25 พ.ย. 2022 เวลา 08:17 • กีฬา
มัน(ส์) หายไปไหน : เหตุใดดาร์บี้แมตช์ฟุตบอลไทย จึงแทบไม่สำคัญและไม่เดือดเหมือนต่างประเทศ | Main Stand
"ความเป็นอริ" (Rivalry) คือส่วนหนึ่งของการแข่งขันฟุตบอล นอกจากจะช่วยเพิ่มความเข้มข้น เดือดดาล และความอยากเอาชนะของแต่ละฝ่าย ยังเป็นการสร้างเรื่องราว (Story) เพื่อเป็นจุดขาย เอกลักษณ์ การขีดเขียนประวัติศาสตร์ของสโมสรตน หรือแม้กระทั่งการเติมเต็มซึ่งกันและกันในเชิง "ความปรารถนา" (Desire) เข้าทำนอง "ไม่มีแสง ย่อมไม่มีเงา"
โดยฟุตบอลในประเทศไทยเราจะเห็นความเป็นอริที่มีความเข้มข้น เดือดพล่าน ขนลุกขนชัน ส่วนมากเกิดในบรรดา เกมใหญ่ (Big Match) อาทิ เมืองทอง ยูไนเต็ด ปะทะ การท่าเรือ เอฟซี ที่มีเหตุการณ์ "ตีกัน" จนโดนปรับโดนแบน เอล กลาซิโก เมืองไทยอย่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด ปะทะ ชลบุรี เอฟซี ที่ (เคย) เดือดช่วงลีกไทยตั้งไข่ หรืออริยุคปัจจุบันอย่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด ปะทะ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่เดือดทั้งในและนอกสนามยันสกิลปากที่ลุกลามไปถึงระดับผู้บริหารเลยทีเดียว
กระนั้นดีกรีดังกล่าวกลับไม่พบในเกมของสโมสรถิ่นเดียวกันและบ้านใกล้เรือนเคียง หรือที่เรียกว่า เกมดาร์บี้ (Derby Match) ไม่เหมือนกับบรรดาทีมอริในลีกต่างประเทศที่เราคุ้นกัน อาทิ คู่แค้นเมืองเดียวกันอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปะทะ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ เรอัล มาดริด ปะทะ แอตเลติโก มาดริด กระทั่งคู่แค้นเมืองใกล้กันอย่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ปะทะ ชาลเก้ 04 และ โรม่า ปะทะ นาโปลี หรือหากมีก็ไม่ได้มีความสำคัญขนาดที่แฟนบอลเดือดใส่กัน
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา
ประวัติศาสตร์ฟุตบอลไม่ยาวนาน
ประเด็นนี้นับเป็นเรื่องตามสามัญสำนึกอย่างยิ่ง เนื่องจากอย่างที่ทราบกันดีว่าพลวัตของลีกฟุตบอลในประเทศไทยหากนับระดับอาชีพอย่างเป็นทางการจะมีระยะเวลาเพียง 10 ปีต้น ๆ เท่านั้น นับตั้งแต่มีการรวมลีก (ลีกสูงสุด กับ โปรวินเชียลลีก) ในปี 2007 เป็นต้นมา มีเพียงไม่กี่ทีมเท่านั้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากกาลเวลาที่ไหลผ่านในการยืนระยะเพื่อสร้าง Story แก่สโมสร ทั้งในด้านการทำผลงาน การพยายามสร้างและขยายฐานแฟนบอล รวมถึงการแทรกซึม (Penetrate) เข้าไปสร้างโครงข่ายความสัมพันธ์ต่าง ๆ บริเวณพื้นที่ที่ตั้งสโมสรได้
ตัวอย่างที่สะท้อนเป็นรูปธรรมนั่นคือ "จำนวน" แฟนบอลที่เข้าสนามหรือยอดขายสินค้าที่ระลึก การทำเช่นนี้ได้มีแต่เฉพาะ "ทีมใหญ่" ไม่ก็ทีมที่ "เจ้าของบ้าฟุตบอล" ยิ่งมีครบทั้งสองปัจจัยก็ยิ่งดี อาทิ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, ราชบุรี เอฟซี, หนองบัว พิชญ หรือทีมกึ่งองค์กรอย่าง การท่าเรือ ที่มี นวลพรรณ ล่ำซำ มาเติมแพชชั่นให้แฟนบอลซึ่งมีล้นหลามเป็นทุนเดิม เป็นต้น
