27 พ.ย. 2022 เวลา 06:11 • กีฬา
จอห์น แมคฟอล : สูญเสียขา พาราลิมปิก สู่นักบินอวกาศผู้พิการคนแรก | Main Stand
เดือนสิงหาคม ปี 2000 ระหว่างกำลังมาท่องเที่ยวที่เกาะสมุย จอห์น แมคฟอล (John McFall) ประสบอุบัติเหตุระหว่างขับขี่จักรยานยนต์ จนต้องถูกตัดขาขวาตั้งแต่หัวเข่าขึ้นมา และต้องอยู่กับขาเทียมมานานกว่า 22 ปี
แต่ชายวัย 19 ปี ก็ไม่ยอมแพ้ให้กับโชคชะตา เขามาเริ่มวิ่งอย่างจริงจัง จนคว้าแชมป์โลกวิ่ง 100 เมตรในปี 2007 ก่อนติดทีมชาติสหราชอาณาจักร มาคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งพาราลิมปิก 2008 พร้อมทำสถิติวิ่งได้เร็ว 12.70 วินาที
เส้นทางชีวิตของ แมคฟอล ไม่ได้จบลงเท่านั้น เพราะเพียงสิบปีหลังการอำลาวงการกีฬา เขาได้ถูกรับเลือกให้เป็นนักบินอวกาศขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA และมีโอกาสเป็นหนึ่งในลูกเรือของภารกิจไปดวงจันทร์
มารู้จักกับเรื่องราวของอดีตนักวิ่งระดับโลก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และว่าที่นักบินอวกาศคนล่าสุดให้มากยิ่งขึ้นได้ในบทความนี้ของ Main Stand
ชีวิตพลิกผัน
"ผมอยากเข้าเป็นทหารนะ มันคือสิ่งที่ผมวาดฝันไว้ตั้งแต่เด็ก เพราะครอบครัวผมก็เป็นทหารกันเกือบทุกคน แต่พอเกิดอุบัติเหตุขึ้นตอนอายุ 19 ปี มันทำให้ทุกอย่างยากขึ้นไปเยอะเลย"
แมคฟอล ชื่นชอบในกีฬามาตั้งแต่เด็ก เจ้าตัวเป็นนักวิ่งและนักฮ็อกกี้ของโรงเรียน รวมถึงได้โควต้าเข้าศึกษาต่อกับมหาวิทยาลัยสวอนซี ในการเรียนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา หลังสอบผ่านระดับมัธยมปลายเป็นที่เรียบร้อย เส้นทางชีวิตของเขาดำเนินไปได้ดีในแบบที่วัยรุ่นควรเป็น
แต่แล้ว ระหว่างที่เจ้าตัวกำลังออกทริปเพื่อใช้เวลา "gap-year" หนึ่งปีในประเทศไทย เขากะจังหวะนำจักรยานยนต์เข้าโค้งผิดพลาด ทำให้รถเกิดการบิดและเสียศการทรงตัวไป แมคฟอล ตัดสินใจเอาขายันเพื่อป้องกันไม่ให้รถล้มไปมากกว่านี้ แต่นั่นทำให้สถานการณ์แย่ลงไปมากกว่าเดิม
มอเตอร์ไซด์ล้มทับเหนือตัวเขา แมคฟอล ถูกนำตัวส่งเข้าโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เป็นการด่วน หลังสูญเสียเลือดไปเป็นจำนวนมาก จนแพทย์ต้องตัดสินใจตัดขาขวาของเขาตั้งแต่หัวเข่าลงมา เพื่อไม่ให้อาการของหนุ่มวัย 19 ปีทรุดลงไปกว่านี้
แมคฟอล ต้องใช้เวลาทั้งปีหลังอุบัติเหตุครั้งดังกล่าว กับการกลับไปฟื้นฟูร่างกายและจิตใจที่อังกฤษ "ผมตัดสินใจกลับไปเรียนต่อ และลงแข่งขันกีฬาให้มหาลัยเหมือนเดิม ต่างก็แค่ตอนนี้ ผมเป็นคนพิการที่ถูกตัดขาออกไปแล้ว"
แต่การตัดขา ก็ไม่ได้แปลว่าเจ้าตัวจะกลับมาวิ่งไม่ได้อีกเลย เพราะในปี 2003 แมคฟอล ได้ตัดขาเทียมคู่แรกมาใช้งาน และด้วยจิตวิญญาณนักกีฬาที่อยู่ในตัวเขา แมคฟอลตัดสินใจกลับมาวิ่งต่อในทันที
วิ่งต่อไปสู่ฝัน
