22 พ.ย. 2022 เวลา 05:05 • คริปโทเคอร์เรนซี
"จุดอ่อนของ Game NFT ที่ทำให้ไปต่อไม่รอด"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนมากมายเข้าไปทำกำไรในโลกของ Gamefi และได้ผลตอบแทนมาอย่างมหาศาล ในทางกลับกัน ก็มีนักลงทุนไม่น้อยเช่นกันที่เสียเงินทุนไปเกือบหมดตัวจากการ Rug Pull (การที่นักพัฒนาโปรเจกต์คริปโตฯ ฉ้อโกงเงินในระบบ) ซึ่งหลายคนมองอาจเป็นประตูที่นำเราไปสู่ Metaverse ได้อย่างแท้จริง จึงทำให้เกิดคอนเซ็ปต์ที่ว่า Play to Earn ขึ้นมา
Gamefi เป็นการผสมคำระหว่าง Game และ Decentralized finance (DeFi) เข้าด้วยกัน โดยนำเกมมาพัฒนาอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain อาจจะรวมไปถึงการนำ NFT เข้ามาใช้เป็นตัวละคร หรือไอเท็มต่าง ๆ ในการเล่นเกม ซึ่งคนส่วนใหญ่จะรู้จักกันในนาม Game NFT เช่น Axie Infinity และ Crypto Bomb โดยมีลักษณะการเล่นเป็นแบบ Play to Earn คือ การเล่นเกมแล้วจะได้รางวัล หรือผลตอบแทนมาในรูปแบบของเหรียญคริปโตฯ และผู้เล่นสามารถนำออกมาขายได้เป็นเงินจริง ๆ แต่เริ่มแรกจะต้องมีการลงทุนก่อน เช่น การซื้อตัวละคร เป็นต้น
รูปแบบการเล่นเช่นนี้ ทำให้เกิดกระแสด้านลบของเกม โดยส่วนใหญ่มองว่า เกมเหล่านี้เป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากสภาพคล่องภายในเกม และราคาเหรียญขึ้นอยู่กับปริมาณของผู้เล่นและความต้องการ ณ เวลานั้น สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันตลาดคริปโตฯ ไม่สู้ดีนัก และกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นตลาดหมี ทำให้กระแสของเกมลดลง มิหนำซ้ำยังมีหลายค่ายที่ล้มเหลว และปิดตัวลง ยิ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมสูญเสียความเชื่อมั่นไปค่อนข้างมาก
จากการวิเคราะห์ มองว่า ปัญหาหลักที่ทำให้เกมมีกระแสในด้านลบจนเกือบถึงจุดสิ้นสุด มาจากการไม่สามารถรักษา Active User ได้อย่างยั่งยืน พูดง่าย ๆ คือ ไม่สามารถดึงดูดผู้เล่นให้อยู่ตลอดไปได้ จากสถิติแล้วผู้เล่นส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อทำกำไร เมื่อได้ปริมาณที่ตนเองพอใจแล้วก็ทำการเลิกเล่น หรือย้ายไปเล่นเกมอื่นที่สามารถทำกำไรได้มากกว่า ซึ่งอาจเกิดจากการที่รูปแบบของเกมนั้นไม่มีความตื่นเต้น หรือความสนุก
และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ ผู้ให้บริการเกมบางรายก็เข้ามาเพื่อทำการ Rug Pull หรือคิดจะโกงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ประเด็นเหล่านี้ล้วนส่งผลให้สถานการณ์ของเกมไปต่อไม่ได้ จากนั้น ราคาโทเค็นของเกมก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น
  • ราคาเหรียญ AXS โทเค็นของเกม Axie Infinity ลดลงมา 88.1% จากจุดสูงสุด
  • ราคาเหรียญ SPS ของ Splinterland ลดลงมา 92.8% จากจุดสูงสุด
  • Crypto Plane, Crypto Car และ CryptoMines ปิดตัวลง
ในอีกแง่มุมหนึ่ง การที่เกมยังขับเคลื่อนได้ก็มาจากเงินของคนที่เข้ามาใหม่ หรือคนเก่าที่ลงเงินเพิ่มทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังมีคนลงเงิน เกมก็สามารถไปต่อได้ แต่ถ้าหาคนเข้ามาในระบบเพิ่มไม่ได้แล้วล่ะก็…ถือว่า ‘จบ’ ของจริง
ถ้าถามถึงอนาคตของ Game NFT ที่ผ่านมาเกมรูปแบบนี้ถูกผลิตออกมามากมาย แต่ล้วนแล้วมาจากผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งอาจทำให้เกมไม่มีการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ แต่ตอนนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่มากมายเริ่มเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้กันมากขึ้น พร้อมทีมพัฒนาที่เต็มไปด้วยศักยภาพและเงินทุน เราอาจได้เห็นเกมรูปแบบใหม่เร็ว ๆ นี้ ตัวอย่างเช่น
  • Microsoft ที่มีการซื้อกิจการ Activision Blizzard บริษัทเกมชั้นนำ เพื่อจะนำเข้า Metaverse
  • Krafton ผู้พัฒนาเกมจากเกาหลี ประกาศเป็นพาร์ทเนอร์กับ Solana Lab หวังที่จะนำ NFT มาใช้ในระบบนิเวศกับสตูดิโอเกมในเครือข่ายอย่าง PUBG
  • Summoners War บริษัทเกมชื่อดัง ได้เปิดตัว C2X Blockchain Gaming Platform พร้อมกับเหรียญที่ชื่อว่า C2X ที่ปล่อยออกมาในแง่ของ IEP (Initial Exchange Offering) หรือการระดมทุน โดยทำงานบนเครือข่าย Blockchain อย่าง Terra หวังที่จะเชื่อมโยงบริการภายในเครือข่าย และรองรับ NFT ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่ และยังมีโอกาสในอนาคตอีกมากมาย แต่ผู้เล่นจำเป็นต้องมีความรู้ และเข้าใจถึงวิธีการทำงานของเกม หรือโทเค็นนั้น ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน เนื่องจากจุดอ่อนของมันก็ยังไม่สามารถจะกำจัดออกไปได้เช่นกัน
อ่านเพิ่มเติมที่ : https://traderbobo.com/game-nft-weakness/
โฆษณา