26 ต.ค. 2022 เวลา 23:54 • การศึกษา
เปิดประวัติ โหราศาสตร์ ศาสตร์ที่อธิบายได้ทุกสรรพสิ่ง
ดร.นนท์คนทันดวง เล่าประวัติวิชาโหราศาสตร์ ตามศาสตร์ที่ดร.ได้ศึกษามา ให้กับทีม #อีจันพลังมู ได้เข้าใจถึงหลักและฐาน ของวิชาโหราศาสตร์ ที่ไม่ใช่แค่การดูดวง ไว้อย่างน่าสนใจมาก ทีมงานจึงอยากเอามาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านเป็นความรู้กันนะครับ
ดร.นนท์ เล่าวว่า โหราศาสตร์ คือ วิชาที่อธิบายอำนาจของดาวในระบบสุริยะจักรวาลที่ส่งผลต่อสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกซึ่งมีมาแต่โบราณสมัย โดย สามารถอธิบายพฤติกรรม ความนึกคิด และจังหวะชีวิตของแต่ละคน รวมถึงอธิบายการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ในโลก เช่น อุทกภัย โรคระบาด สงคราม เป็นต้น
ทั้งนี้ คนจำนวนมากมีมุมมองว่าวิชาโหราศาสตร์มีความลึกซึ้ง แต่บางอย่างไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเกี่ยวพันธ์กับไสยศาสตร์ (สายมู) ซึ่งเป็นวิชาที่ลึกลับ เมื่อเทียบกับวิชาดาราศาสตร์ซึ่งเน้นการคำนวณวิถีโคจร ขนาด น้ำหนัก ระยะทาง ของดวงดาว กลุ่มดาว ในอวกาศ
โหราศาสตร์ เขียนภาษาอังกฤษว่า Astrology ซึ่งคำว่า Astro หมายถึง ดวงดาว กับอีกคำหนึ่ง Logy มีรากศัพท์มาจาก Logic ซึ่งแปลว่า ตรรกศาสตร์ ดังนั้น Astrology จะเป็นศาสตร์ที่อธิบายว่าดวงดาวมีอิทธิพลต่อมนุษย์ สังคม ประเทศ และโลกอย่างไร และในพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตสถาน อธิบายว่า โหราศาสตร์ คือ วิชาว่าด้วยการพยากรณ์โดยอาศัยการโคจรของดวงดาวเป็นหลัก
อาจารย์สิงห์โต สุริยาอารักษ์ จุดเริ่มต้นของวิชาโหราศาสตร์นั้น เชื่อว่าเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย เป็นระยะเวลากว่า 5,000 ปีมาแล้ว ทั้งนี้ มีหลักฐานประวัติศาสตร์ที่สะท้อนว่า โหราศาสตร์เจริญรุ่งเรืองมากในยุคบาบิโลนในสมัยที่กัลเดียครอบครอง โดยมีหลักฐานว่าเป็นผู้แบ่งจักรวาลออกเป็น 12 ราศี
และมีคำอธิบายว่าอาจารย์ที่ให้วิชานี้เป็นเทวดาก่อนท่อนบนเป็นมนุษย์ท่อนล่างเป็นปลานำคัมภีร์ดาวมาให้ (น่าจะเป็นพวกเสมไมต์หรือกุสไสท์ผู้รู้วิชาดาวมาทางเรือ กล่าวกันว่าขึ้นที่อ่าวเปอร์เซียเป็นครูคนแรกที่สอนวิชาดาวให้กับพวกกัลเดีย) และต่อมาวิชาโหราศาสตร์ดังกล่าวก็แพร่หลายไปตามอาณาจักรน้อยใหญ่ของทวีปเอเชียและทวีปยุโรปในเวลาต่อมา
สืบเนื่องจากทุกอาณาจักรได้แบ่งจักรวาลขอบฟ้าเป็น 12 ราศี มีเครื่องหมายประจำราศีเหมือนกันหมดทุกราศี เช่น ราศีเมษ สมมุติให้เป็นแพะ ราศีพฤษภ เป็นแพะ กรกฎเป็นปู และมีนเป็นปลา เช่นนี้ เป็นต้น ทำให้เชื่อได้ว่า โหราศาสตร์กำเนิดจากบูรพาจารย์คนเดียวกันและแหล่งเดียวกัน และ อาณาจักรที่มีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่และครองอำนาจในสมัยโบราณจะมีการใช้วิชาโหราศาสตร์เพื่อสนับสนุนการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งสิ้น
ในยุคโบราณ มนุษย์มีการสังเกตการณ์เกี่ยวกับปรากฎการณ์ธรรมชาติว่ามีความสัมพันธ์กับดวงดาวบนท้องฟ้า โดยเชื่อว่า เทพเจ้า/เทวดาบันดาลให้เกิดขึ้น และเมื่อปรากฎการณ์ใดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะมีการบันทึกสถิติไว้ ทำให้เกิดการพยากรณ์ว่าปรากฎการณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เช่น ขณะที่โรคระบาดเกิดขึ้นนั้น จะบันทึกว่าดาวอะไรอยู่ตำแหน่งไหน และจะพยากรณ์ว่าหากดาวเหล่านั้นมาอยู่ที่เก่าอีก มีโอกาสที่จะเกิดโรคระบาดอีกครั้ง
