18 พ.ย. 2022 เวลา 10:24 • ข่าว
#ไบเดนยอมอ่อนน้อมซาอุดิอารเบีย
#ให้สิทธิ์คุ้มกัน MbS คดีฆาตกรรมนักข่าวKhashoggi
คำกล่าวที่ว่า การเมืองนำอุดมการณ์นั้น ไม่เกินจริง แม้แต่ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อรัฐบาลโจ ไบเดน ได้ประกาศว่า มกุฏราชกุมาร โมฮัมหมัด บิน ซัลมาน แห่ง ซาอุดิอารเบีย หรือ Mbs มีสิทธิ์คุ้มกันที่จะไม่ถูกไต่สวนในข้อหาฆาตกรรม จามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุฯ ของสำนักข่าว Washington Post ที่ถูกลอบสังหารในสถานทูตซาอุดิอารเบีย ในเมืองอิสตันบูล เมื่อปี 2018
1
โดยทางรัฐบาลไบเดน ได้ออกเอกสารอย่างเป็นทางการส่งถึงศาลสูงสหรัฐฯ เมื่อช่วงค่ำของวันพฤหัสที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า เนื่องจาก เจ้าชาย โมฮัมหมัด บิน ซัลมาน เพิ่งได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดิอารเบีย ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดแห่งรัฐ ทำให้ MbS จะได้สิทธิ์คุ้มกันทางการเมือง ที่ไม่ต้องถูกไต่สวนในคดีอาชญากรรม
ซึ่งเอกสารจากฝ่ายรัฐบาลสหรัฐ ก็ส่งมาเหยียบเส้นตายวันสุดท้ายที่ทางกระทรวงยุติธรรมได้กำหนดไว้พอดีเป๊ะ ซึ่งทางฝ่ายตุลาการได้ถามความเห็นไปในเรื่องสิทธิคุ้มกันของ MbS ในคดีนี้
2
คดีลักพาตัว และฆาตกรรม จามาล คาช็อกกิ ถูกยื่นฟ้องโดย ฮาติซ เซนจิซ คู่หมั้นของ จามาล คาช็อกกิ ในศาลที่สหรัฐ ซึ่งเธอคาดหวังสูงมากว่า ด้วยความเป็นชาติมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก จะมีพลังพอที่จะพา MbS ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้สั่งการขึ้นสู่ชั้นศาลได้
1
แต่ในที่สุด รัฐบาลก็กลับลำในนาทีสุดท้าย ด้วยการส่งจดหมายมารับรองสิทธิ์คุ้มกันให้ MbS สร้างความผิดหวังให้กับคู่หมั้นของคาช็อกกิอย่างมาก และเธอได้โพสต์ทวิตเตอร์ตัดพ้ออย่างรุนแรงหลังจากเห็นข่าวว่า
"จามาลถูกฆ่าตายอีกครั้งในวันนี้ จากที่ฉันเคยคาดหวังว่าจะได้เห็นแสงสว่างแห่งความยุติธรรมในแผ่นดินสหรัฐบ้าง แต่สุดท้าย ก็ไม่มี อำนาจเงินมากก่อนเสมอ เป็นโลกที่จามาล และ ฉันไม่อยากรู้จักจริงๆ"
1
และไม่ต่างจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในสหรัฐ ที่ตามติดคดีของจามาล คาช็อกกิ มาตลอด ก็ออกมาแสดงความผิดหวังในตัว โจ ไบเดน อย่างมาก ที่สุดท้าย โจ ไบเดน ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากรัฐบาลก่อนหน้า (ซึ่งก็คือ โดนัลด์ ทรัมพ์ นั่นเอง)
เพราะตั้งแต่เกิดคดีของ จามาล คาช็อกกิ มา อดีตผู้นำสหรัฐอย่าง โดนัลด์ ทรัมพ์ ก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ขอก้าวก่ายเรื่องภายในของซาอุดิอารเบีย เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีในฐานะพันธมิตร และลูกค้าอาวุธรายใหญ่ของสหรัฐ
1
แต่พอมาถึงยุคของ โจ ไบเดน เขาเคยประกาศอย่างชัดเจนว่า ซาอุดิอารเบีย และ MbS ต้องชดใช้อย่างแน่นอนในคดีของคาช็อกกิ จนกลายเป็นประเด็นที่สร้างความหมางเมินอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนระหว่าง สหรัฐ กับ ซาอุดิอารเบีย แต่ในทางกลับกัน คำสัญญาของไบเดน ได้สร้างความหวังให้กับ ฮาติซ เซนจิซ คู่หมั้นของคาช็อกกิ ที่พาคดีข้ามทวีปมาขึ้นศาลที่สหรัฐ
