14 พ.ย. 2022 เวลา 22:35 • หุ้น & เศรษฐกิจ
แบงก์ชาติ ชี้เศรษฐกิจภาคเหนือฟื้นตัวช้า เหตุอิงท่องเที่ยว-เกษตรมาก
ผู้ว่าการ ธปท.ชี้ปีหน้าเศรษฐกิจโลกชะลอ ตลาดการเงินโลกผันผวนหนัก ใช้นโยบายทยอยขึ้นดอกเบี้ย เร่งคุมเงินเฟ้อ เผยเศรษฐกิจภาคเหนือฟื้นตัวช้า
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ได้จัดสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ประจำปี 2565 เรื่อง “Moving beyond the curve : ก้าวข้ามความท้าทาย สู่อนาคตเศรษฐกิจการเงินใหม่ภาคเหนือ”
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวปี 2565 อยู่ที่ 3.3% และปี 2566 ที่ 3.8% ตามรายได้ของแรงงานที่ปรับดีขึ้น และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจภาคเหนือที่ทยอยฟื้นตัว แต่ช้ากว่าประเทศ ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคเหนือฟื้นตัวได้ช้ากว่าเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเพราะ ประการแรก ภาคเหนือมีขนาดอุตสาหกรรมที่เล็กกว่าของประเทศค่อนข้างมาก
เศรษฐกิจของภาคเหนือเน้นภาคบริการมากถึง 50% กล่าวคือ พึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ประการที่สาม การอิงกับภาคการเกษตรสูงถึง 40% โดยมีแรงงานก้อนใหญ่อยู่ในภาคนี้ และเป็นกลุ่มประชากรสูงวัยมากที่สุดของประเทศ เมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นักท่องเที่ยว 40 ล้านคนหายไป เศรษฐกิจภาคเหนือจึงฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังได้รับแรงกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาหนี้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางคือเกษตรกรและคนวัยเกษียณ ซึ่งนโยบายทางการเงินของ ธปท.ในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อก็คือ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบข้างเคียงมาก เพราะหากปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งไปไม่หยุด ต้นทุนก็จะเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจจะเดินต่อไม่ได้ จึงต้องใช้แนวทางขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งถือว่ามีผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ
ปัญหาหนี้ครัวเรือนภาคเหนือ พบว่าราว 60% เป็นหนี้คงที่ ทั้งนี้ ธปท.ได้เร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบครบวงจร ได้แก่ 1.การเร่งแก้หนี้เดิม 2.การแก้หนี้ให้ถูกหลักการ เช่น การพักหนี้ ความเป็นจริงดอกเบี้ยยังคงวิ่งไปทุกวัน และยิ่งกลุ่มคนเป็นหนี้คือเกษตรกรสูงวัย กว่าจะเคลียร์หนี้ได้หมดจึงต้องใช้เวลานาน
เศรษฐกิจภาคเหนือมีความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่ภาคเหนือพึ่งพิงภาคเกษตรสูง มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในประเทศ และยังไม่ได้ประโยชน์จากการค้ากับเพื่อนบ้านได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจต้องสร้างความเติบโตของสังคมเมือง (urbanization) ในภาคเหนือให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดแรงงานรุ่นใหม่ให้อยู่ในพื้นที่เป็นพลังพัฒนาในระยะยาว สร้างชนชั้นกลางเพิ่ม
ครงสร้างเศรษฐกิจของภาคเหนือ ภาคธุรกิจต้องมุ่งให้ความสำคัญเรื่อง ESG หรือสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่องค์กรภาคธุรกิจจะต้องบริหารจัดการความเสี่ยง เพิ่มการแข่งขัน สร้างโอกาส นับเป็นโจทย์ระยะข้างหน้าที่ท้าทายมากของภาคเหนือ-prachachat
โฆษณา