10 พ.ย. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
ในช่วงท้ายของชีวิต ไอน์สไตน์ชอบเดินท่อม ๆ แถวมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ที่ซึ่งเขาเป็นอาจารย์ประจำ ทักทายเด็กและเล่นกับทารก
ปล่อยตัวตามสบาย เส้นผมสีขาวโพลน สวมเสื้อนอกลุ่ยรุ่มร่าม และไม่สวมถุงเท้า 'เปลือก' ของเขาดูไม่เหมือนนักวิทยาศาสตร์ปราดเปรื่องผู้ที่ประชากรทั้งโลกรู้จัก
บ่ายวันหนึ่งขณะที่เดินอยู่แถวสถาบันเพื่อการศึกษาชั้นสูง ในพรินซ์ตัน ไอน์สไตน์ได้ยินเสียงเด็กร้องไห้ เขาเดินไปตามต้นเสียงจนพบเด็กหญิงคนหนึ่ง จำได้ว่าเป็นลูกสาวของเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในคณะ เมื่อถามเด็กหญิงว่าร้องไห้ทำไม เธอตอบว่าเธอเรียนวิชาเลขคณิตที่ครูสอนไม่ค่อยทัน เพราะมันมีกฎมากมาย
ไอน์สไตน์บอกว่า เขาเองก็มีปัญหากับตัวเลขเช่นกัน แต่บางทีหากพวกเขาทั้งสองนั่งลงแก้ปัญหาด้วยกัน สถานการณ์อาจจะดีขึ้นก็ได้
2
บ่ายนั้นไอน์สไตน์นั่งขบคิดวิชาเลขคณิตกับเด็กหญิงคนนั้นด้วยความทรมานพอควร แม้จะเป็นนักฟิสิกส์ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลข้ามจักรวาล
1
แต่เขาไม่จัดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการคำนวณ และต้องพึ่งนักคณิตศาสตร์ช่วยในสมการของเขา อย่างไรก็ตามบ่ายวันนั้นเขาก็สามารถทำให้เด็กหญิงเรียนรู้จนได้
2
ช่วงเวลานั้น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นคนมีชื่อเสียงก้องโลกแล้ว สถานภาพของเขาอยู่ในขั้น 'ดารา' แน่นอนจดหมายมากมายจากทั่วโลกหลั่งไหลถึงเขา ส่วนใหญ่มาจากเด็ก ๆ ตั้งคำถามทุกประเภท
บางคนส่งรูปภาพที่วาด ภาพถ่าย ของขวัญชิ้นเล็ก ที่น่าประหลาดใจสำหรับคนส่วนมากก็คือ ไอน์สไตน์มักตอบจดหมายเหล่านั้น
1
เด็กชาวแอฟริกาใต้คนหนึ่งเขียนจดหมายไปขอลายเซ็นของไอน์สไตน์ ข้อความในจดหมายบอกว่า ปกติเขาไม่ใช่คนที่ชอบขอลายเซ็นของใคร แต่กรณีของไอน์สไตน์เป็นข้อยกเว้น ส่วนเหตุที่เพิ่งมาขอลายเซ็นเพราะเพิ่งรู้ว่าไอน์สไตน์ยังไม่ตาย ตนคิดว่าไอน์สไตน์เป็นคนรุ่นเดียวกับ เซอร์ ไอแซค นิวตัน ในศตวรรษที่ 17
17
ไอน์สไตน์ตอบจดหมายฉบับนั้นกลับไปว่า ขอโทษด้วยนะที่ฉันยังไม่ตาย !
15
เด็กชาวแคนาดาคนหนึ่งเขียนถึงไอน์สไตน์ว่า "คุณมีตัวตนจริงหรือเปล่า ? หรือว่าเป็นเพียงตัวละครในการ์ตูน ?"
