12 พ.ย. 2022 เวลา 15:26 • สิ่งแวดล้อม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมต.ทส.ใช้เวทีอียิปต์ โชว์วิชั่นไทยแก้ ลด‘โลกร้อน’
ภายหลังจากที่ทางด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะเดินทางไปประเทศอียิปต์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27) ระหว่างวันที่ 11-16 พ.ย. 65 นั้น
โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า ประเด็นแรกสิ่งที่เราได้ส่งข้อมูลไปให้ทางผู้จัดงาน COP คือแผนระยะยาว จากวันนี้ไปจนถึงปี 2065 เราจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยจาก 388 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลงไปให้เหลือ 120 ล้านตันนั้น เราจะทำอย่างไร
มีมาตรการอย่างไร อีกหนึ่งประเด็นคือ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีแผนในการปรับตัว และแผนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการปรับตัวของพี่น้องประชาชนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องเกษตรกร คนสูงอายุ เรามีแผนจะดูแลพวกเขาเหล่านั้นอย่างไร
ทั้งนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา ยังกล่าวต่อว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุดอีกประเด็นหนึ่งคือ การที่ประเทศไทยเป็นประเทศคู่แรกกับสวิตเซอร์แลนด์ ในการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงข้อที่ 6.2 ของข้อตกลงปารีส ที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตและมีการส่งเทคโนโลยี เงินทุนสนับสนุน เพื่อให้เกิดโครงการต่างๆ ในประเทศไทย สิ่งนี้เป็นประเด็นที่เราเป็นคู่แรกในโลกที่ยังไม่มีใครทำ เราจะไปแสดงให้เห็น ถึงแม้ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงแค่ 0.8% เป็นอันดับที่ 22 ของโลก
แต่เรามีความตั้งใจ ด้วยความพร้อมของคนไทยและภาครัฐและเอกชน สำหรับ การแก้ไขปัญหาสภาพความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ สิ่งสำคัญที่สุดต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนในประเทศ ในทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหาร ระดับคนทำงาน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในระดับรากหญ้าจะต้องเข้าใจถึงผลกระทบที่เรากำลังเจอมานับ 10 ปี
โดยที่เราคาดไม่ถึงว่าเป็นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั้น ความจริงแล้วเป็นผลกระทบโดยตรงจากการกระทำของพวกเราเอง การที่น้ำทะเลหนุนสูง ปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา สิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องได้รับการรับรู้และตระหนักในทุกระดับ
นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้กล่าวอีกว่า นอกจากการไปแสดงศักยภาพของประเทศไทยให้นานาอารยประเทศได้เห็น จะมีการพูดคุยกับบางประเทศ และไปทวงสัญญาที่หลายประเทศได้เคยให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนประเทศไทย เมื่อประเทศไทยประกาศสถานะความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 นานาอารยประเทศจะยื่นมือเข้ามาสนับสนุนกานทำงานของเราทั้งเรื่องงบประมาณ การทำงาน รวมไปถึงเทคโนโลยี การสร้างศักยภาพของบุคลากรในประเทศไทย
โฆษณา