23 พ.ย. 2022 เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก
"BCG Economy Model" สินค้าที่นำเสนอขายในการประชุม APEC 2022
🗣️ทำไม BCG จึงกลายเป็นวาระแห่งชาติ ?
การประชุม APEC 2022 และ APEC CEO SUMMIT ที่ได้ปิดเวทีลงแล้ว ไทยได้นำเสนอ BCG ซึ่งเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะเป็นกรอบทิศทางสำหรับการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจได้ร่วมกันลงนามรับรองเอกสาร 2 ฉบับ คือ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG พร้อมทั้งได้ร่วมเปิดตัวเว็บไซต์ bangkokgoals.apec.org อีกด้วย
ยุทธศาสตร์ประเทศที่เรียกว่า "BCG Economy Model" มีจุดเริ่มต้นจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) ในการประชุมสหประชาชาติ ซึ่งผู้นำประเทศต่าง ๆ มีข้อตกลงในการพัฒนาสังคมโลกร่วมกัน ครอบคลุมปัญหาความยากจน โรคติดต่อ การไม่ได้รับการศึกษาของเด็ก ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ รวมทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อ MDGs ได้สิ้นสุดระยะของเป้าหมายตามที่กำหนด UN ได้มีการกำหนดกรอบเป้าหมายใหม่ในปี 2558 เรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยจะใช้เป้าหมายนี้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนโลกไปจนถึงเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2573 และเอกสารที่ประเทศสมาชิกให้การรับรองเรียกว่า วาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) และบ้างครั้งถูกเรียกว่า "Post-2015 Agenda"
รายละเอียดของ SDGs มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals) 169 เป้าประสงค์ (Targets) ในส่วนมิติสังคมประกอบด้วยเป้าหมาย 5 ข้อ คือ
🔹ขจัดความยากจน (No Poverty)
🔹ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)
🔹การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health And Well-Being)
🔹การศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education)
🔹ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม : http://e-plan.dla.go.th/activityImage/422.pdf
และนี่คือข้อตกลงความร่วมมือระดับโลก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายของรัฐบาลไทย ตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสอดรับกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
BCG โมเดล จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างสมดุล มั่นคงและยั่งยืน ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลักคือ Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้อยู่ภายใต้ Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งเน้นแก้ไขปัญหามลพิษ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 4 เป้าหมาย ได้แก่
🔸การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Zero Carbon)
🔸การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน
🔸การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
🔸การลดและบริหารจัดการของเสีย
และนี่คือกลยุทธ์ในการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยนำเสนอเป็นวาระสำคัญของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก
ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ได้มีฉันทามติรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ซึ่งฉันทามติครั้งนี้มี 4 เป้าหมายร่วมกัน ได้แก่
🌟สนับสนุนการจัดการทุกความท้าทายทางสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศเลวร้าย และภัยพิบัติธรรมชาติ เพื่อโลกที่ยั่งยืนขึ้น
🌟ต่อยอดการค้าการลงทุนที่ยั่งยืนและครอบคลุม ให้สอดรับกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
🌟ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
🌟เดินหน้าบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และจัดการของเสียอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ผลจากการประชุม APEC 2022 ในเรื่องข้อตกลงความร่วมมือต่าง ๆ ที่ผู้นำประเทศได้ลงนาม อาจยังไม่สามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้ว่า การประชุมครั้งนี้ประเทศไทยได้อะไร แต่ผลที่ปรากฎในภาพลักษณ์การประชุมครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Soft Power ของไทย ไม่น้อยหน้าประเทศใดในโลกเลย
โฆษณา