4
ไอน์สไตน์ชมชอบจดหมายเหล่านี้มาก เก็บรักษาเอาไว้ไม่น้อย ดูเหมือนว่าวัยมิได้ลดทอนความเป็นเด็กของเขาลงเลย
4
ผมชอบไอน์สไตน์ไม่ใช่ตรงที่ความฉลาดเหนือมนุษย์ของเขา แต่ชอบที่การดำเนินชีวิตของเขา ไอน์สไตน์เป็นตัวอย่างของพวก 'สูงสุดคืนสู่สามัญ' เป็นคนคนหนึ่งที่บังเอิญปราดเปรื่องและมีชื่อเสียง
5
ความปราดเปรื่องของเขาอยู่ที่การเข้าใจเลือกวิถีชีวิตแห่งความสุขสงบ เลือกการเรียนรู้ไม่ใช่การเล่าเรียน เลือกสันติไม่ใช่สงคราม แต่คุณลักษณะที่สำคัญที่สุดคือ ความถ่อมตัวที่มีอยู่อย่างล้นเหลือ ความไม่เสแสร้ง และอารมณ์ขัน
10
ยากมาก ๆ ที่ใครคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งชื่อเสียงและการยอมรับขนาดนี้จะไม่เหลิง ยิ่งยากนักในการปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า อำนาจ เมื่อรัฐอิสราเอลถือกำเนิด ไอน์สไตน์ปฏิเสธที่จะเป็นใหญ่ทางการเมือง และใช้ชีวิตเรียบง่ายในชุมชนเล็ก ๆ ห่างไกลจากบ้านเกิด
7
เมื่อนิตยสารไทม์เลือกบุคคลแห่งศตวรรษ (Person of the Century คือบุคคลที่ส่งผลกระทบต่อโลกมากที่สุดในศตวรรษ) พวกเขามีรายชื่อของบุคคลในศตวรรษที่ 20 จำนวนมากมาย ทั้งคนที่สร้างสรรค์และทำลาย เช่น เลนินผู้เปลี่ยนแปลงโลกสู่สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ฮิตเลอร์ผู้นำโลกสู่ความหายนะ เชอร์ชิลล์ผู้หาญสู้อำนาจฟาสซิสต์ของฮิตเลอร์ ประธานาธิบดีแฟรงกลิน รูสเวลท์ ผู้นำพาอเมริกาผ่านวิกฤติเศรษฐกิจและสงครามโลกครั้งที่สอง
1
รายชื่อนี้ยังรวมถึงผู้ที่เลือกต่อสู้ตามวิถีที่ไม่รุนแรง มหาตมะ คานธี ผู้นำพาผู้คนทั้งชาติต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษด้วยหลักอหิงสา มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้ต่อสู้เพื่อทำลายกำแพงสีผิว โรซา พาร์กส์ ผู้ไม่ยอมสละที่นั่งบนรถเมล์ให้คนขาว ไปจนถึงประชาชนผู้หาญต้านรถถังที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
3
รายชื่อในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 และนักประดิษฐ์ที่เปลี่ยนแปลงโลก
3
แต่ทำไมไทม์เลือกไอน์สไตน์ ?
2
คำตอบอาจเพราะความเป็นไอน์สไตน์นั้นรวมเอาคุณสมบัติของผู้สร้างสรรค์ นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ นักต่อสู้แบบอหิงสาทั้งหมดเข้าด้วยกัน !
1
ไอน์สไตน์เกลียดสงคราม เป็นผู้ที่ใช้จินตนาการรวมเข้ากับวิทยาศาสตร์อย่างสวยงาม นำไปสู่การค้นหาความจริงในมุมมองของจักรวาล ซึ่งย้อนกลับมาทำให้เราเข้าใจวิถีของสิ่งมีชีวิต
4
ไอน์สไตน์ล้มป่วยเมื่ออายุสี่ขวบ พ่อให้เข็มทิศอันหนึ่งแก่เขา เด็กน้อยหมกมุ่นกับเข็มทิศนั้นด้วยความพิศวง เพราะไม่ว่าหมุนไปทางไหน เข็มก็ชี้ไปในทางเดียวกันเสมอราวกับมีอำนาจลึกลับบางอย่างกำหนดทิศทางของมัน
เขารู้สึกแปลกใจมาก เข็มทิศทำให้เขาคิดว่ามีบางสิ่งซ่อนเร้นลึกอยู่เบื้องหลัง เขาเริ่มสัมผัสธรรมชาติในมุมมองของวิทยาศาสตร์