2
แต่พอเกิดข้อพิพาทรัสเซีย-ยูเครน ขึ้นมาเมื่อต้นปี ทำราคาน้ำมันในตลาดโลกปั่นป่วน และกลับกลายเป็นว่าที่พึ่งหนึ่งเดียว ที่พึ่งได้จริงๆของสหรัฐในช่วงวิกฤติพลังงาน คือ ซาอุดิอารเบีย
1
จากที่โจ ไบเดนเคยคิดว่า ซาอุดิอารเบีย และ MbS เป็นลูกไก่ในกำมือ แต่วันนี้ ไบเดนคงรู้ตัวแล้วว่า เขาประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป เพราะ MbS ไม่ใช่ลูกไก่ แต่เป็นไก่ชน ที่แว้งกลับมาจิกไบเดนจนตาแตกได้ในวันนี้ แถมยังเป็นไก่ชนที่สามารถออกไข่เป็นทองคำเสียด้วย
2
พอลมเปลี่ยนทิศ เรือก็ต้องหันหัวกลับ ซึ่งสัญญาณแห่งลมพัดหวนเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่โจ ไบเดน ยอมบินไปพบ MbS ถึงบ้าน
และฝ่ายทำเนียบขาวก็ออกมายอมรับเลยว่า การไปเยือนซาอุดิอารเบียของโจ ไบเดน นอกจากจะไปเพื่อขอร้องให้ทางซาอุฯ เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันแล้ว ยังไปเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ และ ซาอุดิอารเบีย ให้กลับมาเข้ารูป เข้ารอยเหมือนที่แล้วมา (หลังจากที่ไบเดน เป็นคนดริฟท์แรง จนแหกโค้งตกรางเอง ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ)
และทางฝ่าย MbS ก็ได้พูดชัดกับโจ ไบเดน ในวันที่เจอหน้ากันครั้งนั้น ที่ไบเดน ได้หยิบเอาคดีคาช็อกกิ ขึ้นมาพูดในโต๊ะประชุมจนเกือบวงแตกว่า ทางซาอุดิอารเบียก็ให้ความสำคัญกับคดีนี้เหมือนกัน และได้ดำเนินการไต่สวนคดีอย่างเต็มที่แล้วในฐานะประเทศที่มีความรับผิดชอบแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าความผิดพลาดเหล่านี้ มันเกิดขึ้นได้ทุกประเทศนั่นแหละ แม้แต่ในสหรัฐเองก็ตาม
1
และคดีของคาช็อกกิ ก็ดำเนินต่อไปตามขั้นตอนอย่างเงียบๆ จนมาหักมุมในวันนี้ ที่ตัวละครสำคัญที่สุดในท้องเรื่องได้รับสิทธิคุ้มกันพิเศษ ที่มีทำเนียบขาวออกเอกสารเป็นใบรับรองมาให้ถึงศาล
1
ถึงแม้ว่า ทางรัฐบาลสหรัฐจะออกตัวว่า นี่ไม่ใช่คำสั่งจากรัฐบาล แต่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลในเรื่องสิทธิ์คุ้มกันของผู้นำรัฐบาลต่างชาติ
แต่ โฆษกทำเนียบขาวก็ออกมาย้ำว่า นี่ก็เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐที่ก็ตั้งอยู่บนหลักการของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่มีมาอย่างยาวนานและเป็นที่ยอมรับเหมือนกัน
ซึ่งก็คือ ยังไง ทาง MbS ได้สิทธิ์คุ้มกันแน่นอน ทางศาลมีหน้าที่พิจารณาคดีก็ทำไป เพราะยังไงก็ไม่สามารถตัดสินลงโทษใครได้อยู่แล้ว
เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า อุดมการณ์ และ การเมือง ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แม้อุดมการณ์จะเป็นเหมือนเข็มทิศ ที่ตั้งอยู่บนรัฐนาวา แต่ถ้าเกิดมีพายุเฮอร์ริเคนการเมืองพัดมา ก็ต้องหันเรือหลบก่อนเพื่อความอยู่รอด 🙃
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Twitter - @HunsaraByJeans
Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Tiktok - @HunsaraByJeans
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
แหล่งข้อมูล
โฆษณา