28 พ.ย. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
กรณีศึกษาของ Microsoft: องค์กรที่ก้าวข้ามคำว่า Engagement ไปแล้ว ตอนที่ 2
ในตอนที่แล้ว เราพูดกันถึงว่า Microsoft ได้ก้าวข้ามจากคำว่า engagement มาสู่ thriving ได้อย่างไร โดยมีหลักการใหม่ในการวัดความพึงพอใจของพนักงาน ที่ล้อไปกับ Maslow’s Hierarchy of Needs เรียกว่า The 5P’s ว่าด้วย 5 มิติแห่งความพึงพอใจ ได้แก่ pay, perks, people, pride และ purpose⁣⁣
⁣⁣
โดยเมื่อนำมาตรชี้วัดใหม่นี้ไปสำรวจความพึงพอใจของพนักงานต่อ ก็ได้ผลลัพธ์เฉลี่ยที่ 77/100 คะแนน และเพื่อใช้ข้อมูลที่ได้มานี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เข้าใจพนักงานให้ได้มากที่สุด ทีม People Analytics จึงวิเคราะห์ลึกลงไปถึงคำตอบของคำถามปลายเปิด และพบว่ามีอยู่สามเรื่องที่โดดเด่นออกมากว่าใครเพื่อน⁣⁣
⁣⁣
:::::::::::::::::⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
🔵 1) วัฒนธรรมองค์กรคือสิ่งที่สำคัญ (Culture matters)⁣⁣
⁣⁣
เชื่อหรือไม่ว่าทั้งพนักงานที่รู้สึกเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจในการทำงาน กับพนักงานกลุ่มที่ห่อเหี่ยว แห้งเฉา ล้วนพูดถึงวัฒนธรรมองค์กรด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในบริบทที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง⁣⁣
⁣⁣
พนักงานกลุ่มแรก กลุ่มที่มีความสุข พูดย้ำ ๆ ในแบบสอบถามถึงสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความร่วมมือ (collaborative environment) ตลอดจนว่าเขาและเพื่อนร่วมงานมี teamwork ที่ยอดเยี่ยมอย่างไร ทั้งยังเรื่องของอิสระและความยืดหยุ่นในการทำงาน สำคัญที่สุด คือ สภาพแวดล้อมที่อนุญาตให้ทุกคนพูดสิ่งที่คิดได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่กลัวถูกตัดสิน มุ่งเน้นที่วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง⁣⁣
⁣⁣
ในทางตรงกันข้าม พนักงานกลุ่มที่สอง พูดถึงอย่างมากเกี่ยวกับระบบงาน siloes ที่มีลำดับขั้นซับซ้อน และปราศจากซึ่งความร่วมมือ แทบทุกคนเปรียบตนเองเป็นเพียงหนูถีบจักรที่มาทำงานให้เสร็จไปวัน ๆ เท่านั้น⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
🔵 2) ผู้จัดการคือผู้เล่นคนสำคัญ⁣⁣
⁣⁣
หนึ่งในมาตรชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่าพนักงานพึงพอใจกับชีวิตประจำวันของตนเองในบริษัทหรือไม่ คือ ผู้จัดการ หรือหัวหน้างาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการนำทางพนักงานไปสู่เส้นทางของความเจริญรุ่งเรืองท่ามกลางความไม่แน่นอนในปัจจุบัน⁣⁣
⁣⁣
ซึ่ง Microsoft ให้ความสำคัญกับบทบาทของตำแหน่งผู้จัดการมาอย่างยาวนาน และคะแนนประเมินโดยอิงจาก The 5P’s ก็ยืนยันเช่นนั้น ผู้จัดการปฏิบัติต่อฉันด้วยความให้เกียรติและเคารพ ได้คะแนนเฉลี่ยจากพนักงานทั้งองค์กรสูงถึง 93% นั่นหมายความว่าพนักงานเกือบทั้งหมดในทุกภาคส่วนกาช่องเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับข้อเท็จจริงในแบบสอบถามนี้