"ผมบอกตัวเองว่าให้กลับไปวิ่งอีกครั้ง ผมได้กลับมาแข่งกีฬา และนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อชีวิตของผม" เจ้าตัวเปิดเผยถึงช่วงเวลาการกลับมาวิ่งได้อีกครั้ง "ผมชอบเสียงลมที่พัดผ่านหูไปด้วยความเร็ว ความรู้สึกถึงอิสรภาพที่คุณได้รับ ผมคิดถึงมันมาก ๆ และอยากให้มันกลับมาในเร็ววัน"
แมคฟอล ฝึกการวิ่งในสนามของมหาวิทยาลัย ควบคู่กับได้ซ้อมร่วมกับชมรมนักวิ่งในท้องถิ่นของสวอนซี แต่เจ้าตัวยังคงพบปัญหากับขาเทียมที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับการวิ่งแข่ง จนทำเวลาได้ไม่ดีมากพอ และเกิดความเสียหายกับขาเทียมของเขา กระทั่งการพัฒนาขาเทียมแบบคาร์บอนไฟเบอร์ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่ง ที่ทางสมาพันธ์กีฬาสำหรับผู้พิการของเวลส์ ได้แนะนำให้แมคฟอลได้รู้จักกับนวัตกรรมชิ้นใหม่นี้
เวลาสอดคล้องกับที่เจ้าตัวจบการศึกษาปริญญาตรี ด้วยการได้เกียรตินิยมอันดับสอง แมคฟอล ได้เริ่มแข่งขันกีฬาสำหรับผู้พิการเป็นครั้งแรกในปี 2004 โดยได้รับการโค้ชจากทั้งอดีตนักวิ่งพาราลิมปิก และนักวิ่งที่ร่างกายสมบูรณ์ ก่อนที่ผลงานของเขาจะไปเข้าตาทีมชาติ จนถูกเลือกติดทีมไปแข่งขันรายการชิงแชมป์ยุโรปในปี 2005 ซึ่งถือเป็นการวิ่งรายการใหญ่ครั้งแรกของเจ้าตัว
หนึ่งเหรียญทองแดงในการวิ่ง 200 เมตร และการจบอันดับสี่ของวิ่ง 100 เมตร ก็เพียงพอให้ แมคฟอล ได้รับทุนสนับสนุนให้เป็นนักกีฬาผู้พิการแบบเต็มตัว พร้อมกับได้ลงแข่งวิ่งชิงแชมป์โลกในปี 2006 ที่เจ้าตัวคว้าเหรียญเงินในรายการ 100 เมตร กับเหรียญทองแดงจากการวิ่ง 200 เมตร ก่อนตามด้วยการได้เหรียญทองรายการวิ่ง 200 เมตรชิงแชมป์โลกในปี 2007 กับเหรียญเงินวิ่ง 100 เมตรของการแข่งขันเดียวกัน
กันยายน ปี 2008 แมคฟอล ได้เดินทางมายังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน พร้อมกับทัพนักกีฬาพาราลิมปิกจากสหราชอาณาจักร ในการแข่งขันพาราลิมปิกครั้งแรกของเจ้าตัว
แม้ แมคฟอล จะเผลอออกสตาร์ทพลาดไปหนึ่งหน แต่เจ้าตัวก็ทำผลงานได้ดีพอจะเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 13.08 วินาที คว้าเหรียญทองแดงในการวิ่ง 100 เมตร ประเภท T42 หรือชนิดที่นักกีฬาถูกตัดขาเหนือหัวเข่าไปหนึ่งข้าง ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่สำหรับนักกีฬาผู้พิการ และยังมีโอกาสลุ้นได้ไกลถึงขั้นกลับมาคว้าเหรียญทองในพาราลิมปิก 2012 ที่ได้จัดขึ้นในประเทศบ้านเกิดของเขาด้วย
ทว่าเมื่อถึงจุดนี้ แมคฟอล ได้พบว่าตัวเขากำลังมองเป้าหมายไปยังเส้นทางใหม่ เมื่อทราบว่าชีวิตของเจ้าตัว ไม่สามารถเป็นนักกีฬาไปตลอดกาลได้
อีกหนึ่งทางฝัน
"ผมรู้ดีว่าไม่สามารถเป็นนักกีฬาไปจนแก่ได้ ผมเลยนึกย้อนไปสมัยอายุ 15-16 ว่าถ้าไม่ได้เข้าเป็นทหาร แล้วตัวเองอยากเป็นอะไรมากที่สุด"
