24 พ.ย. 2022 เวลา 02:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การดำเนินงานภายใต้ “กรอบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ" (Government Big Data Analytics Framework) คือการวางรากฐานและผลักดันให้หน่วยงานของรัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างสะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
การร่วมมือกันระหว่าง GBDi และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การยกระดับการทำงานของหน่วยงานราชการขึ้นเป็น “รัฐบาลอัจฉริยะ” โดยปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการนำร่องทั้งหมด 10 สาขา เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจถึงประโยชน์ของการใช้ข้อมูลประกอบการสร้างนโยบายและแผนงานต่าง ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในปัจจุบัน
โครงงานนำร่องทั้ง 10 สาขาจะมีอะไรบ้าง และ GBDi ได้ทำงานร่วมกับใครบ้าง ไปดูกันเลย
1. เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวเมืองรอง
GBDi ทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการ นำ Big Data มาวิเคราะห์และสร้างโมเดลคณิตศาสตร์ขึ้นเพื่อนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับนักเที่ยวแต่ละกลุ่มตามข้อมูลพฤติกรรมและความสนใจ โดยเน้นไปที่การกระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรอง
2. วิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์และพัฒนาเครื่องมือเพื่อรวบรวมข้อมูลสำรวจความคิดเห็นของภาครัฐ
GBDi ทำงานร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาเครื่องมือสำหรับสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจต่อนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล แทนรูปแบบการสำรวจแบบเดิมที่ต้องลงพื้นที่เพื่อพบประชาชนโดยตรง โดยจะเลือกใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วบนโลกดิจิทัล เช่น ข้อมูลความพึงพอใจหรือความคิดเห็นที่เป็นรูปแบบภาษาเขียนบนสื่อสังคมออนไลน์ และข้อมูลการใช้งานเน็ตประชารัฐจากเครื่องแม่ข่าย ร่วมกับการตอบแบบสอบถามออนไลน์แบบสุ่มสำรวจ
3. วิเคราะห์กระบวนงานภาครัฐเพื่อการพัฒนาศูนย์บริการแบบ One-Stop Service
GBDi จะศึกษาความจำเป็นเร่งด่วนและความพร้อมของแต่ละส่วนงานเพื่อคัดเลือกกระบวนงานที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นศูนย์บริการแบบ One-Stop Service ตามนโยบายของสำนักคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยมีจุดประสงค์ในยกระดับการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน
4. พยากรณ์ปริมาณผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ประเภทของประเทศไทย
GBDi ร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อพยากรณ์ปริมาณผลผลิตของพืชเศรษฐกิจหลักของไทย 5 ประเภท ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง และอ้อย รวมพัฒนาปรับปรุงการพยากรณ์ ปริมาณผลผลิตพืชเศรษฐกิจให้มีความแม่นยํามากขึ้น
5. เตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรทางด้านสาธารณสุข ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
GBDi ทำงานร่วมกับสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อรวบรวมข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมอตุนิยมวิทยา กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยี อวกาศและภูมิสารสนเทศ และนำมาพัฒนาศึกษาเครื่องมือความพร้อมทางสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา
6. วิเคราะห์ข้อมูล จำนวน และประเภทครอบครัวในประเทศ
GBDi จัดทำ Dashboard แสดงผลข้อมูลจำนวนครอบครัวตามประเภทของ ครอบครัวที่สอดคล้องกับความสนใจตามนิยามของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อปรับปรุงความรู้ความเข้าใจในด้านรูปแบบและโครงสร้าง รวมถึงลักษณะพิเศษของครอบครัวในปัจจุบัน
7. สกัดหัวข้องานเขียนเชิงวิชาการเพื่อศึกษาแนวโน้มหัวข้องานวิจัยไทย
GBDi ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ออกแบบรูปแบบระบบ AI และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP) เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาพื้นฐานเพื่อจัดจำแนกประเภทงานวิจัยในฐานข้อมูล รวมถึงวิเคราะห์สัดส่วน และกลุ่มหัวข้อเรื่องงานวิจัยในประเทศไทยที่ผ่านมา ช่วยให้ทราบถึงแนวโน้มของงานวิจัยที่เป็นมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน สำหรับใช้วางแผนการให้ทุน การวิจัยในปีถัดไป
อ่านบทความเต็มได้ที่: https://bigdata.go.th/showroom/topic-modelling-use-case
8. สร้างระบบสารสนเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ
 
GBDi ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้ทำงานร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในการศึกษา ออกแบบ พัฒนาและให้บริการระบบสารสนเทศในชื่อ Health Link สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลระหว่างโรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงประวัติการรักษาพยาบาลของตนได้อย่างรวดเร็ว
อ่านบทความเต็มได้ที่: https://bigdata.go.th/showroom/health-link/
9. วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางประชากรของผู้เข้าพักกับโรงแรมที่เข้าพัก
GBDi ร่วมมือกับกรมการปกครองในการรวบรวมข้อมูลด้านที่พักและการพักแรม และนำมาใช้วิเคราะห์ เพื่อหาความสัมพันธ์ของผู้เข้าพักกับประเภทโรงแรมที่เข้าพัก สำหรับการทำความเข้าใจลักษณะทางประชากรและการวางแผนการประกอบการให้ตรงกับกลุ่มนักท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ
10. หากลุ่มสมาชิกที่มีแนวโน้มในการออมเพิ่มและเลือกแผนการลงทุนของกองทุน บำเหน็จบำนาญข้าราชการ
GBDi ร่วมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการในการพัฒนาต้นแบบโมเดลทางคณิตศาสตร์เชิงพยากรณ์ (Predictive Model) ด้วยเทคโนโลยี AI สำหรับใช้ประเมินแนวโน้มการเปลี่ยนเปอร์เซ็นต์และแผนการลงทุนของสมาชิกรายบุคคลและรายกลุ่ม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกของ กบข. มีข้อมูลเพื่อเลือกการลงทุนที่เหมาะสม
อ่านบทความเต็มได้ที่: https://bigdata.go.th/showroom/big-data-for-finance-use-case-gpf/
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐภายใต้ “กรอบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ" (Government Big Data Analytics Framework) ได้ในบทความเต็ม
โฆษณา