นอกจากนี้ คะแนนความพึงพอใจต่อตัวผู้จัดการของพนักงานในมิติอื่น ๆ ก็สูงไม่แพ้กัน เช่น ฉันมีความมั่นใจในศักยภาพและฝีมือของผู้จัดการ ที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่า 87% หรือ ผู้จัดการสนับสนุนให้ฉันได้เติบโตในสายอาชีพที่ 85% ตามลำดับ⁣⁣
⁣⁣
ภารกิจของ Microsoft ไม่จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะองค์กรต้องการทำให้แน่ใจว่าความพึงพอใจต่อผู้เล่นคนสำคัญอย่างหัวหน้างานนี้ต้องกระจายไปสู่พนักงานทุก ๆ คนอย่างทั่วถึง นั่นหมายความว่าเราอาจจะเห็น 93 คะแนนขยับเข้าใกล้ 100 คะแนนเต็มมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือ 80 กว่าคะแนนที่พร้อมจะทะยานสู่ 90 คะแนนขึ้นไปในเร็ววันนี้⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
🔵 3) Thriving กับ Work-Life Balance คือคนละเรื่องกัน⁣⁣
⁣⁣
Thriving ซึ่งหมายถึงความฮึกเหิม เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ณ ขณะที่กำลังทำงาน กับ work-life balance ซึ่งโฟกัสไปที่สัดส่วนของเวลางานกับเวลาส่วนตัว นั้นถือเป็นคนละเรื่องกัน เพราะจากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า พนักงานที่มี thriving score สูง ก็อาจให้คะแนน work-life balance ของตัวเองน้อยมาก ในทางตรงกันข้าม พนักงานที่รู้สึกว่าตัวเองบริหารเวลางานและเวลาส่วนตัวได้ดีเยี่ยม ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีพลังเวลาทำงานได้เช่นเดียวกัน⁣⁣
⁣⁣
เพื่อคลำหาต้นตอสำคัญของสองคำนี้ให้เจอ ทีม People Analytics จึงได้ทำการเปรียบเทียมกลุ่มประชากรที่ให้คะแนนสูงทั้งเรื่อง thriving และ work-life balance ซึ่งมีอยู่ 56% กับกลุ่มประชากรที่ให้คะแนนสูงเรื่อง thriving แต่กลับให้คะแนน work-life balance ต่ำ ซึ่งมีอยู่ 16%⁣⁣
⁣⁣
เมื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน จึงพบว่าพนักงานที่ให้คะแนนสูงทั้งสองข้อ หรือที่เรียกว่า the best of both worlds มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ 5 ชั่วโมง มีชั่วโมงที่ต้องติดต่อประสานงานหรือประชุมกับเพื่อนร่วมงานน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอยู่อีก 5 ชั่วโมง มีเวลาโฟกัสกับงานตรงหน้าตัวเองมากกว่าค่าเฉลี่ย 3 ชั่วโมง และมี internal network size หรือคนที่ต้องพูดคุยด้วยน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 17 คน⁣⁣
⁣⁣
:::::::::::::::::::::⁣⁣
⁣⁣
ข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่า collaboration ที่มากเกินไปก็ส่งผลกระทบเชิงลบได้เช่นเดียวกัน คือประชุมถี่จนไม่มีเวลาทำงานของตัวเองให้ดี สุดท้ายก็ต้องนำเวลาส่วนตัวมาสะสางงานคงค้างจนเสีย work-life balance ในที่สุด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งตัวเราและคนในทีมจะต้องบริหารเวลาที่ใช้ร่วมกันอย่างพอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะเรื่องนี้ส่งผลต่อชีวิตการทำงานของเราได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
A Cup of Culture⁣⁣
———–⁣⁣
วัฒนธรรมองค์กร⁣⁣
Corporate culture⁣⁣
Organizational culture
.
.
โฆษณา