25 พ.ย. 2022 เวลา 08:00 • สิ่งแวดล้อม
เทรนด์ Sustainable Packaging เมื่อผู้ผลิตอุปกรณ์หันมาเลือกใช้วัสดุรักษ์โลก
ปัจจุบันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ตื่นตัวอย่างมากกับคำว่า ‘Sustainable’ หากสังเกตดูในช่วงสองปีที่ผ่านมาผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำหลายรายประกาศถึงแผนที่จะลดใช้พลาสติกกับบรรจุภัณฑ์ และเลือกใช้ Sustainable Packaging ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกับผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของตนมากขึ้น พร้อมเป้าหมายมุ่งมั่นชัดเจนที่จะสร้างความยั่งยืนในสำหรับตลาดอิเล็กทรอนิกส์
โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เครื่องเล่นเกม ที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน มีวงจรการใช้งานที่เอื้อให้ผู้ผลิตสามารถออกรุ่นใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นแนวหน้าของการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีในสังคม แต่อีกด้านหนึ่งกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์พลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากในปัจจุบันมีการพิสูจน์แล้วว่าส่งผลเสียระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อม
  • เทรนด์ของผู้บริโภคปัจจุบันตื่นตัวเรื่องการบริโภคที่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
เทรนด์ผู้บริโภค คือ หนึ่งแรงกระตุ้นสำคัญให้หลายแบรนด์ให้แสดงจุดยืนในการทรานส์ฟอร์มสินค้าและบริการของตน ดังที่เราจะเห็นว่าหลายแบรนด์ในตอนนี้มุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์ของผู้บริโภคมากขึ้น ตั้งแต่การแกะกล่องที่เพรียวบาง เปิดง่าย เรียบง่ายและยังคงปกป้องผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากไปกว่านั้นที่กล่องเหล่านี้ยังเคลมว่าเป็นแพ็กเกจที่รักษ์โลก
งานวิจัยโดย Trivium Packaging ระบุว่า ผู้บริโภคถึง 74% ไม่เพียงแต่มองหา Sustainable Packaging เท่านั้น แต่ยังเต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นด้วย เกือบครึ่งกล่าวว่าพวกเขาจะหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ถือว่าเป็นอันตราย เช่น พลาสติกที่อาจก่อให้เกิดมลพิษในมหาสมุทร ซึ่งเป็นเรื่องที่ผลักดันกันมาอย่างยาวนาน
โดยเฉพาะในหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น พร้อมลงทุนในแบรนด์ที่สะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขาสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความยั่งยืน Nielsen เคยสำรวจว่ากลุ่ม Millennials และ Gen Z เต็มใจที่จะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ต่างๆ ตามความมุ่งมั่นของบริษัทที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
  • กฎระเบียบและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก
การกำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกเป็นอีกแรงผลักสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวสอดรับกฎเกณฑ์ เช่น โครงการริเริ่มของอุตสาหกรรมระดับโลก เช่น Green Electronics Council ที่ได้รวมมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนเข้าเป็นเกณฑ์สำหรับคุณสมบัติ EPEAT (Electronic Product Environmental Assessment Tool)
ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกเข้มงวดมากขึ้น ถามหาความโปร่งใสสำหรับทุกแนวทางปฏิบัติในห่วงโซ่อุปทาน สำหรับอุตสาหกรรม Consumer Electronics เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ถูกกดดันจากกฎหมาย ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศเริ่มดำเนินการตามข้อจำกัดเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์เพื่อก้าวไปสู่บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค ซึ่งจะต้องครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน
กล่าวคือ ไม่เพียงแต่ต้นทางหรือการทำให้รีไซเคิลได้เท่านั้น แต่ยังต้องประเมินทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับวัสดุและการออกแบบเพื่อการรีไซเคิลหรือการนำกลับมาใช้ใหม่อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ที่มีข้อกำหนดของสหภาพยุโรปว่าด้วยบรรจุภัณฑ์และของเสียจากบรรจุภัณฑ์ (1994/62/EC) และในสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายด้านบรรจุภัณฑ์ของสหรัฐฯ ด้านสารพิษ
  • ดีต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อแบรนด์