ซึ่งในหลายอารยธรรมได้มีการคิดพิธีกรรมเพื่อบูชาเทพเจ้า/เทวดา ขอให้เหตุการณ์ร้ายๆ ไม่เกิดขึ้น หรือ ผ่อนหนักเป็นเบา เป็นต้น และเมื่อมีการพยากรณ์เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคน ผู้พยากรณ์จะพิจารณาว่า เมื่อดาวเคลื่อนที่ไปสถิตที่ราศีใด คนเกิดในขณะที่ดาวนั้นอยู่ราศีนั้นมีรูปร่าง มีนิสัยใจคอ และดวงชะตา ตามคำพยากรณ์ที่บันทึกสถิติไว้
ดังนั้น กล่าวได้ว่า โหราศาสตร์อยู่คู่วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาช้านานจากยุคโบราณจวบจนปัจจุบันในยุคที่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิต และศาสตร์นี้ยังคงอยู่กับวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกคนต่อไป
โหราศาสตร์และพุทธศาสนา
เป็นที่ทราบกันดีว่าในพุทธประวัตินั้น เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูตินั้น พระเจ้าสุทโธทนะ (พระราชบิดา) ได้ให้โหราจารย์ถึง 7 ท่าน ร่วมกันพยากรณ์ดวงชะตาของพระองค์ และภายหลังที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว เกิดเหตุการณ์ที่พระสาวกของพระพุทธองค์ถูกพวกโจรฆ่าตาย
และพระสาวกที่รอดชีวิตได้เฝ้าทูลถามพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า สมณะทั้งหลายควรรู้ฤกษ์ยามไว้ ไม่เช่นนั้นก็อาจเป็นอันตรายแก่ตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับหลักพุทธศาสนาเรื่องสัปปุริสธรรม 7 หัวข้อ “กาลัญฺญุตา” คือจะทำอะไรให้รู้จักกาลเวลาที่เหมาะสม ซึ่งตรงกับหลักการคือ “ฤกษ์” ในทางโหราศาสตร์
ในทำนองเดียวกัน เทพย์ สาริกบุตร อธิบายว่า วิชาโหราศาสตร์เป็นวิชาที่พยากรณ์ผลกรรมของมนุษย์ โดยพุทธศาสนาอาศัยเหตุเป็นตัวพยากรณ์ผล ส่วนโหราศาสตร์อาศัยดวงดาวเป็นตัวพยากรณ์เหตุการณ์ นิสัยใจคอ และ วิถีชีวิตของแต่ละคน
ทั้งนี้ ผลกรรมของมนุษย์ตามพุทธภาษิตในกัมมวิภังสูตรแสดงผลแห่งกรรม 14 ประการ คือ อายุยืน อายุสั้น ร่างกายแข็งแรง ร่างกายอ่อนแอ รูปลักษณ์ผิวพรรณดี รูปลักษณ์ขี้เหร่ผิวพรรณไม่ดี มีอำนาจวาสนา ไร้อำนาจวาสนา ร่ำรวย ยากจน เกิดในตระกูลดี เกิดในตระกูลต่ำ ปัญญาดี โง่เขลา แต่ในโลกความจริงปรากฏว่า บางคนที่โง่เขลากลับมีชีวิตที่สุขสบาย
บางคนมีปัญญาดีแต่ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ก็มี บางคนเคยเป็นเศรษฐีมั่งคั่งในช่วงต้นชีวิตแต่กลับยากจนในบั้นปลายชีวิตก็มี ซึ่งส่วนหนึ่งกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของ กรรมลิขิต หรือ กฎแห่งกรรม แม้ว่า คำสอนของพุทธศาสนาเรื่องการทำความดี ไม่ต้องหาฤกษ์ยาม จะมีความสมเหตุสมผล เพราะการทำความดีนั้นนำความปิติสุขมาให้ผู้ปฏิบัติดีโดยตรงอยู่แล้ว เช่น การอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ไม่จำเป็นต้องหาฤกษ์งามยามดี เพราะวัตถุประสงค์มีความชัดเจนในเรื่องการฝึกตนและมุ่งทำความดีเพื่อมนุษยชาติ สะดวกเมื่อใดก็ถือว่าเป็นเวลาที่เป็นมงคล
แต่เมื่อจะลาสิกขา สึกออกมาเป็นปุถุชนใช้ชีวิตทางโลกอีกวาระหนึ่ง พระอาจารย์จะหาฤกษ์สึกที่เป็นสิริมงคลกับชีวิตของผู้ขอลาสิกขา และมี หลักฐานเพิ่มเติมว่าในแนวทางปฏิบัติในพุทธศาสนามีการนำหลักโหรศาสตร์มาปรับใช้เป็นเวลาช้านานแล้ว เช่น วันธรรมสวนะ หรือ วันพระ ที่เป็นวันรักษาศีล ละเว้นการทำบาป ได้แก่ วันแรม 15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ และขึ้น 8 ค่ำ ของทุกๆ เดือน
ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ของโลกทำมุมเบียฬกัน (ดาวทำมุมที่ส่งผลเสียต่อกัน) ส่งผลให้จิตใจมนุษย์ในช่วงวันดังกล่าวมีแนวโน้มทำบาปได้ง่าย พระพุทธเจ้าจึงใช้กุศโลบายกำหนดให้เป็นวันพระเพื่อให้มนุษย์ไม่ทำชั่วและเจริญสติ
โฆษณา