แมคฟอล ตัดสินใจศึกษาต่อด้านแพทยศาสตร์ ระหว่างปี 2009-2014 และได้ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเป็นศัลยแพทย์เฉพาะทาง และอยู่ระหว่างการเตรียมสอบเพื่อเลื่อนขั้นในราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ของสหราชอาณาจักร
แต่แล้ว ในปี 2021 องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ได้เผยแผนการรับสมัครนักบินอวกาศเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยรวมถึงการเปิดรับนักบินอวกาศผู้พิการคนแรก เพื่อเป็นการศึกษาและทำความเข้าใจถึงอุปสรรค ข้อจำกัด หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อนักบินอวกาศผู้มีความทุพพลภาพได้ และ แมคฟอล ก็ไม่รอช้าที่จะสมัครเข้าไป
"ผมอ่านรายละเอียดในใบสมัคร แล้วก็รู้เลยว่า ว้าว นี่มันเป็นโอกาสที่สุดยอดจริง ๆ ผมจะได้มีส่วนร่วมไขคำตอบว่า เราสามารถนำคนที่พิการไปอวกาศได้ไหมด้วย" และแน่นอนว่าอดีตนักกีฬาพาราลิมปิกคนนี้ ก็ไม่ปล่อยให้โอกาสของเขาหลุดลอยไป
แน่นอนว่ากฎในการถูกคัดเลือกเข้ามาเป็นนักบินอวกาศ ต้องเป็นคนที่มีความแข็งแรงในเชิงกายภาพ จิตใจ และควรมีพื้นทางในศาสตร์ด้าน STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics - วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) หรือเป็นทหารที่มีความสามารถเฉพาะทาง โดยสำหรับนักบินอวกาศผู้พิการของ ESA มีการเปิดรับบุคคลที่พิการขาส่วนล่าง หรือมีความบกพร่องด้านส่วนสูง ให้เข้ามาสมัครได้
จากผู้สมัครมากกว่า 22,500 คน แมคฟอล ได้ถูกรับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 17 ว่าที่นักบินอวกาศ ผู้เตรียมได้รับการฝึกนาน 12 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ขึ้นบินไปสถานีอวกาศนานาชาติ ก่อนจะถูกฝึกเพื่อภารกิจที่มีความเฉพาะทางมากขึ้น ที่รวมถึงสถานีอวกาศรอบดวงจันทร์ หรือภารกิจลงสำรวจดวงจันทร์ ในความร่วมมือกับ NASA กับโครงการอาร์ทีมิสด้วยเช่นกัน
นั่นหมายความว่า แมคฟอล อาจเป็นผู้พิการคนแรก ที่ได้เดินทางไปถึงอวกาศ และถึงขั้นที่จะเป็นหนึ่งในมนุษย์เพียงไม่กี่คน ที่อาจได้เดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ด้วย
"บางที การสูญเสียขาของผมไป ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดกับผมเลยนะ" แมคฟอล เปิดเผยถึงอุบัติเหตุเมื่อ 22 ปีที่แล้ว
"มันทำให้ผมโฟกัส เป็นแรงผลักดันให้ผมเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ผมมีลิสต์สิ่งที่อยากทำตั้งแต่ก่อนเกิดอุบัติเหตุขึ้น ตอนนี้ก็ยังเป็นเหมือนเดิม มันแค่เปลี่ยนทิศทางไปเล็กน้อยเท่านั้น"
"การเสียขาไปไม่ได้เปลี่ยนชีวิตผม มันแค่เปลี่ยนคนที่ผมเป็นเท่านั้น"
บทความโดย กรทอง วิริยะเศวตกุล
แหล่งอ้างอิง:
โฆษณา