กล่าวง่ายๆ Sustainable Packaging ก็คือ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุทดแทนที่สร้างผลกระทบน้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เกิดมลพิษน้อยที่สุดในด้านการผลิต การผลิต การขนส่ง และการกำจัดหรือการรีไซเคิล ตลอดวงจรอายุของวัสดุนั้นๆ
สำหรับวัสดุทดแทนที่นิยมนำมาใช้แทนพลาสติกในอุตสาหกรรมนี้ ได้แก่ เส้นใยขึ้นรูปที่ทำจากไม้ไผ่ อ้อย หรือเส้นใยอื่นๆที่ได้รับการรองรับว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวัสดุรีไซเคิลที่ได้การรับรองว่ามาจากแหล่งที่มีความรับผิดชอบ
ความพิเศษ คือ เส้นใยเหล่านี้สามารถขึ้นรูปลักษณะต่างๆ มีระดับความปลอดภัยและการป้องกันที่เทียบเท่ากับพลาสติก มีคุณสมบัติกันกระแทก ทนต่อแรงกดและยังทนต่อความชื้น ปัจจุบันสามารถทำให้เส้นใยขึ้นรูปมีสีสันและสวยงามมากขึ้น ปรับแต่งรูปทรงและพื้นผิวได้หลากหลาย และที่สำคัญ คือ มีราคาต้นทุนที่ถูกกว่า
"Sustainable Packaging ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากห่วงโซ่อุปทานการผลิตในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงการทำป่าไม้และกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ด้วย"
สำหรับแบรนด์การปรับเปลี่ยนสู่ Sustainable Packaging ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถสะท้อนถึงนวัตกรรมและแนวคิดความรับผิดชอบมากพอๆ กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ภายใน แบรนด์สามารถเชื่อมโยงกับฐานลูกค้าที่ชอบนวัตกรรมและให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากแหล่งและมีการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งส่วนนี้แบรนด์ก็จะได้ประโยชน์ในขณะเดียวกัน
  • ลองดูตัวอย่างที่น่าสนใจ
>>> Microsoft
เริ่มให้คำมั่นว่าจะเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2025 และประกาศแผนว่าจะใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุทดแทนอื่นๆมาเป็นบรรจุภัณฑ์ให้ได้ 100% ภายในปี 2030
บริษัทกล่าวว่าตนและซัพพลายเออร์ทั่วโลกยังออกแบบบรรจุภัณฑ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อยู่ภายใต้กฎระเบียบและเป็นไปตามข้อจำกัดด้านโลหะหนัก และข้อกำหนดที่จำเป็นเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพบรรจุภัณฑ์ การผลิตและการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยแผนการทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งในแผนดำเนินการธุรกิจอย่างยั่งยืนและมุ่งมั่นในการลดคาร์บอน โดยล่าสุดใน Microsoft Devices Sustainability Report มีการดำเนินการไปแล้วถึง 58%
>>> Samsung
Samsung เริ่มประกาศแผน 'Going Green' ในปี 2019 ว่าจะเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กตั้งแต่ปี 2018 และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแผน ‘Eco-Conscious Packaging’ ไปสู่สายผลิตภัณฑ์ทั้งหมด
ได้แก่ อุปกรณ์พกพา อุปกรณ์สวมใส่ ทีวี ตู้เย็น และเครื่องใช้ในบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Samsung Electronic’s Circular Economy โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการเปลี่ยนแปลงวิธีที่บริษัทจัดการทรัพยากรของบริษัทให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100%
>>> Apple
Apple เริ่มต้นเปลี่ยนวัสดุบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดมาใช้วัสดุที่ทำจากเส้นใยไม้ทั้งหมด 100% ในปี 2019 และเตรียมใช้งานวัสดุอีก 14 ประเภทเพื่อหมุนเวียน เป็นแผนชัดเจนที่บริษัทประกาศว่าจะเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืนอื่นๆทดแทน นอกเหนือจากในส่วนของบรรจุภัณฑ์ แต่รวมไปถึงตัวผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนประกอบ iphone ,Macbook ที่เราใช้กัน ทั้งหมดอยู่แผนการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้ผลิตผลิตภัณฑ์มีผลกระทบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 ด้วยไม่ต่างบริษัทอื่น
>>> Sony
Sony รายใหญ่ฝั่งญี่ปุ่นเองก็มีเป้าหมายสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเป้าลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรจากการผลิตภายในปี 2040 เช่นเดียวกัน โดยประกาศจะเลิกใช้พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ในปี 2023 ถือเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกรายแรกของญี่ปุ่นที่จะเลิกใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
อ้างอิง :
ติดตามข่าวสารโลกธุรกิจและเทคโนโลยีแบบอัปเดตก่อนใคร ในทุกช่องทางของเรา
โฆษณา