายปี แต่หากนำไปเทียบกับวันเวลาที่สภาพภูมิอากาศของโลกไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ได้ร้อนขึ้น 1.2 องศา อย่างในปัจจุบัน
ความแห้งแล้งที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นในทุกๆ 400 ปี
ซึ่งเป็นการวนรอบที่ห่างกันลิบลับ
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ความแห้งแล้งที่เกิดจากภาวะโลกร้อนในฤดูร้อนนี้ได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศอย่างมีนัยสำคัญในซีกโลกเหนือ และรุนแรงแบบสาหัสสากรรจ์ในยุโรปตะวันตกและกลาง
ผลกระทบนั้นทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซึ่งตอกย้ำถึงต้นทุนอาหารระหว่างประเทศและวิกฤตความมั่นคงที่โลกกำลังประสบเนื่องจากสงครามในยูเครน
เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักวิทยาศาสตร์ของ WWA ได้ศึกษาเกี่ยวกับความแห้งแล้งทางการเกษตรและระบบนิเวศอย่างละเอียด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขาดความชื้นในดินที่มีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของพืช
ในผลการวิจัยสรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ผลผลิตลดน้อยลง แต่เกิดจาก "อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นสูงมาก (แบบผิดปกติ)" ต่างหาก ที่ทำให้ภัยแล้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น
รากต้นไม้ไม่อาจหาสารอาหารใดๆ ได้ในวันที่แผ่นดินแห้งแล้งเช่นในปีนี้
ทั้งนี้ ฤดูร้อนในยุโรปที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น ถือเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของยุโรปนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880
นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตร ภัยแล้งปี 2022 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 24,000 คนในยุโรป
อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ไฟป่าลุกโชนรุนแรงยิ่งขึ้น
หรือแม้แต่ประเทศจีนก็ยังยอมแพ้ ต้องออกประกาศเตือนภัยแล้งระดับชาติครั้งแรก
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จาก WWA อธิบายว่า ผลกระทบของภัยแล้งต่อความมั่นคงด้านอาหารเป็นประเด็นที่นักวิทย์ศาสตร์ส่วนใหญ่กังวลมากที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาอาหารอย่างชัดเจน
นอกจากยุโรปแล้ว เมื่อช่วงต้นปี เดือนมีนาคมและเมษายน สภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ทำให้พืชผลทางการเกษตรในอินเดียและปากีสถานอย่างรุนแรง (รวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเวลาต่อมา)
เหตุการณ์สุดโต่งทั้งหมดนี้ เมื่อนำมามัดรวมกัน ย่อมสร้างความเสียหายในตลาดอาหารโลกเป็นอย่างมาก
ฉะนั้น นี่คือความจำเป็นเร่งด่วน ที่แต่ละประเทศจะต้องลงทุนเพื่อให้ประชาชนปรับตัว และสามารถรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น รุนแรงขึ้น และพร้อมเกิดขึ้นได้เสมอ
รวมถึงต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้มากที่สุด
#IsLIFE #Drought #ClimateCrisis
อ้างอิง
Global warming: Extreme droughts 20 times more likely under current climate conditions. https://shorturl.asia/d4COo
Photo : JESÚS DIGES (EFE)
โฆษณา