10 พ.ย. 2022 เวลา 02:00 • ธุรกิจ
Google เปิดรายงาน e-Conomy SEA Report 2022 เศรษฐกิจดิจิทัลไทยโต17% โดยกว่า 50% ของผู้บริโภคนิยมใช้บริการซื้อของออนไลน์
รายงานของ Google ประเทศไทย ระบุว่า มูลค่าสินค้ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตสู่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 20% จากปีที่ผ่าน
โดย แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับที่ 7 ในปีนี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วภูมิภาคมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคในช่วงเวลาอันยากลำบากที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยปีนี้การเติบโตจากภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย รวมทั้ง ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยยังคงมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย
รายงานฉบับนี้ได้เจาะลึกถึงแนวโน้มและข้อมูลเชิงลึกในภาคธุรกิจต่างๆ ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยวออนไลน์ การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ สื่อออนไลน์ และบริการด้านการเงินดิจิทัล รวมทั้งครอบคลุมถึงสถานะและแนวโน้มของการระดมทุนในภาคเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเน้นย้ำถึงบทบาทของผู้บริโภค ธุรกิจ นักลงทุน และภาครัฐในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
สำหรับประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าสินค้ารวมสูงถึง 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 17% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าอยู่ที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถึงแม้ว่าต้องรับมือกับความท้าทายต่างๆ ก็ตาม
ทั้งนี้คาดว่าในปี 2568 มูลค่าสินค้ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะแตะ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 15% และคาดว่าจะเติบโตขึ้น 2 เท่า มีมูลค่าประมาณ 1-1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี2573 อีคอมเมิร์ซ บริการส่งอาหารออนไลน์ และการซื้อของสดออนไลน์ เป็นบริการดิจิทัล 3 อันดับแรกที่มีอัตราการใช้บริการสูงที่สุดในกลุ่มคนไทยที่อยู่ในเขตเมือง
ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยมีดังนี้
อีคอมเมิร์ซ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย คิดเป็น 63% ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมในปี 2565 โดยตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ในขณะที่อัตราการใช้บริการอีคอมเมิร์ซของไทยอยู่ที่ 94% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคฯ รองจากสิงคโปร์
ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น 8% จากปีก่อน โดยมีมูลค่าสินค้ารวมสูงถึง 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และคาดว่าจะแตะ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568
23% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยตั้งใจจะใช้บริการอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ โดยรวมคาดจะว่ามีมูลค่าสินค้ารวมแตะ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 เพิ่มขึ้น12% จากปี 2564 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 20% หรือแตะ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568
ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์กลับสู่แนวโน้มการเติบโตในทิศทางเดิมหลังจากที่มีการเติบโตถึง 3 เท่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยคาดว่าจะเติบโต 11% มีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และคาดว่าจะแตะถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ซึ่งจะทำให้ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์ของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย
ภาคการขนส่งคาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 36% มีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และพุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568
สื่อออนไลน์ (บริการวิดีโอออนดีมานด์ เพลงออนดีมานด์ เกม) มีการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมาที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์สืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19
โดยในปี 2565 มีการเติบโต 10% และมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การเติบโตของเพลงออนดีมานด์และวิดีโอออนดีมานด์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ด้านโฆษณาออนไลน์ยังคงรักษาการเติบโตไว้ได้คงเดิม ส่วนเกมออนไลน์พบว่าการใช้บริการลดลงเนื่องจากผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภาคธุรกิจสื่อออนไลน์จะเติบโต 12% หรือคิดเป็นมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568
การท่องเที่ยวออนไลน์ คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการที่ผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยวหรือออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านกันมากขึ้น ซึ่งมีระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีการเติบโต 139% จากปี2564 คิดเป็นมูลค่าสินค้ารวม 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 2565 และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 22% หรือมีมูลค่าสินค้ารวมที่ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 การค้นหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในไทยแตะระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่ถูกอั้นไว้ ทั้งนี้ คาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะค่อยๆ ฟื้นตัว และใช้เวลาอีกหลายปีในการฟื้นตัวสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19
ในปี 2562 เนื่องจากมีความท้าทายหลายประการ เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น การขาดแคลนของอุปทาน และมาตรการจำกัดการเดินทางของประเทศจีนที่ยังคงดำเนินต่อไป เป็นต้น ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบจากราคาที่พุ่งสูงขึ้น
บริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services: DFS) ซึ่งได้แก่ การชำระเงิน การโอนเงินต่างประเทศ การกู้ยืม การลงทุน และประกัน เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักในปี 2565 เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้นหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
การเติบโตของบริการด้านการเงินดิจิทัลจากนี้ไปจนถึงปี 2568 จะถูกขับเคลื่อนโดยการกู้ยืมและการลงทุนซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compounded Annual Growth Rate: CAGR) ประมาณ 40% และ 45% ตามลำดับ บริการธนาคารดิจิทัล (Digibank) ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยยังคงมีความภักดีต่อผู้ให้บริการด้านการเงินที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างยาวนาน พิจารณาจากยอดเงินฝากในปัจจุบันและการลงทุนในหลายด้าน
การลงทุนด้านเทคโนโลยี มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
มูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จนถึงครึ่งแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 15% การระดมทุนในภาคเทคโนโลยียังคงแข็งแกร่ง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นแหล่งรวมการลงทุนด้านเทคโนโลยี ถึงแม้ว่านักลงทุนจะระมัดระวังมากขี้นในสภาวะเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบัน
การลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services: DFS) มีสัดส่วนการลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 การลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัลแซงหน้าอีคอมเมิร์ซขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนเกือบครึ่งของการลงทุนทั้งหมดในไทยเช่นเดียวกับทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลค่าการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนระดับ Series-C จำนวนมากในภาคธุรกิจบริการด้านการเงินดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ
โฆษณา