แน่นอนว่าขนาดสโมสรเดียวยังมีความยากลำบากในการก่อร่างสร้าง "ตัวตน" ในเวลาและพื้นที่ (Space and Times) ของตนขนาดนี้ สโมสรอื่น ๆ ที่พยายามสร้างหรือเจริญรอยตามย่อมมีความยากยิ่งเป็นเงาตามตัว เพียงแค่ทำตามคำโปรยเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ว่า "หนึ่งจังหวัด หนึ่งสโมสร" ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังพบความยากเย็นแสนสาหัสทีเดียว
กระนั้นข้อโต้แย้งสำคัญสำหรับประเด็นข้างต้นยังคงพบได้เมื่อพิจารณาประเทศที่ฟุตบอลอาชีพมีอายุไม่ห่างจากไทย (ห่างกัน 10 กว่าปี) อย่าง ญี่ปุ่น เราจะพบว่าแม้ประวัติศาสตร์ลีกจะไม่ยาวนานอย่างชาติตะวันตก แต่เกมใหญ่กระทั่งเกมดาร์บี้ในประเทศของพวกเขาก็มีความดุเดือดเลือดพล่านไม่แพ้ใครทีเดียว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ "โยโกฮามา ดาร์บี้" (Yokohama Derby) ที่ โยโกฮามา เอฟ มารินอส ต้นสังกัดเก่าของ ธีราทร บุญมาทัน ปะทะ โยโกฮามา เอฟซี ทั้งสองมีเรื่องขัดแย้งกันมาตั้งแต่สมัยการยุบรวมสโมสรโยโกฮามา ฟลูเกลส์ เข้ากับทีมมารินอส (ที่มาของการมี เอฟ คั่นกลาง) ทำให้ฐานแฟนบอลเดิมของฟลูเกลส์ไม่พอใจ รวมตัวกันสร้างทีมใหม่ เป็น โยโกฮามา เอฟซี ซึ่งยามใดที่ทีมเอฟซีชนะ แฟนบอลก็เหมือนได้แก้แค้นไปในตัว
หรือ "ทามากาวะ กลาสิโก" (Tamagawa Clasico) คาวาซากิ ฟรอนตาเล ต้นสังกัดของ เมสซีเจ - ชนาธิป สงกระสินธุ์ ปะทะ เอฟซี โตเกียว และ โตเกียว แวร์ดี้ รายแรกมีที่มาตั้งแต่การแย่งชิงความสำเร็จในแถบลุ่มแม่น้ำทามะ (Tama River) และความเป็นใหญ่ทั่วแถบภูมิภาคคันโต (Kantō region) ส่วนรายหลังคือ ทีมแวร์ดี้ ที่เคยอยู่ที่เมืองคาวาซากิมาก่อน (อาจคุ้นหูในชื่อ แวร์ดี้ คาวาซากิ) จึงเป็นดาร์บี้โดยตรงแม้ย้ายถิ่นฐานไปแล้ว
อย่างไรเสียความพิเศษของสโมสรในไทยที่แตกต่างจากญี่ปุ่นก็มีอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนนอกเหนือจากประวัติศาสตร์ โดยจะกล่าวในส่วนต่อไปนี้
ความตั้งมั่น
สืบเนื่องจากประเด็นข้างต้น เมื่อพิจารณา "ความตั้งมั่น" ของสโมสรฟุตบอลไทย บรรดาทีมใหญ่ ๆ หรือทีมตัวแทนจังหวัดจะไม่มีค่อยปัญหาด้านนี้และส่วนใหญ่มีความตั้งมั่นสูง อย่างน้อยก็มีสนามที่ผ่านมาตรฐานใช้ แต่หากขยายภาพกว้างอาจจะพบว่าสโมสรนอกเหนือจากข่ายนี้ยังมีลักษณะแบบ "เจ้าไม่มีศาล สมภารไม่มีวัด" อยู่ร่ำไป แม้จะไม่ได้นับรวมทีมองค์กรหรือทีมกึ่งอาชีพเข้ามาพิจารณาด้วยก็ตาม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ นครราชสีมา ยูไนเต็ด หรือชื่อเดิม นครราชสีมา ห้วยแถลง ยูไนเต็ด ที่มีถิ่นกำเนิดและฐานแฟนบอลอยู่ที่อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตามหลักแล้วเมื่อถิ่นฐานอยู่ที่ใดก็ควรสร้างองคาพยพทางฟุตบอลอยู่ที่นั่น
