15 พ.ย. 2022 เวลา 11:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทุกสถาบันคาดว่าปี 2023 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อโดยรับแรงหนุนจากการท่องเที่ยว แต่ถ้าลองมองภาพใหญ่ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป จะพบว่าเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว อีกทั้งทั่วโลกยังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย คำถามที่น่าสนใจ คือ มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะชะลอเศรษฐกิจไทยปีหน้าบ้าง? บทความนี้รวบรวม 5 ปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสกดดันเศรษฐกิจไทย ปี 2023 ไว้ หากปีหน้ามีปัจจัยเหล่านี้ ให้ระวังเศรษฐกิจชะลอตัวไว้ได้เลย
1. ดอกเบี้ยยังเดินหน้าขึ้นต่อ
ปี 2022 ประเทศไทยเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูง ถึงแม้จะเริ่มลดลงแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนตุลาคม แต่ก็นับว่ายังเป็นระดับที่สูงเมื่อเทียบช่วงเวลาปกติของประเทศไทย นอกจากนี้เริ่มมีสินค้าของใช้ อาหาร และค่าไฟฟ้า ปรับราคาขึ้นจากผลของราคาน้ำมันและต้นทุนที่เพิ่มก่อนหน้านี้ ส่วนนี้จะหนุนให้เงินเฟ้อสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 1-3%
ด้านเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัวจากการเปิดเมืองและมีนักท่องเที่ยว อีกทั้งมีแรงกดดันจากสหรัฐฯ ซึ่งยังเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2023
การขึ้นดอกเบี้ยนอกจากจะชะลอเงินเฟ้อ ยังส่งผลกระทบต่อผู้กู้ทั้งภาคธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก รวมถึงรายย่อย เศรษฐกิจจึงถูกกดดันจากภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้กำลังการบริโภคลดลง
2. ค่าเงินบาทอ่อน
สหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าไทย ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯและไทยจึงสูงมากขึ้น ดึงดูดเงินทุนไหลเข้าสกุลเงินดอลลาร์เพื่อรับผลตอบแทนที่สูงกว่า ต่อจากนี้สหรัฐฯ ก็ยังมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าไทยต่อไป เงินบาทจึงอ่อนค่าต่อเนื่องกระทบต่อต้นทุนการนำเข้า อันเป็นสาเหตุหลักทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะว่าแม้การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวแต่ไม่สามารถดึงดูดเงินเข้าประเทศทดแทนส่วนที่ขาดไปจากการขาดดุลการค้า เป็นอีกสาเหตุทำให้เงินบาทยังคงอ่อนค่า
1
เงินบาทอ่อนค่าส่งผลให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น กระทบต่อผู้ประกอบการผลิตและส่งออกสินค้ารวมไปถึงค่าครองชีพประชาชน กำลังการบริโภคที่ลดลงจากภาระหนี้ก็ยังลดลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย
3. กำลังซื้อฟื้นตัวช้า
ต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นลดกำลังซื้อโดยเฉพาะครัวเรือนที่รายได้น้อย ส่วนภาคการเกษตรแม้จะเติบโตจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวแต่รายได้กลับลดลง เพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากทั้งราคาในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นและเงินบาทที่อ่อนค่า เช่น ปุ๋ย ขณะที่ภาคการผลิตและส่งออกก็เริ่มรับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงแล้ว เช่น วัตถุดิบที่นำเข้า ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของประเทศไทย I Tradingeconomics.com
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของประเทศไทยเปิดเผยปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี ตัวเลขเดือน ต.ค อยู่ที่ 44.6 จุด แม้จะฟื้นตัวจากเดือน ก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 43.7 จุด และเปิดเมืองมาแล้วหลายเดือน แต่ยังห่างไกลจากปี 2019 ก่อน COVID-19 ระบาด โดยปีนั้นดัชนีเคลื่อนไหวที่ระดับ 70-80 จุด
4. เศรษฐกิจโลกกดดันส่งออกชะลอตัว
เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยเริ่มชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเห็นสัญญาณชัดจากผลประกอบการที่เติบโตน้อยลงและประมาณการในอนาคตที่ชะลอตัว ด้านประเทศจีนอันเป็นคู่ค้าที่มีอิทธิพลกับการค้ากลุ่มอาเซียนก็ยังไม่ฟื้นตัว ด้วยผลจากมาตรการ Zero-Covid และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้นปี 2023 การส่งออกที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักเศรษฐกิจไทยมาตลอดยังคงเติบโตแต่ชะลอความร้อนแรงตามเศรษฐกิจคู่ค้า
5. ท่องเที่ยวฟื้นตัวกระจุก
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนประเทศไทยในปี 2023 เป็นจำนวน 18 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ซึ่งคาดไว้ที่ 10 ล้านคน อย่างไรก็ตามก็ยังห่างจากปี 2019 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศถึง 39.9 ล้านคน การใช้จ่ายต่อหัวถูกคาดว่าจะต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 และการขาดนักท่องเที่ยวชาวจีนทำให้การท่องเที่ยวกระจุกตัวในเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่
ปี 2023 ต้องลุ้นว่าภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะทดแทนภาคส่งออกซึ่งชะลอตัว ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยขาขึ้นที่กดดันเศรษฐกิจได้หรือไม่
มองภาพรวม: ฟื้นสั้นจากฐานต่ำ แต่ซึมยาว
ดูเหมือนว่าแม้จะมีปัจจัยกดดันแต่เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวโดยมีภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก ส่วนหนึ่งเพราะฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำหลังกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โดยกระทรวงการคลังคาดว่าปี 2023 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 3.8% แต่ต้องยอมรับว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าอดีตและเพื่อนบ้าน รายได้มีแนวโน้มกระจุกตัวในเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจขนาดใหญ่ กลุ่มธุรกิจ SME และประชาชนทั่วไปต้องเผชิญกับภาระต้นทุนเพิ่มเร็วกว่ารายได้
ในระยะยาวเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ต่ำ กำลังซื้อลดลงจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุและภาระหนี้ครัวเรือนสูง ด้านการหารายได้ก็ขาดศักยภาพการแข่งขันกับเพื่อนบ้านทั้งในแง่ทิศทางนโยบายประเทศและบุคลากร ขณะที่มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐก็ต้องเผชิญข้อจำกัดจากเพดานหนี้สาธารณะที่เต็มจนต้องขยับจาก 60% ไปที่ 70% ของ GDP
#พบกับบทความด้านธุรกิจ #เศรษฐกิจและการลงทุนเชิงลึก
จาก SkillLane ได้ที่ Blockdit แล้ววันนี้
🔥 ไปดูกันเลย > https://www.blockdit.com/skilllane
รวมคอร์สเรื่องการเงินการลงทุน ตั้งแต่ การเทรดหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน ทองคำ คริปโต DeFi ฯลฯ
เรียนคอร์สไหนดี ? เลือกคอร์สไหนให้เหมาะกับเรา ?
ทัก Inbox หรือ Line @SkillLane สิครับ
หรือคลิกลิงก์ https://page.line.me/peo4278l
#การลงทุน #เศรษฐกิจ #เศรษฐกิจไทย
#เรียนออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา
โฆษณา