13 พ.ย. 2022 เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สถานการณ์โควิดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาให้ ทำให้หลายธุรกิจต้องผันตัวเองมาขายของออนไลน์ เข้าสู่ตลาด E-Commerce อย่างเต็มตัว เพราะการ Lockdown ทำให้คนไม่สามารถออกไปซื้อของได้ ต้องสั่งผ่านออนไลน์เท่านั้น
การแข่งขันใน E-Commerce จึงสูงขึ้นเรื่อย ๆ และผู้บริโภคก็ถูกจูงใจได้ง่าย ๆ ด้วยกิจกรรมทางการตลาด ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยแบรนด์ให้สามารถอยู่รอดได้ นั้นก็คือการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับกลยุทธ์ของธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วันนี้เราจึงจะพาทุกคนมารู้จัก 3 ตัวชี้วัดหลักของ E-Commerce ที่จะมาช่วยให้คุณวิเคราะห์ข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย!
ทุกคนคงรู้ดีว่า E-commerce เป็นวงการที่โหดเหี้ยมและจะยิ่งมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากเหตุการณ์โรคระบาดที่ทุกคนออกไปไหนไม่ได้ ทำให้ยอดขายผ่านทาง E-commerce เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงสามเดือน ซึ่งเทียบได้กับการเติบโตเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และก็ไม่มีแนวโน้มว่าอัตราการเติบโตจะลดลงเลย แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยนั้นจะขายสินค้าได้ง่ายขึ้น (E-commerce และการวิเคราะห์ข้อมูล)
ร้านค้าออนไลน์ประสบปัญหาเนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นและลูกค้าประจำลดฮวบลง ในขณะที่นักช้อปออนไลน์มักจะถูกจูงใจได้ง่าย ๆ ด้วยปัจจัยทางด้านราคาและระยะเวลาในการจัดส่ง รวมไปถึงโจทย์ใหญ่ ๆ เช่น การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและการช่วยเหลือลูกค้า จึงไม่มีช่วงเวลาไหนเลยที่ผู้ประกอบการจะได้พักให้หายเหนื่อยได้เลย
ดังนั้นการวิเคราะห์ข้อมูลจึงมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในการทำ E-commerce ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทราบว่าขณะนี้ร้านมียอดขายเพิ่มขึ้นหรือลดลง ลูกค้าเข้ามาหามากที่สุดในช่องทางไหน ลูกค้ากลุ่มไหนที่ใช้เงินมากที่สุดหรือเป็นลูกค้าประจำ ฯลฯ
แต่การวิเคราะห์ข้อมูลก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีข้อมูล ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องติดตามผลและเก็บข้อมูลตัวชี้วัดของอีคอมเมิร์ซหรือ E-commerce Metrics ที่ถูกต้องเพื่อให้นักวิเคราะห์สามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ ไม่เช่นนั้นคุณจะไม่รู้ว่าอะไรที่คุณทำถูกแล้ว (หรือทำไม่ถูก) และระบุได้ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อเพิ่มรายได้และทำผลกำไรให้ดีขึ้น
แต่ละบริษัทอาจมีตัววัดที่ตอบโจทย์เป้าหมายธุรกิจที่แตกต่างกัน แต่ก็มีตัวชี้วัดบางตัวที่มักจะเป็นตัวชี้วัดหลักที่ใช้ได้กับเกือบทุกรูปแบบธุรกิจ ซึ่งตัวชี้วัดเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการวิเคราะห์ข้อมูล และตัวชี้วัดต่อไปนี้ก็คือตัววัดประสิทธิภาพธุรกิจที่ธุรกิจ E-commerce ทุกรายควรติดตามผล เพื่อให้เราได้ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ต่อได้และเกิดความเข้าใจเชิงลึกในข้อมูล
