4 พ.ย. 2022 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก
นอแรดกำลังหดสั้นลง
ทุกวันนี้ การล่าแรดเพื่อขโมย ‘นอ’ ยังถือเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่ทำให้จำนวนแรดหลายสายพันธุ์ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะในแอฟริกาที่เป็นบ้านหลังใหญ่ของแรดขาวและแรดดำ มีแรดถูกล่าเฉลี่ยวันละ 1 ตัว เลยทีเดียว
มากไปกว่าเรื่องจำนวนที่ลดลง งานวิจัยล่าสุด ยังพบอีกว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา นอของแรดเริ่มมีขนาดที่เล็กลงเรื่อยๆ
สาเหตุที่ทำให้แรดในยุคปัจจุบันมีขนาดของนอที่เล็กลง นักวิจัยวิเคราะห์ว่าเป็นผลมาจากที่แรดนอใหญ่มักตกเป็นเป้าหมายในการล่าลำดับต้นๆ อยู่เสมอ
นั่นจึงทำให้พันธุกรรมของแรดที่มีนอขนาดใหญ่เริ่มลดน้อยลง เหลือแต่แรดที่มีนอขนาดเล็กเป็นผู้ถ่ายโอนพันธุกรรมไปยังแรดรุ่นถัดไป โดยเฉพาะกับแรดฝั่งแอฟริกาที่พบอัตราการเปลี่ยนแปลงขนาดของนอบ่อยกว่าแรดในเอเชีย
“ในกรณีของแรด ผู้คนมักต้องการนอที่ใหญ่ที่สุดเสมอ” ออสการ์ วิลสัน นักศึกษาระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ และผู้เขียนงานวิจัยอธิบาย เขาบอกว่าเพราะนอที่ใหญ่ย่อมขายได้ราคาสูงกว่า
งานวิจัยนี้ เกิดขึ้นจากการศึกษาคลังภาพถ่ายและผลงานศิลปะในเอกสารเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับแรดมากกว่า 4,000 ตัว จากทั้ง 5 สายพันธุ์ ที่ยังเหลืออยู่บนโลก ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 1481 ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ The Rhino Resource Center (RRC) คลังข้อมูลออนไลน์ที่รวบรวมเรื่องราวของแรดไว้เป็นจำนวนมาก
ในเรื่องที่ใกล้เคียงกัน ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งอธิบายว่า ช้างแอฟริการุ่นใหม่วิวัฒนาการให้งาหายไป เพื่อเอาชีวิตรอดจากพรานล่าสัตว์
นักชีววิทยาระบุว่า ช้างพังหรือช้างตัวเมียที่ไม่มีงา มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน โดยจำนวนของช้างพังไร้งาเพิ่มขึ้นจาก 18.5% ของประชากรช้างทั้งหมดในอุทยานแห่งชาติโกรองโกซา มาเป็น 33% ในช่วงเวลาเพียง 3 ทศวรรษ (ระหว่างปี 1977-2004)
[ย้อนอ่าน ช้างพังไร้งา เป็นเพราะวิวัฒนาการหรือสูญเสียพันธุกรรม https://shorturl.asia/0OU6P]
ในธรรมชาติ ‘นอ’ ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของแรด
ถ้าแรดตัวแม่ไม่มีนอ เธอจะไม่สามารถปกป้องลูกจากสิงโต เสือดาว ไฮยีน่า สุนัขป่า และจระเข้แม่น้ำไนล์ (แรดฝั่งแอฟริกามีพฤติกรรมการต่อสู้โดยใช้นอ ส่วนแรดในเอเชียมักใช้ฟันเป็นอาวุธ)
แต่ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ขบวนการลักลอบล่าสัตว์ป่าได้ฆ่าแรดไปนับไม่ถ้วน เพื่อเอานอไปขายต่อให้กับพ่อค้ายาแผนโบราณในประเทศจีนและเวียดนาม
ในตำรับยาแผนโบราณได้ระบุสรรพคุณของนอแรดว่าสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการรักษาโรคได้อย่างหลากหลาย อาทิ ไข้หวัด โรคไขข้อ โรคเกาต์ ไทฟอยด์ ปวดหัว อาหารเป็นพิษ แม้กระทั่งขับไล่ภูติผีปีศาจ
แต่โดยความเข้าใจของประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่เชื่อว่ามีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง
1
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบโดยการแพทย์วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ไม่พบสรรพคุณทางยาใดๆ ในนอแรด และนอแรดแท้จริงก็เป็นเพียงเคราตินแบบเดียวกับเล็บมือเล็บเท้าของมนุษย์
ส่วนในประเทศเวียดนาม พบว่า นอแรดเป็นเครื่องมือในการแสดงสถานะทางสังคมมากกว่านำไปใช้ประโยชน์ทางยา
1
#IsLIFE #Rhino #Horn #Extinction
อ้างอิง
Image-based analyses from an online repository provide rich information on long-term changes in morphology and human perceptions of rhinos https://shorturl.asia/YK2zG
Rhino horns have become shorter in past century, study finds https://shorturl.asia/2AlJ6
Why Rhinos Need Their Horns https://shorturl.asia/xv6EV
25 Things you might not know about rhino https://shorturl.asia/oJTLY
Photo : jean wimmerlin
โฆษณา