26 พ.ย. 2022 เวลา 09:00 • สุขภาพ
นี่เราเครียดเกินปุยมุ้ย?
ความเครียดถือเป็นภัยเงียบอย่างหนึ่งที่อันตรายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญกับอาการเครียด หรือเครียดสะสม จนกว่าจะเห็นอาการจากสุขภาพร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน
'ปัญหาสุขภาพจิต' เป็นหนึ่งในปัญหาของคนไทยที่น่าจับตา ซึ่งในปี 2565 แนวโน้มการฆ่าตัวตายจะมีโอกาสกลับมาสูงถึง 10 เท่าจากปกติ เนื่องจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพที่อาจต้องเริ่มต้นใหม่ ความคาดหวังในชีวิตสูงแล้วไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ ทำให้เกิดความเครียด และหมดหวังในการดำเนินชีวิต
สัญญาณของอาการเครียดสะสม
อารมณ์ เช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เบื่อ เศร้า วิตกกังวล ท้อแท้ หรือหมดหวัง
ร่างกาย เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เจ็บป่วยง่าย หัวใจเต้นเร็วขึ้น นอนไม่หลับ หรือพฤติกรรมการรับประทานผิดปกติ
สังคม เช่น ไม่อยากพบใคร การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง ไม่สนใจสิ่งที่เคยชอบ มีปัญหากับคนใกล้ตัว
ความเครียด แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
MANAGEABLE STRESS เป็นระดับความเครียดทั่วไปที่นำไปสู่การพัฒนาผลงาน เป็นความเครียดลักษณะที่จัดการได้ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาซึ่งทุกคนควรมีความเครียดในระดับนี้อยู่บ้าง ถือเป็นภาวะปกติ เป็นความเครียดส่วนบุคคลที่อาจจะได้รับรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน แล้วแต่กรณี ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาตนเองและประสิทธิภาพในการทำงานจึงถือเป็นความเครียดในระดับทั่วไปที่ควรจะมี
TOLERABLE STRESS เป็นระดับความเครียดที่เพิ่มขึ้นมาอีกขั้น แต่ยังอยู่ในระดับที่อดทนได้ อาจมีสัญญาณเตือนจากร่างกายเป็นครั้งคราว เช่น มีอาการปวดหัวบ้าง เมื่อยล้าบ้าง เรียกว่ามีอาการทางกาย แต่ทางใจยังแข็งแรงดีอยู่
TOXIC STRESS ระดับความเครียดที่เป็นพิษ มักมีอาการทั้งทางกายและทางใจร่วมกัน เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ถ่ายเหลว วิตกกังวล ไปจนถึงบางครั้งมีความรู้สึกเดียวดายไม่อยากยุ่งกับใคร ซึ่งหากปล่อยสะสมเอาไว้เป็นเวลานานจะกลายเป็นอาการของโรคต่าง ๆ เช่น ภาวะโรคซึมเศร้า อาการทางจิตเวช
ยิ่งเครียดยิ่งเสี่ยงโรค ความเครียดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าหากมีความเครียดสะสมเรื้อรังก็อาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น
โรคไมเกรน
โรคทางเดินอาหาร
โรคความดันโลหิตสูง
โรคหัวใจ
โรคภูมิแพ้ (เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำลง)
โรคนอนไม่หลับ
รักษาอาการเครียดสะสม
แนะนำให้รีบพบจิตแพทย์เพื่อหยุดโรคเครียดไม่ให้รุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หลายคนเข้าใจว่า การไปพบจิตแพทย์ คือ การมีภาวะจิตไม่ปกติ แต่ในความจริงแล้วการไปพบจิตแพทย์เป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ช่วยบรรเทาอาการเครียดสะสมครับ
ซึ่งจิตแพทย์จะให้คำปรึกษาและบำบัดให้เราอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับอาการของเราได้ หากเรารู้จักวิธีการจัดการความเครียดอย่างถูกต้องและเหมาะสม เรียนรู้ที่จะรับมือกับความเครียด เท่านี้ก็จะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีและความสุขในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ครับ
ขอบคุณข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/topics/6322a4b8ae66c7433c8d5007
โฆษณา