20 พ.ย. 2022 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
ผลวิจัยชี้ การเดินทางไปออฟฟิศที่นานเกิน 38 นาทีขึ้นไป ทำให้วัยทำงาน มีความพึงพอใจในงานลดลง และเพิ่มอัตราการ ลาออก มากขึ้น แต่ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แล้วใครที่เสี่ยงเกิดภาวะนี้บ้าง?
3
การเดินทางไปออฟฟิศที่นานเกิน 38 นาทีขึ้นไป ทำให้วัยทำงาน พึงพอใจในงานลดลง
รู้หรือไม่? ปรากฏการณ์ The Great Resignation (การลาออกครั้งใหญ่) ยังไม่สิ้นสุด และเกิดขึ้นทั่วโลกตลอดปี 2565 นี้ เนื่องจากในยุคโควิดระบาดพนักงานหลายคนปรับเปลี่ยนมาทำงานจากที่บ้านเป็นเวลานานโดยไม่มีการเดินทาง
หลังจากวิกฤติโควิดผ่านพ้นไป หลายคนตัดสินใจว่าสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานมีความสำคัญต่อพวกเขามากขึ้น การปฏิวัติโลกของการทำงานครั้งนี้ ดูเหมือนจะยังคงดำเนินต่อไปในปีนี้
ยืนยันจากผลสำรวจของ “Price waterhouse Coopers” (PWC) หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และผู้ให้บริการที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก ที่พบว่า 1 ใน 5 ของพนักงานทั่วโลกวางแผนที่จะลาออกในปี 2565 โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พวกเขาอยากลาออก ก็คือ บริษัทไม่มี #ความยืดหยุ่นในการทำงาน
โดย 26% ของพนักงานกล่าวว่าพวกเขาต้องการทำงานเต็มเวลาจากนอกออฟฟิศ แต่มีเพียง 18% เท่านั้นที่บอกว่านายจ้างของพวกเขามีแนวโน้มที่จะให้ทำงานรูปแบบดังกล่าวได้
นอกจากนี้ อีกหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการ “ลาออก” ที่มากขึ้นเช่นกัน นั่นคือ การเดินทางไกลเพื่อเข้าสำนักงาน หรือเสียเวลาอยู่กับรถติดนานๆ กว่าจะถึงที่ทำงาน มักทำให้ความพึงพอใจในงานของพนักงานลดลงเรื่อยๆ ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นปัญหาเชื่อมโยงกับความยืดหยุ่นในการทำงานเช่นกัน
3
โดยมีงานวิจัยจาก Harvard Business School เมื่อปี 2020 ระบุไว้ว่า พนักงานออฟฟิศที่ต้องเดินทางไกลหรือใช้เวลาเดินทางไปออฟฟิศยาวนานกว่า 38 นาทีต่อเที่ยว มักจะรู้สึกเคร่งเครียด กังวล และทำให้ความพึงพอใจในงานลดลง เมื่อความรู้สึกนี้สะสมมากเข้าก็ส่งผลให้ “ลาออก” จากงานได้ง่าย
3
โดยเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมทำสิ่งผ่อนคลายหรือมีความสุข เช่น การฟังเพลงหรือเสพสื่อโซเชียลระหว่างเดินทาง (ใช้เวลานานๆ) เพื่อเข้าออฟฟิศไปทำงาน กลับยิ่งไปขัดขวางความสามารถของผู้คนในการเข้าสู่โหมดการทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งทำให้พวกเขายิ่งรู้สึกเศร้าหมองมากขึ้นเมื่อต้องหยุดฟังเพลงแล้วเข้าสู่โหมดการทำงาน และนั่นทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะลาออกในเวลาต่อมา
2
“ดิฉันรู้สึกประหลาดใจกับการค้นพบนี้ด้วยตัวเอง” ศาสตราจารย์ Francesca Gino จาก Harvard Business School กล่าว และอธิบายเพิ่มว่า “การที่คนเราต้องเปลี่ยนจากโหมดอยู่บ้านไปเป็นโหมดการทำงาน ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป สำหรับบางคนมันต้องใช้ความพยายามมากทีเดียว”
การศึกษาชิ้นนี้ยังพบอีกว่า การฝ่ารถติดและเดินทางนานๆ เกินกว่า 40 นาที - 1 ชั่วโมงทุกวันเพื่อไปออฟฟิศ มีส่วนทำให้ #พนักงานออฟฟิศ เกิดความตึงเครียด ส่วนหนึ่งเกิดจากการคาดเดาไม่ได้ของภาวะรถติด และหากรถติดมากจนทำให้พวกเขามาประชุมสาย พวกเขาก็จะเริ่มวันทำงานด้วยความรู้สึกเร่งรีบ กระวนกระวาย และอยู่ไม่นิ่ง
2
ถึงกระนั้น แม้ว่าผู้คนจะบอกว่าพวกเขาไม่ชอบการเดินทางนานๆ เพื่อเข้าออฟฟิศมาทำงาน แต่เมื่อถามถึงระยะเวลาในการเดินทางที่ “เหมาะสม” พนักงานส่วนใหญ่ไม่ปฏิเสธการเดินทาง เพียงแต่พวกเขาเห็นว่าระยะเวลาเดินทางที่รับมือได้คือ ประมาณ 16 นาทีต่อเที่ยว
ทั้งนี้ ภาวะการเดินทางนานๆ แล้วรู้สึกเครียด ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน โดยผลการศึกษาของ Francesca Gino ชี้ชัดว่า การเดินทางตอนเช้ายากขึ้นสำหรับกลุ่มคนที่ “ควบคุมตนเองได้ต่ำ” หมายถึง กลุ่มคนที่มักควบคุมอารมณ์ และความเครียดของตนเองได้ยาก มักไม่ชอบวางแผนเรื่องงานล่วงหน้า แต่มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมที่ให้ความสุขในทันทีในขณะนั้น เช่น ฟังเพลง เสพสื่อออนไลน์ คิดถึงเรื่องที่บ้าน ฯลฯ
1
ในขณะที่ พนักงานที่มีลักษณะ “ควบคุมตนเองในระดับสูง” มักจะมีความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ของตนเอง พวกเขาจะตั้งเป้าหมายสำหรับตนเอง จดจ่อ และติดตามเป้าหมายของพวกเขา และไม่มีปัญหากับการเดินทางไปออฟฟิศนานๆ ในแต่ละวัน เนื่องจากว่าพวกเขามีความสามารถในการเปลี่ยนโหมดอยู่บ้านเข้าสู่โหมดการทำงานได้เร็วกว่านั่นเอง
1
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้บอกว่าพนักงานฝ่ายใดผิดหรือถูก เพราะแต่ละคนพบเจอกับสภาวะกดดันทางทางเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว แตกต่างกันไป เพียงแต่เมื่ออ่านงานวิจัยนี้แล้วอาจช่วยให้คนทำงานทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันและกันได้มากขึ้น หรือนำวิธีคิดบางอย่างไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานได้ รวมถึงในมุมของนายจ้างก็จะได้ทำความเข้าใจลูกจ้างได้มากขึ้นด้วย
อ้างอิง :
Harvard Business School https://bit.ly/3hozfH0
กราฟิก : วิชัย นาคสุวรรณ
โฆษณา