แต่สโมสรแห่งนี้กลับใช้สนามกีฬามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นสนามเหย้าของตนเอง ซึ่งมีระยะทางห่างจากตัวอำเภอห้วยแถลงกว่า 70 กิโลเมตร ที่ต้องใช้เวลาเดินทางกว่าชั่วโมงครึ่ง จริงอยู่ที่สนามในตัวอำเภออาจจะไม่ผ่านมาตรฐาน แต่การเดินทางไปเชียร์ทีมตัวแทนของท้องถิ่นไกลขนาดนั้น แม้จะรักทีมขนาดไหนก็ย่อมต้องคิดถึงค่าแรงและค่าครองชีพประกอบด้วย
อีกประเด็นคืออำเภอห้วยแถลงนั้นมีความ "ลักลั่น" ทางอัตลักษณ์อยู่พอสมควร ตัวอำเภอตั้งอยู่บนชายแดนระหว่างจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ แต่ใช้เวลาในการเดินทางไปยังตัวเมืองของบุรีรัมย์ใกล้กว่า (ราว 50 นาที) ทำให้ผู้คนในอำเภอนี้อาจมีความเป็นบุรีรัมย์เหลื่อมกับความเป็นนครราชสีมาเล็กน้อย นั่นคือตัวอยู่นครราชสีมาแต่ส่วนลึกอยู่บุรีรัมย์
ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดเป็นทางสองแพร่ง เพราะหากผลักดันให้สโมสรกลายเป็น Third Party ขึ้นมาได้ ก็จะเกิดความเป็น "ห้วยแถลง" ขึ้นมา ยิ่งไปกว่านั้นอาจควบรวมฐานแฟนบอลจากอำเภอชายแดน อาทิ ประทาย, ชุมพวง, จักราช หรือ โชคชัย ดั่งการแยกตัวออกมาเป็นจังหวัดของหลาย ๆ กลุ่มอำเภอ อาทิ จังหวัดบึงกาฬ อำนาจเจริญ หรือ ยโสธร เพื่อกำหนดอัตลักษณ์ของตัวเองแบบโดด ๆ แต่หากยังเป็นเช่นนี้พลวัตฟุตบอลภายในอำเภอก็จะแตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่นครราชสีมาหรือบุรีรัมย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ภูมิภาคนำ
อีกประเด็นที่น่าพิจารณาคือ การสร้างสโมสรฟุตบอลในประเทศไทยนั้น แม้ในระดับการปฏิบัติจะเน้นหนักไปที่ "ความเป็นท้องถิ่น" แต่ในระดับจิตไร้สำนึก (Unconscious) ลึก ๆ ในใจนั้นกลับเน้นหนักไปที่ "ความเป็นภูมิภาค" ยิ่งกว่าสิ่งใด
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเวลาแบ่งคนจะถูกแบ่งตาม "ภาค" เป็นหลัก โดยเฉพาะ "ภาคอีสาน" และ "ภาคเหนือ" ที่ถือได้ว่าเข้มข้นกว่าที่ใด ถึงขนาดใช้วลีติดปากจากเพลงฮิตของ ไผ่ พงศธร เวลาเจอคนภาคเดียวกันว่า "คนบ้านเดียวกัน" โดยสิ่งดังกล่าวเป็นปฏิบัติการอัตโนมัติที่เมื่อทราบว่าเป็นคนภาคเดียวกันการนับรวมประหนึ่งพี่น้องทางสายเลือดก็จะเกิดขึ้นทันทีทันใด
ตัวอย่างในวงการฟุตบอลอาจพิจารณาไปที่ความสัมพันธ์ของ เชียงใหม่ เอฟซี และ เชียงใหม่ ยูไนเต็ด (ชื่อเดิม เจแอล เชียงใหม่ ยูไนเต็ด) แม้ทั้งสองสโมสรจะเป็นทีมในจังหวัดใหญ่ที่เคยสัมผัสประสบการณ์ลงเล่นในลีกสูงสุดมาแล้ว
โดยหลักทีมทั้งสองต้องห้ำหั่น ประหัตประหาร ชิงความเป็นใหญ่ และสะท้อนว่าทีมตนนั้น "เป็นเจ้า" ในพื้นที่นี้จริง ๆ แต่ "ความเป็นอัตลักษณ์" ของสโมสรกลับไม่แยกขาดออกจากกันเสียทีเดียว เพราะต่างฝ่ายต่างก็เป็น "ตัวแทน" จากเชียงใหม่ โดยเฉพาะการเป็นตัวแทนทีมจากภาคเหนือที่ได้ร่วมแข่งขันในลีกสูงสุดของประเทศ