1. มูลค่าคำสั่งซื้อโดยเฉลี่ย (Average Order Value)
มูลค่าคำสั่งซื้อโดยเฉลี่ย หรือ Average Order Value (AOV) หมายถึงจำนวนเงินเฉลี่ยของคำสั่งซื้อแต่ละยอดในเว็บไซต์หรือแอปมือถือของคุณ มันเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการติดตามผลรายได้เนื่องจากมันหารรายได้ของคุณตามคำสั่งซื้อ จึงเป็นการโฟกัสที่รายได้ต่อธุรกรรมแทนที่จะเป็นจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้นหรือจำนวนเงินที่คุณได้
เพราะยอดขายอาจทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจผิดได้ เนื่องจากบางทียอดขายทำให้คุณรู้สึกว่าคุณขายได้เยอะ แต่ว่าแต่ละรายการนั้นได้จำนวนเงินที่ต่ำมาก AOV ช่วยให้คุณมองเห็นภาพชัดเจนของแนวโน้มรายได้ของคุณ
AOV ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่สำคัญในบริษัทอีคอมเมิร์ซ เช่นจะเพิ่มหรือลดราคาหรือเปลี่ยนทิศทางการทำการตลาดไปดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังจ่ายสูงขึ้น AOV ที่ต่ำอาจเป็นสัญญาณว่าคุณต้องเพิ่มมูลค่าต่อคำสั่งซื้อ ตัวอย่างเช่น กำหนดยอดซื้อขั้นต่ำที่จะได้การจัดส่งฟรี เพื่อกระตุ้นให้ผู้ซื้อเพิ่มรายการสินค้าสองสามอย่างลงตะกร้าหรือนำเสนอชุดสินค้าหลายอย่างรวมกันที่มีมูลค่าสูงกว่าเพื่อจะกระตุ้นให้ลูกค้าใช้เงินมากขึ้นอีกนิดในแต่ละคำสั่งซื้อ
นอกจากนี้ AOV ยังเป็นตัววัดที่สำคัญสำหรับการคำนวณต้นทุนและค่าใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น ถ้า AOV ของคุณสูงแต่ผลกำไรโดยรวมต่ำ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าบริษัทของคุณใช้เงินมากเกินไปในการหาลูกค้าแต่ละราย มีเพียงข้อมูลเท่านั้นที่บอกคุณได้ ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่ตัวชี้วัดถัดไปของเรา
2. ต้นทุนในการหาลูกค้า (Customer Acquisition Cost)
ต้นทุนในการหาลูกค้า หรือ Customer Acquisition Cost (CAC) เป็นการวัดจำนวนเงินที่คุณใช้ในการดึงดูดลูกค้าใหม่แต่ละราย คุณสามารถคำนวณได้โดยการหารค่าการตลาดทั้งหมดด้วยจำนวนลูกค้าใหม่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
CAC เป็นวิธีที่สำคัญในการติดตามผลความสำเร็จของการตลาดของคุณและเป็นตัวตัดสินใจว่าคุณจะใช้เงินไปกับการหาลูกค้าใหม่เท่าไร ถ้า CAC ของคุณสูงเกินไป อาจทำให้ทำกำไรได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า AOV ของคุณต่ำด้วย
แต่สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องจำไว้ว่าต้นทุนในการหาลูกค้าที่สูงไม่ใช่เป็นสัญญาณเตือนเสมอไป ถ้าลูกค้าของคุณมีกำลังจ่ายสูงและเป็นลูกค้าประจำ มันก็คุ้มค่า ที่จะใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อดึงดูดแต่ละคน แต่ในทางกลับกันสิ่งนี้ก็อาจเป็นความผิดพลาดได้ หากเราใช้เงินมากเกินไปในการหาลูกค้าใหม่ที่สั่งซื้อเพียงครั้งเดียวและมีมูลค่าต่อยอดการสั่งซื้อต่ำ
