7 พ.ย. 2022 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก
นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเยือนจีน จะเป็นการส่งสัญญาณถึง "สมการ" ขั้วใหม่ของโลก หรือไม่?
นายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีนำคณะนักธุรกิจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ 12 บริษัทในภาคอุตสาหกรรมเยอรมัน เยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 เป็นการส่งสัญญาณว่า...
วอชิงตันไม่สามารถกำหนดนโยบายต่างประเทศของเบอร์ลินได้
รัฐบาลเยอรมนีกำลังถึงทางตันในวิกฤตพลังงาน เมื่อไม่สามารถเจรจาและยอมรับในข้อตกลงเรื่องการส่งก๊าซจากรัสเซียได้ ทำให้พลังงานสะสมในประเทศไม่เพียงพอ เกิดปัญหาราคาพลังงานที่สูงขึ้น จนต้องเผชิญแรงกดดันจากภาคครัวเรือนประชาชน ที่ต้องหันมากักตุน "ฟืน" เพื่อใช้สำหรับฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง และที่สำคัญคือแรงกดดันจากภาคธุรกิจ ทำให้เยอรมนีต้องชั่งน้ำหนักเรื่องผลประโยชน์
ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่า "อาการน่าเป็นห่วง" นั้น จีนซึ่งปัจจุบันถืออำนาจต่อรองในทางธุรกิจกับเยอรมนี และเป็นแรงสนับสนุนในการต่อรองพลังงานกับรัสเซีย จึงเป็นตัวเลือกที่รัฐบาลเยอรมนีกลับลำหันหน้ามาจับมืออย่างไม่สนใจต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา
1
เยอรมนีภายใต้การบริหารในยุคของอดีตนายกรัฐมนตรีแกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์ และอดีตนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ได้ยกให้จีนเป็นชาติคู่ค้าสำคัญที่สุด ทั้งในด้านการส่งออกและนำเข้า เมื่อมาถึงยุคนายโอลาฟ ชอลซ์ ได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อลดการพึ่งพาจีน และสร้างความหลากหลายด้านห่วงโซ่อุปทาน
และเมื่อนายชอลซ์ เปลี่ยนแนวความคิด ได้กล่าวในการประชุมภาคธุรกิจที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ว่ารัฐบาลเยอรมนีให้ความสำคัญกับโลกาภิวัตน์ จึงไม่จำเป็นต้องแยกตัวจากชาติหนึ่งชาติใด เยอรมนียังจำเป็นต้องทำธุรกิจกับจีน การเลิกพึ่งพาจีนจะเป็นหนทางที่ผิดพลาด
1
ประธานาธิบดีเยอรมนีได้ส่งสาส์นอวยพรไปยังประเทศจีน เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเยอรมนีและจีน ซึ่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็เรียกร้องให้เบอร์ลินมองวาระการครบรอบนี้เป็นโอกาสที่จะนำความสำเร็จร่วมกันในอดีตมาผลักดันเพื่อก้าวไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง
จีนเป็นตลาดหลักสำหรับอุปทานสินค้าของเยอรมนี โดยเฉพาะเครื่องจักรต่าง ๆ ตลอดจนรถยนต์ที่ผลิตโดยโฟล์คสวาเกน, บีเอ็มดับบลิว และเมอร์เซเดสเบนซ์
ล่าสุด รัฐบาลเยอรมนีได้อนุมัติให้จีนซื้อหุ้นบริษัทคอสโก (Cosco) ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการขนส่งในเยอรมนี ในสัดส่วน 35% ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดการลงทุนต่างชาติไว้สูงสุด 24.9% รวมทั้งยังมีการลงทุนในบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ในเยอรมนี ทั้งที่สหรัฐอเมริกาได้ผลักดันให้มีการคว่ำบาตรจีนในเรื่องนี้
ในการที่เยอรมนีไปเยือนจีนครั้งนี้ ถือว่าเป็นการกระชับความร่วมมือในหลากหลายด้าน และเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายวางแผนการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในอนาคต ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวว่า
จีนและเยอรมนี ซึ่งเป็นสองประเทศขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพล ต้องทำงานร่วมกันในห้วงยามแห่งการเปลี่ยนแปลงและความไม่มั่นคง รวมทั้งมีส่วนสนับสนุนสันติภาพและการพัฒนาทั่วโลกมากขึ้น ท่ามกลางภูมิทัศน์ระหว่างประเทศอันสลับซับซ้อนและผันผวน
ก่อนหน้าที่จะไปเยือนจีนนั้น นายชอลซ์ ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อเข้าพบมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และยังได้เดินทางไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ด้านพลังงาน พร้อมทั้งขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีในการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน
เมื่อเดือนกันยายน 2565 รัฐบาลเยอรมันได้ตัดสินใจเข้ายึดและควบคุมกิจการในเครือของ รอสเนฟต์ (Rosneft) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัสเซียที่ดำเนินกิจการอยู่ในเยอรมนี มีสัดส่วนของกำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศประมาณ 12% โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเครือข่ายรัฐบาลกลาง (Federal Network Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเศรษฐกิจและสภาพอากาศ ของเยอรมนี โดยนายชอลซ์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า
เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านแหล่งพลังงาน รัฐบาลจำเป็นจะต้องดำเนินการเช่นนี้ แม้จะเป็นการไม่สุภาพซักเท่าไหร่ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของการปกป้องประเทศของเรา
แม้ว่า เยอรมนีจะคัดค้านสหภาพยุโรปที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรก๊าซจากรัสเซียมาตั้งแต่ต้น เพราะคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดผลกระทบต่อเยอรมนีเอง และเมื่อรัสเซียกลับถืออำนาจต่อรองเหนือกว่า จึงทำให้สหภาพยุโรปซึ่งรวมทั้งเยอรมนีเองได้รับผลกระทบขาดแคลนพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากเยอรมนีแก้เกมส์นี้ไม่สำเร็จคงเกิดผลกระทบห่วงโซ่อุปทานไปทั่วโลกอย่างแน่นอน.
ข้อมูลบางส่วนจาก : สำนักข่าว รอยเตอร์ส, ซินหัว, AP และ CNN
โฆษณา