ยังไม่รวมถึงการ "แลกเปลี่ยน" สนามแข่งขัน เมื่อครั้ง เชียงใหม่ เอฟซี เล่นในลีกสูงสุดสโมสรก็ใช้สนามสมโภชน์ 700 ปี แต่เมื่อตกชั้นสวนทางกับที่ เชียงใหม่ ยูไนเต็ด ได้เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด ทั้งคู่ก็สลับสนามกันใช้งาน โดย เชียงใหม่ เอฟซี ไปใช้สนามเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสนามที่ เชียงใหม่ ยูไนเต็ด เคยใช้งาน
ซึ่งกรณีนี้เป็นการผนวกการขาดความตั้งมั่นของทั้งสองไปด้วย จริงอยู่ที่ในโลกตะวันตกมีการใช้สนามร่วมกัน อาทิ สตาดิโอ โอลิมปิโก ที่ โรม่า และ ลาซิโอ ใช้ หรือ ซาน ซีโร่ / จูเซ็ปเป้ เมอัซซ่า ที่ เอซี มิลาน และ อินเตอร์ มิลาน ใช้ หากแต่ทีมเหล่านี้ยังมีอัตลักษณ์แยกขาดจากกันชัดเจน ทั้งในเรื่องอุดมการณ์ เชื้อชาติ หรือสถานะทางสังคม ซึ่งต่างกับกรณีสองทีมจากเชียงใหม่โดยสิ้นเชิง
เช่นนี้เมื่อมีทั้งความไม่ตั้งมั่นและระดับฐานถิ่นอยู่ใต้ภูมิภาค การสร้างเกมดาร์บี้ให้เดือดพล่านยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง
ปลาใหญ่กินปลาเล็ก
กระนั้นสองประเด็นข้างต้นก็เทียบไม่ได้เลยกับประเด็นที่ครอบคลุมโลกทั้งใบอย่าง เสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ด้วยโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกที่ที่บูชาตลาดและความสามารถทางการแข่งขันเหนือยิ่งสิ่งใด เข้าทำนอง "อ่อนแอก็แพ้ไป"
ทำให้สิ่งที่พบเห็นคือ ในโลกธุรกิจการขายกิจการรายย่อยเพื่อควบรวมกิจการกับรายใหญ่ การเข้าเป็นพันธมิตรกับทุนขนาดใหญ่ หรือกระทั่งการยุบกิจการก็มีให้เห็นได้อย่างดาษดื่น แน่นอนว่าวงการฟุตบอลก็เช่นกัน โดยเฉพาะฟุตบอลในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และการกระจายรายได้ต่ำติดอันดับโลกอย่างประเทศไทยก็ยิ่งทวีผลกระทบหลายเท่าตัว
กับฟุตบอลไทยหากมองในฐานะธุรกิจ เราจะพบว่ามีหลายทีมที่ยินยอมให้สโมสรใหญ่เข้ามาช่วยเหลือด้านการจัดหานักฟุตบอล รวมถึงผู้ฝึกสอน หรือในขั้นสุดอาจยินยอมให้เข้ามากำกับควบคุมและบริหารทีมด้วยซํ้า ซึ่งระบบนี้เรียกว่า "ฟาร์มทีม" (Farm Teams)
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมืองทอง ยูไนเต็ด กับ นครนายก เอฟซี ซึ่งช่วงประมาณปี 2011-2015 ทางเมืองทองได้ปล่อยตัวผู้เล่นดาวรุ่งของทีมลงไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับ นครนายก เอฟซี หลายคน อาทิ ปฐมพล เจริญรัตนาภิรมย์, ศุภนันท์ บุรีรัตน์, ภูมินทร์ แก้วตา, พิชา อุทรา หรือ สุพร ปีนะกาตาโพธิ์ กัปตันทีมคนปัจจุบัน
ส่วนฝั่งของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็ทำเช่นนี้กับ สุรินทร์ ซิตี้ ในช่วงปี 2015 โดยนักเตะที่ส่งให้ส่วนมากเป็นคนที่บุรีรัมย์ไม่ใช้งาน อาทิ กิตติพงษ์ ปลื้มใจ, ศราวุธ อินทร์แป้น, สุริยา ดอมไธสง หรือดาวรุ่งอย่าง สิทธิโชค กันหนู, อานนท์ อมรเลิศศักดิ์, และ เชาว์วัฒน์ วีระชาติ