เมื่อเราลองเทียบอัตรากำไรของสินค้าแต่ละชนิดในบริษัท คุณอาจพบว่าสินค้าแต่ละตัวทำกำไรแตกต่างกัน ดังนั้นการใช้กำไรของทุกสินค้าเพื่อกำหนดต้นทุนในการหาลูกค้าสูงสุดที่เป็นไปได้จึงเป็นเรื่องยาก แต่อย่างไรก็ตามคุณสามารถหาตัวเลขที่เป็นไปได้ของ CAC ได้ หากคุณจำกัดการวิเคราะห์ให้อยู่เฉพาะในตัวเลขกำไรของสินค้ายอดนิยมที่สุดในเว็บไซต์ของคุณ
และแน่นอนว่าธุรกิจใหม่ ๆ จะมีอัตรา CAC ที่สูงกว่าธุรกิจที่มีมานานเนื่องจากยังไม่มีฐานลูกค้าประจำหรือยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
3. อัตราการปิดการขาย Conversion Rate
อัตรา Conversion Rate คือเปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้บริการที่ดำเนินการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราต้องการวัดผลเทียบกับผู้ใช้บริการทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นการลงชื่อรับจดหมายข่าวสารจากทางอีเมลของคุณ คลิกดูสินค้า “คอลเลคชันใหม่” ในร้านค้าออนไลน์ของคุณ หรือทำการสั่งซื้อ โดยขึ้นอยู่กับคุณว่าจะตัดสินใจติดตามผล Conversion ตัวไหน แต่ตัววัด Conversion Rate ของ E-commerce ที่นิยมที่สุดคือจำนวนธุรกรรมต่อการเข้าชม หรืออีกนัยหนึ่งคือ เปอร์เซ็นต์ของคนที่เข้าชมเว็บไซต์ของคุณแล้วทำให้เกิดยอดขาย
Conversion Rate ของคุณนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำกลยุทธ์การตลาดของคุณ รวมถึงการใช้จ่ายค่าโฆษณาและการตลาดรูปแบบอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายเงิน ถ้าอัตรา Conversion Rate ของคุณต่ำ อาจหมายความว่า Keyword ในการทำ SEO ของคุณไม่มีประสิทธิภาพ หรือคุณทำการโฆษณาขายสินค้าบนโซเชียลมีเดียโดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Target Audiences) ที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากคนที่เข้ามาชมเว็บไซต์ของคุณไม่ได้เข้ามาซื้อสินค้าของคุณ (สังเกตจากอัตราการปิดการขายที่ต่ำ)
ข้อมูลการปิดการขายยังให้ข้อมูลด้านการทดลองอื่น ๆ ที่คุณอาจนำไปปรับใช้กับการออกแบบเว็บไซต์ของคุณให้เหมาะสมเพื่อเกิดยอดขายสูงสุด แต่ถ้าหากจะทำการทดลองที่มีความซับซ้อนขึ้นไปอีก คุณสามารถแบ่งข้อมูลตามช่องทางการเข้าชม เพื่อให้คุณสามารถเทียบอัตรา Conversion Rate ต่อการออกแบบหน้าเว็บไซต์กับสิ่งที่ผู้เข้าชมมองหาก่อนจะคลิกเข้าไปดู
ตัววัดธุรกิจเป็นแนวทางสู่ความสำเร็จของ E-commerce
ตัววัดธุรกิจที่ถูกต้องเปรียบเสมือนสายตาของคุณผ่านผืนน้ำแห่ง E-commerce ที่ขุ่นมัวและหนาแน่น ดังนั้นจึงสำคัญอย่างยิ่งที่คุณต้องมีตัววัดที่ถูกต้อง โดยการติดตามผลมูลค่าคำสั่งซื้อโดยเฉลี่ย อัตราการปิดการขาย และต้นทุนในการหาลูกค้า เท่านี้คุณก็จะมีแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สามารถนำมาวิเคราะห์ข้อมูลได้และได้รับข้อมูลเชิงลึกในเรื่องประสิทธิภาพของร้านค้าออนไลน์ของคุณ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตและสร้างกำไรได้ดียิ่งขึ้น
บทความโดย Evan Morris
เนื้อหาจากบทความของ Data Science Central
แปลและเรียบเรียงโดย ไอสวรรค์ ไชยชะนะ
ตรวจทานและปรับปรุงโดย อนันต์วัฒน์ ทิพย์ภาวัต
โฆษณา