เข็มทิศอันนั้นมิเพียงชี้ทิศบนโลกใบนี้ หากยังชี้ทางใหม่ให้ชีวิตของเขา ทางสายวิทยาศาสตร์
3
แต่วิทยาศาสตร์โดยตัวมันเองเป็นเพียงกระบวนการ ไม่ใช่จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ จุดหักเหอาจจะเกิดจากการที่แม่ของไอน์สไตน์แนะนำให้เขารู้จักดนตรี
2
เข็มทิศชี้ทางไปสู่การค้นหาความจริง เสียงไวโอลินเชื้อเชิญให้เขาเปิดหัวใจ
นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ตลอดชีวิต ไอน์สไตน์พกพาไวโอลินไปตามที่ต่าง ๆ และเป็นนักเล่นไวโอลินที่มีฝีมือ
1
จินตนาการ วิทยาศาสตร์ กับความเป็นมนุษย์ เป็นส่วนประกอบที่ลงตัวในการสร้างบุคคลเช่นไอน์สไตน์
2
การศึกษาหาความลับของจักรวาลผ่านทฤษฎีทั้งหลายของเขา ทำให้เขาซาบซึ้งถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและความกระจ้อยร่อยกระจิริดของมนุษย์ จักรวาลวิทยาทำให้พบเห็นว่ามนุษย์เรานั้นเป็นเพียงการประกอบรวมกันของธาตุ
5
เราเป็นเพียงธุลีหนึ่งในจักรวาลไอน์สไตน์บอกว่า ยิ่งเรียนรู้ความลับของธรรมชาติจากเรื่องอะตอม แรงลึกลับทั้งหลาย ยิ่งทำให้มนุษย์เราต้องถ่อมตนและสันโดษ
สรรพสิ่งสัมพัทธ์กันไปหมด !
2
ไอน์สไตน์เขียนในปี พ.ศ. 2474 ว่า "ผมเตือนตัวเองนับร้อยครั้งต่อวันว่า ชีวิตของผมทั้งภายในและเปลือกนอกล้วนมีฐานบนแรงงานของผู้อื่น ทั้งที่ยังมีชีวิตและที่ตายไปแล้ว ผมต้องใช้ความสามารถทุกอย่างของตนเพื่อที่จะให้ในระดับเดียวกับที่ผมได้รับและกำลังรับอยู่"
5
ไอน์สไตน์พร่ำพูดให้เห็นคุณค่าของมนุษย์ คุณค่าของเสรีภาพ ความไม่รุนแรง อันตรายของลัทธิทหาร และความคลั่งชาติ
4
แปดปีต่อมาโลกก็เข้าสู่สงครามที่ทำลายชีวิตมนุษย์หลายสิบล้านคน
แม้ไอน์สไตน์จะเป็นผู้ชื่นชมวิถีอหิงสาอย่างคานธี และเช่นเดียวกับคานธี เขาเป็นนักมนุษย์นิยม นักต่อต้านสงคราม แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ เขาก็แนะนำให้ประธานาธิบดีรูสเวลท์ใช้ระเบิดปรมาณู
1
เมื่อข่าวการทำลายล้างฮิโรชิมามาถึงเขา ไอน์สไตน์กุมศีรษะอย่างสลดใจต่อบทบาทของตน ความเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ถูกสั่นคลอน เรื่องนี้สร้างความเศร้าใจแก่เขาตลอดชีวิต
ยิ่งแก่ตัวลงเขาก็ยิ่งปล่อยวางมากขึ้น ใช้ชีวิตเรียบง่ายไม่ต่างจากนักบวช คือไม่ได้สนใจในชื่อเสียงเงินตรา
4
ไอน์สไตน์เขียนในปี พ.ศ. 2477 ว่า "คุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์ถูกกำหนดเบื้องแรกจากมาตรการและสำนึกในการปลดปล่อยตัวเอง การปลดปล่อยนี้ไม่ใช่เฉพาะอิสรภาพจากความหลงตัวเอง แต่จากเปลือกความเชื่อของศาสนาที่ห้ามโต้แย้ง"
5
มนุษย์เราทุกคนต้องการทั้งความรู้และความรัก ต้องการทั้งเข็มทิศกับไวโอลิน
1
ความรู้คือประตูเปิดโลก
1
ความรักคือหน้าต่างเปิดหัวใจ
บ่ายนั้นเด็กหญิงกลับบ้านพร้อมเข็มทิศของวิชาเลขคณิต
ไอน์สไตน์กลับบ้านไปเล่นไวโอลิน...
(จากหนังสือ หัวกลวงในหลุมดำ)
โฆษณา