23 พ.ย. 2022 เวลา 00:03 • ความคิดเห็น
เราเป็นลูกค้าหรือสินค้ากันแน่
1
If you’re not paying for it, you’re not the customer, you’re the product being sold
Andrew Lewis
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เรายังต้องจ่ายสตางค์ค่า SMS ครั้งละสามบาท ส่งไปรษณีย์ลงทะเบียน เป็นสมาชิกห้องสมุด เสียค่า CD เพลง ฯลฯ ต้องจ่ายค่าอะไรต่อมิอะไรอยู่เลย ไม่น่าเชื่อว่าแค่ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทุกอย่างในโลกก็ดูเหมือนจะฟรีไปหมด ส่งอีเมล์หากันก็ฟรี แชทเท่าไหร่ก็ได้ ฟรีหมด ถ้าเราจ่าย SMS เท่าเราแชทวันนี้ก็คงจะเสียตังค์หลักหมื่น เล่น Facebook ก็ฟรี ดูหนังดูละครบน Youtube ก็ฟรี ฟังเพลงบน JOOX ก็ฟรี โลกสมัยนี้ช่างดีจริงๆ ทำให้โลกสมัยก่อนดูล้าหลัง ค่าใช้จ่ายแพงขึ้นมาทันที
1
แต่โลกนี้มีอะไรฟรีจริงหรือ ตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่บอกว่าของฟรีไม่มีในโลก (There’s No Free Lunch) ทุกสิ่งในโลกล้วนมีต้นทุนที่จะต้องได้มาทั้งสิ้น แล้วความดีใจที่เรากลายเป็นลูกค้าที่มีแต่คนมาเสนออะไรๆให้ใช้ฟรีในช่วงหลังๆนั้นมีต้นทุนอะไรที่เราต้องจ่ายไปบ้างโดยที่เราไม่รู้ตัว
เอาจริงๆแล้วที่เรากำลังเป็นอยู่เมื่อใช้บริการ “ฟรี” ต่างๆนั้นในมุมของผู้ให้บริการ เราดูเหมือนจะเป็น “สินค้า” ซะมากกว่า เพราะในโลกแห่งเทคโนโลยีและข้อมูลนั้น การที่เราเข้าไปใช้อะไรฟรี เข้าไปดูโน่น คลิกนี่
หรือแม้แต่แช่จอนานตรงโน้นหน่อย หรืออ่านข้อความตรงนี้หน่อย ให้ความเห็นในการคลิกชอบ ไม่ชอบ ไลค์เพจไหน ตามใครบ้าง ผู้ให้บริการก็จะได้ข้อมูลอย่างละเอียดถึงพฤติกรรมต่างๆ ความชอบ ความไม่ชอบของเรา รวมถึงข้อมูลส่วนตัวที่เราให้ตั้งแต่ตอนสมัคร ข้อมูลที่เชื่อมโยงกับการจ่ายเงิน ฯลฯ
แล้วข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวก็จะถูกเอาไปวิเคราะห์ จัดหมวดหมู่ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เข้าใจเราอย่างมากที่สุด และเอาเราไป “ขาย” ให้กับผู้ที่สนใจโฆษณาได้อย่างแม่นยำสุดๆ ซึ่งผู้ที่โฆษณานั้นมีตั้งแต่ขายสินค้าปกติ จนถึง การขายความเชื่อทางการเมือง อย่างเช่นกรณี Cambridge Analytica ที่เอาข้อมูลไปใช้ในการเลือกตั้งสหรัฐที่ว่ากันว่ามีผลทำให้ทรัมพ์ได้เป็นประธานาธิบดีมาแล้วด้วยซ้ำ
การเป็น “ผู้ซื้อ” นั้นซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆตามความฉลาดที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุดของการะประมวลผล ข้อมูลของการที่เราไปไถหาคู่บน Tinder ผสมกับการเล่น TikTok ใช้มือถือเท่านั้นก็อาจจะเพียงพอสำหรับการเป็น “สินค้า” สำหรับผู้ปล่อยกู้แล้วก็ได้
เส้นแบ่งระหว่างการเป็นลูกค้าหรือกลายเป็นสินค้านั้นมีความเทาเป็นอย่างมาก เคยมีผู้ขายสินค้าไอทีท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ข้อมูลที่มีประโยชน์มากๆที่เขาสามารถเก็บได้จากการที่ลูกค้าเข้ามาส่องดูเว็บนั้นมีตั้งแต่การลากเมาส์แช่ไปมาตรงสินค้าที่สนใจ
จนถึงการลากสินค้าเข้าไปในตะกร้าแล้วตัดสินใจไม่ซื้อ แค่นี้ก็ทำให้เขารู้แล้วว่าเมื่อต่อไปสินค้าไหนมีโปรโมชั่น เขาก็สามารถเอาข้อมูลตรงนี้ไปคุยกับเจ้าของสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดได้อย่างสบายเพราะมีข้อมูลว่ามีใครเคยสนใจสินค้าตัวนี้จากการลากเมาส์หรือใส่ตะกร้าแล้วไม่เอาบ้าง ตอนที่ลากแล้วจะซื้อไม่ซื้อนั้นเราเป็นลูกค้า แต่พอลากแสดงความสนใจแล้ว เรากลายเป็นสินค้าสำหรับโฆษณาขึ้นมาทันทีในโอกาสต่อไป
ก่อนยุคแห่งการประมวลผลข้อมูลในระดับบุคคลแบบนี้ โมเดลการดูโทรทัศน์ก็มีลักษณะคล้ายๆกัน เจ้าของสถานีให้เราดูกันฟรีๆแล้วขายโฆษณาให้กับผู้ที่สนใจโฆษณาโดยมีข้อมูลแบบหยาบๆจากการทำวิจัย (ในบ้านเราก็คือเอซี นีลเส็น) ว่ากลุ่มอายุเท่าไหร่ รายได้เท่าไหร่ดูรายการไหนบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีข้อมูลระดับส่วนบุคคลจนมายุคหลังๆเมื่ออินเตอร์เนท สมาร์ทโฟน ความสามารถในการประมวลผล หลอมรวมกลายเป็นเครื่องจักรดักข้อมูลขนาดใหญ่อย่างปัจจุบัน
การที่พอจะรู้ตัวว่าแท้จริงแล้วเราคือ “สินค้า” อาจจะไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่อย่างน้อยเวลาเราอ่านอะไร หรือเห็นโฆษณาอันไหน ก็จะได้พอเข้าใจได้ว่าเรากำลังถูก “ขาย” เราไม่ได้เป็นคนเลือกที่จะซื้อแต่เขาเลือกที่จะขายให้เราเพราะเรามีแนวโน้มที่จะซื้อมากกว่าใครเพื่อนจากข้อมูลที่เราให้เขาไปจากของที่คิดว่าได้มาฟรีๆนั่นเอง
แม้กระทั่งในขณะที่ทุกท่านกำลังอ่านเพจนี้อยู่ก็ตาม...
โฆษณา