23 พ.ย. 2022 เวลา 04:27 • สุขภาพ
โรคกระดูกพรุนคืออะไร ?
กระดูกพรุน คือ ภาวะที่ความหนาแน่นของกระดูกลดลง และโครงสร้างของกระดูกเสื่อมลง จึงทำให้กระดูกเปราะบาง และมีโอกาสหักหรือยุบตัวได้ง่าย พบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบบ่อยในผู้สูงอายุหรือหญิงวัยหมดประจำเดือน
★ ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง ?
1. ผู้สูงอายุ
2. หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือผู้ที่ตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
3. ผู้มีภาวะขาดวิตามินดีหรือแคลเซียม
4. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
5. คนผิวขาวหรือชาวเอเชีย
6. ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นประจำ
7. ขาดการออกกำลังกาย
8. ผู้ที่น้ำหนักตัวน้อยหรือรูปร่างผอม
9. ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่สามารถทำให้กระดูกบางลง เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
10. การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้มีการสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าปกติ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ
★ อาการของโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง ?
ในระยะเริ่มแรกของโรคกระดูกพรุนมักจะยังไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังโก่งค่อม ความสูงลดลง กระดูกหักง่ายกว่าคนปกติ แม้ไม่มีอุบัติเหตุที่รุนแรง
★ โรคกระดูกพรุน อันตรายอย่างไร ?
ในผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุนในระดับรุนแรงนั้น มีโอกาสพบกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เพียงแค่มีการกระแทกเบาๆ หรือแค่เอี้ยวบิดตัว ก็สามารถทำให้กระดูกหักได้ บริเวณที่สามารถพบกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนนั้น ได้แก่ กระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ เป็นต้น
ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการกระดูกหักที่รุนแรงแล้ว อาจทำให้ไม่สามารถใช้งานต่อได้ และต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานาน จนสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้นได้ง่าย เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปอดอักเสบ แผลกดทับ ภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นเหตุทำให้สุขภาพแย่ลงและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
1
★ วิธีป้องกันโรคกระดูกพรุนทำได้อย่างไรบ้าง ?
1. รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดี ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3. งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน
5. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ควรเข้ารับการตรวจวัดมวลกระดูกเพิ่มเติมด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเอกชัย โทร. 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 132 หรือ 133
โฆษณา