ยิ่งไปกว่านั้นการเข้ามาช่วยเหลือยังมีอีกลักษณะคือแบบ "ทีมพี่ช่วยทีมน้อง" โดยเฉพาะทีมในเครือข่ายจังหวัดชลบุรี เช่น ชลบุรี เอฟซี ได้ปล่อยตัวผู้เล่นให้กับ ศรีราชา เอฟซี อาทิ อนุวัฒน์ นาคเกษม, ชนินทร์ แซ่เอียะ, วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ หรือ เชียงราย ยูไนเต็ด กับสองทีมจากเชียงใหม่ ที่เชียงรายปล่อย เอกนิษฐ์ ปัญญา ให้ไปใช้งาน
หรือกระทั่ง บุรีรมย์ พีอีเอ กับ บุรีรัมย์ เอฟซี ก็เป็นเรื่องของการอิงอาศัย โดยในปี 2011 บุรีรัมย์ พีอีเอ ส่งผู้เล่นไปให้ บุรีรัมย์ เอฟซี ใช้งานในลีกรองหลายคน อาทิ สุมัญญา ปุริสาย, อุกฤษฎ์ วงษ์มีมา, ศุภกิจ จินะใจ, สมปอง สอเหลบ และแม้สองทีมจะเคยมีประเด็นเดือดเรื่องความขัดแย้งของประธานสโมสรทั้งสอง อย่าง เนวิน และ กรุณา ชิดชอบ ที่ส่งผลมายังการพบกันของทั้งสองในรายการ โตโยต้า ลีกคัพ รอบ 32 ทีมสุดท้าย ปี 2011
แต่ก็เป็นเพียงปัญหาครอบครัว ซึ่งในท้ายที่สุดทั้งสองก็ได้ควบรวมกันเป็น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มาจนถึงปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าการเลือกสนับสนุนของทีมใหญ่เป็นการสนับสนุนทีมบ้านใกล้เรือนเคียงเสียส่วนมาก เช่นนี้จึงส่งผลให้การสร้างเกมดาร์บี้ให้เดือดทะลุปรอทจึงเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะสโมสรพื้นที่ใกล้กับทีมใหญ่ยังไม่สามารถ "อยู่ได้ด้วยตนเอง" ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายหากยังคงสถานะของทีมสำรองหรือทีมบี (Reserve/ B Teams) ดังเช่นระบบลีกฟุตบอลของสเปน (อย่าง เรอัล มาดริด กาสตีญ่า หรือ บาร์เซโลน่า เบ) ในระบบลีกไทยต่อไปอีก อาจจะเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาฟาร์มทีมย่อมได้
ข้อสังเกต
จากที่กล่าวมาทั้งหมดประเด็นที่ดูจะแก้ไขยากที่สุดอาจเป็นเรื่องของภูมิภาคนำและเสรีนิยมใหม่ซึ่งทำงานในระดับจิตไร้สำนึกและระบบระเบียบของโลก แต่ประเด็นความตั้งมั่นและประวัติศาสตร์ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
โดยส่วนแรกคือ ปัจจัยเรื่องความตั้งมั่น ที่ขึ้นอยู่กับการนิยามตัวตนของสโมสรและความนิยมของลีกไทย การนิยามเป็นเรื่องของหลายฝ่าย ทั้งประธานสโมสร แฟนบอล พื้นที่ การตลาด แบรนดิ้ง หรือการประชาสัมพันธ์ ส่วนความนิยมคือภาพกว้าง ทั้งระบบ สมาคม บริษัทไทยลีก ที่ต้องบริหารจัดการให้ถูกให้ควร และอาจรวมไปถึง "จังหวะและโชค" เล็กน้อย
ส่วนปัจจัยเรื่องประวัติศาสตร์ก็ขึ้นอยู่กับความหวังและอนาคต เพราะเมื่อฟุตบอลไทยมีระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น พลวัตที่ตามมาอาจมากขึ้น ถึงตอนนี้นการขีดเขียนเส้นทางเดินของสโมสรฟุตบอลไทยอาจทำให้ เกมดาร์บี้ มีดีกรีความเดือดเพิ่มมากขึ้นในอนาคตก็เป็นได้
บทความโดย วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ The Concept of the Political
หนังสือ The Seminar of Jacques Lacan: The Four Fundamental Concepts of Psychoanalysis
หนังสือ ฟูโกต์กับลัทธิเสรีนิยมใหม่
โฆษณา