18 พ.ย. 2022 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
ปัญหาการล่มสลายของสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบไปทุกมิติ ภาคการเงินซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจจึงต้องปรับตัวเพื่อยับยั้งอาชญากรรมทางภูมิอากาศและส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นที่มาของระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance)
1
ปัจจุบันทุกภาคส่วนต่างก็ตระหนักถึงผลกระทบที่ตนสร้างต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีความพยายามมากมายที่จะสนับสนุนให้ทั้งรัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชนต้องปรับตัวเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงกระนั้นการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมก็นำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ผู้บริโภคและภาคครัวเรือนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ต้องเจอกับปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนทำลายสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ก็มีโครงสร้างองค์กรที่ซับซ้อน ปรับเปลี่ยนได้ยาก และมักใช้แหล่งพลังงานดั้งเดิมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันยอดสินเชื่อธนาคารในอาเซียนถึง 15 - 30% ยังคงเป็นสินเชื่อที่ให้กับอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง
ธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยยังพึ่งพาการใช้พลังงานจากถ่านหินและน้ำมันถึง 60% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ถึง 48% ขาดแหล่งเงินทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี ค.ศ. 2011 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถในการรับมือภัยธรรมชาติต่ำ อยู่ในอันดับที่ 39 จาก 48 ประเทศ
และหากประเทศไทยไม่ปรับตัว จะส่งผลให้ GDP ของประเทศลดลงถึง 43.6% ในปี ค.ศ. 2048 นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าประเทศไทยเป็นอันดับที่ 9 ของโลกที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบด้านภาวะโลกรวนในระยะยาว จากการคาดการณ์ภายในกรอบระยะเวลาปี ค.ศ. 2000 - 2019
1
ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภาคการเงินไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นว่าการปรับตัวอย่างรวดเร็วแต่ค่อยเป็นค่อยไปของสถาบันการเงินเพื่อผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่ติดกับดักการฟอกเขียว (Green Washing) หรือการสร้างภาพลักษณ์ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างฉาบฉวยถือป็นสิ่งสำคัญ เช่น การออกนโยบายสนับสนุนธุรกกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ที่มีรูปแบบธุรกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรม BCG ในไทยจะมีมูลค่า 25% ของ GDP ภายในปี ค.ศ. 2025 หรือการสร้างฐานข้อมูลกลางที่เป็นระบบเกี่ยวกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมให้ภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และประชาชนเข้าถึงได้ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วนก็ควรมีส่วนร่วมได้ เช่น ภาครัฐควรลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ผู้บริโภคศึกษาและตัดสินใจสนับสนุนแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น หากพวกเราคนไทยทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน เราจะสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพื่ออนาคตที่พึงประสงค์ร่วมกัน
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- การประกวดออกแบบนโยบายการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากเพื่อหาแนวคิดและกลยุทธ์ทางการเงินใหม่ ๆ จากบุคคลภายนอกสถาบันการเงิน
- การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมขนาดเล็กให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจขนาดใหญ่จะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ภาคเอกชนเลือกใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งภูมิปัญญาและกำลังคนคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม
- ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ธุรกิจสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นที่ต้องการตัวขององค์กรทั่วโลกทั้งในภาครัฐ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://web.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofSustainability #SustainableFinance #MQDC
โฆษณา