27 พ.ย. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
กรณีศึกษาของ Microsoft: องค์กรที่ก้าวข้ามคำว่า Engagement ไปแล้ว ตอนที่ 1
วันนี้ A Cup of Culture ขอนำบทความดี ๆ เกี่ยวกับบริษัท Microsoft มาแบ่งปันกับทุกท่าน องค์กร tech ยักษ์ใหญ่เบอร์ต้นของโลกที่พึ่งพา data ในการบอกว่าอะไรเป็นปัจจัยที่จะทำให้พนักงานมีชีวิตที่ดีและมีความสุข โดยเร็ว ๆ นี้ คุณ Dawn Klinghoffer, Head of People Analytics ของบริษัท ได้ออกมาแบ่งปันว่า ⁣⁣
⁣⁣
“สิ่งหนึ่งที่จริงแท้แน่นอนที่สุด คือ เราทุกคนในวันนี้ เปลี่ยนไปเป็นคนละคนโดยสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับเราในช่วงปลายปี 2019 ก่อนโควิด” เมื่อตัวเราหรือพนักงานทุกคนเปลี่ยนไปกันหมดแล้ว วิธีการในการดูแลคนก็ต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงด้วยหรือเปล่า? ⁣⁣
⁣⁣
ด้วยการตั้งคำถามนี้เอง ทำให้ในที่สุดทีม People Analytics ค้นพบวิธีการวัดผลความยึดโยงของพนักงานใหม่ที่เป็นขั้นกว่าของ engagement เรียกว่า thriving คำ ๆ นี้แปลเป็นภาษาไทยได้ยากทีเดียว หมายถึงได้ทั้งความเจริญรุ่งเรือง ความเฉิดฉาย และการเติบโต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่ออ่านบทความนี้จบ เราทุกคนจะเข้าใจความหมายของคำว่า employee thriving ได้ถ่องแท้มากยิ่งขึ้นครับ⁣⁣
⁣⁣
:::::::::::::::::⁣⁣
⁣⁣
🔰 ทำไม thriving ถึงเป็นแสงดาวเหนือนำทางดวงใหม่? (Why Thriving Is the New North Star)⁣⁣
⁣⁣
ก่อนหน้านี้ เฉกเช่นบริษัททั่ว ๆ ไป Microsoft ก็ทำแบบประเมินความพึงพอใจพนักงานเพียงปีละหนึ่งครั้ง ใช้เวลาเป็นเดือน ๆ ในการเก็บและย่อยข้อมูล ตลอดจนคลอดแผนการต่าง ๆ ที่จะตามออกมาโดยอ้างอิงจากผลประเมินประจำปีนั้น ๆ ⁣⁣
⁣⁣
กระนั้นก็ตาม บริษัทกลับรู้สึกว่า เมื่อเทียบกับเวลาที่ทุ่มลงไป ก็ยังเหมือนเกาไม่ถูกที่คัน เพราะแม้ดูเผิน ๆ ผลประเมิน employee engagement จะออกมาดูดีอยู่ทุกปี แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียด พนักงานเป็นจำนวนมากก็ยังคงมีปัญหาจิปาถะที่ส่งผลต่อความรู้สึกยึดโยงต่อองค์กรอยู่ดี⁣⁣
⁣⁣
ตรงนี้เองที่ Microsoft ตระหนักแล้วว่าปัจจัยชี้วัดสุขภาวะกายใจของพนักงานที่มีผลต่อความรู้สึกยึดโยงนั้นอาจจะไม่ตอบโจทย์ คือ พลาดปัจจัยบางอย่างไป หรือที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ นั่นทำให้องค์กรศึกษาหา how to ใหม่ ๆ อย่างเอาจริงเอาจัง จนในที่สุดคุณ Kathleen Hogan, Chief People Officer ของ Microsoft ก็ค้นพบมาตรชี้วัดที่ไปไกลกว่าคำว่า engagement survey เรียกว่า The 5P’s ⁣⁣
⁣⁣
::::::::::::::::⁣⁣
⁣⁣
The 5P’s ซึ่งมีแนวคิดคล้าย ๆ กับ Maslow’s Hierarchy คือ แบ่งสิ่งที่จะเติมเต็มความต้องการของพนักงานออกเป็นห้าด้าน ได้แก่ pay, perks, people, pride, และ purpose มัดห้าข้อนี้รวมกันเรียกว่า employee thriving พร้อมนิยามเฉพาะตัวว่าหมายถึง ความรู้สึกเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจที่จะทำงานที่มีคุณค่า (to be energized and empowered to do meaningful work)⁣⁣
⁣⁣
นิยามนี้ ในบริบทของทีม People ที่ Microsoft ก็คือการผลักดันตนเองให้ทำดีที่สุดในทุก ๆ วัน เพื่อสร้าง sense of purpose หรือรู้ว่าตนเองมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรให้กับพนักงานทุกคน เพราะ thriving ไม่ใช่แค่เรื่องของความสามารถในการฟื้นฟูตนเองจากผลกระทบของโควิดอย่างเดียว แต่หากหมายรวมถึงว่าแล้วทุกคนจะเจริญงอกงามได้ดียิ่งกว่าเดิมได้อย่างไร⁣⁣
⁣⁣
เมื่อได้มาตรชี้วัดตัวใหม่อย่าง 5P’s มาแล้ว Microsoft ก็ได้จัดทำแบบประเมินชุดใหม่ขึ้นมาทันที โดยมีคะแนนให้ประเมินตั้งแต่ strongly disagree ซึ่งมีค่าเป็นศูนย์ ไล่ไปจนถึง strongly agree ซึ่งมีค่าเท่ากับหนึ่งร้อย ผลสำรวจแสดงให้เห็นค่าเฉลี่ยความ thrive ของคนทั้งองค์กรอยู่ที่ 77 คะแนน⁣⁣
⁣⁣
ในพาร์ทที่สอง เราจะมาดูกันว่าเมื่อ Microsoft ขุดลึกลงไปในชุดข้อมูลเพื่อหาที่มาที่ไปของ 77 คะแนน พวกเขาเจออะไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นมีวัฒนธรรมองค์กรอยู่ด้วย⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
A Cup of Culture⁣⁣
———–⁣⁣
วัฒนธรรมองค์กร⁣⁣
Corporate culture⁣⁣
Organizational culture
โฆษณา