27 พ.ย. 2022 เวลา 08:18 • ท่องเที่ยว
อีต่อง ตัวแบบที่ดีของสังคมปิด ที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดจิ๋วและเปิด
บ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก เป็นหมู่บ้านติดชายแดนไทย – เมียนมา อยู่ห่างจากอำเภอทองผาภูมิประมาณ 65 กม. โดย 35 กม. เป็นเส้นทางคดเคี้ยวบนเขา และเป็นเส้นทางเดียวที่ใช้เดินทางเข้าหมู่บ้าน เมื่อก่อน อีต่องจึงเปรียบเหมือนประเทศเล็ก ๆ ที่อยู่กันเองอย่างโดดเดี่ยวไม่เกี่ยวข้องกับภายนอก
1
บ้านอีต่อง มองจากเนินช้างศึก
อีต่อง เกิดขึ้นจากการเป็นหมู่บ้านของชาวเหมืองปิล็อกในช่วงปี 2483 – 2528 หรือประมาณ 45 ปี ในช่วงดังกล่าว ทั้งหมู่บ้านที่มีถนนสายหลักในตลาดความยาวประมาณ 200 – 300 เมตร เพียงแค่เส้นเดียว และมีถนนสายรองบนเนินเขาสั้นๆ อีกแค่ไม่กี่สาย
หมู่บ้านเต็มไปด้วยผู้คนทั้งไทย พม่า กะเหรี่ยง มอญ แขก ที่เข้ามาเป็นแรงงานทำเหมือง เล่ากันว่า ในช่วงนั้นที่นี่มีผู้คนมากถึงหลักหมื่นคน มีสถานบันเทิงและบ่อนพนันกระจายอยู่ทั่วหมู่บ้าน มีโรงภาพยนต์ถึงสองแห่ง และมีสนามบินเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง เศรษฐกิจของเมืองเล็ก ๆ เมืองนี้ ถือว่าเฟื่องฟูถึงขีดสุดในช่วงนั้น ทั้งที่ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงที่นี่ในเวลานั้นต้องใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมง สำหรับระยะทาง 333 กม.
หลังจากปี 2528 เหมืองปิล็อกและเหมืองอื่น ๆ ที่กระจายตัวอยู่รอบ ๆ ที่มีมากถึง 40 – 50 เหมือง (ตามคำบอกเล่า) ต้องปิดตัวลงอย่างถาวรเนื่องจากราคาแร่ตกต่ำ ผู้คนส่วนใหญ่อพยพออกจากเมือง อีต่องจึงกลายเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีผู้คนเหลือเพียงเลขหลักร้อยที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ตัดขาดจากโลกภายนอกนับจากนั้นเป็นต้นมา
โชคดีที่หลังจากเหมืองหายไป ปตท. ได้เข้ามาทำท่อก๊าซเพื่อส่งก๊าซจากพม่าไปยังโรงไฟฟ้าราชบุรี โครงการวางท่อก๊าซดังกล่าว ทำให้คนที่ยังเหลืออยู่ในหมู่บ้านมีรายได้จากการรับจ้างเป็นแรงงานวางท่อก๊าซ และหลังจากโครงการวางท่อก๊าซสิ้นสุดลงในปี 2541 กรมอุทยานก็ได้เข้ามาตั้งสำนักงานของอุทยานในเขตของตำบลและเกิดการจ้างงานให้กับคนที่ยังอยู่ในหมู่บ้านต่อไปได้
ความโชคดีดังกล่าว ทำให้คนในหมู่บ้านไม่มีความจำเป็นต้องบุกรุกป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรเหมือนกับหมู่บ้านชาวเขาอื่นๆ เราจึงไม่เห็นเขาหัวโล้นรอบ ๆ หมู่บ้านเหมือนกับที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศนี้
แม้ที่นี่จะอยู่กันอย่างถูกตัดขาดจากโลกภายนอก แต่ก็ยังโชคดีที่ป้าเกล็นได้เปลี่ยนบ้านของตัวเองให้กลายเป็นโฮมสเตย์ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากภายนอกหลักจากที่คุณสมศักดิ์ผู้เป็นสามีเจ้าของเหมืองสมศักดิ์เสียชีวิตลงเมื่อปี 2539 ที่นี่จึงกลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวที่นิยมธรรมชาติกลุ่มเล็กๆ และมาเปิดตัวเองอย่างเป็นทางการเมื่อติ๊ก เจษฎาภรณ์ เผยแพร่เทปท่องเที่ยวเขาช้างเผือกเมื่อวันวันที่ 10 พฤษภาคม 2550 หลังจากนั้น บ้านอีต่อง ก็กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวที่นิยมธรรมชาติเป็นต้นมา
เขาช้างเผือก
ปัจจุบัน แม้บ้านอีต่อง บ้านหมู่ที่ 1 ของตำบลปิล็อก ชุมชนของผู้คนประมาณ 2,500 คน ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าถึงได้อย่างสะดวก (ทางหลวงชนบทเพิ่งทำทางใหม่แล้วเสร็จเมื่อประมาณกลาง พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา) แต่การเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กที่อยู่ห่างจากโลกภายนอกและมีความเด่นในด้านเศรษฐกิจที่แตกต่างไปจากหมู่บ้านอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยว ทำให้อีต่องกลายเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจขนาดจิ๋วที่หากได้ทำความเข้าใจแล้ว ก็น่าจะทำให้เรานำเอาความเข้าใจนี้ไปใช้ในการอธิบายเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ง่ายมากขึ้น
รวมถึงอาจมีแนวทางพัฒนาบ้านอีต่องให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพตามที่กระทรวงท่องเที่ยวพยายามผลักดัน
ตลาดเหมืองแร่ บ้านอีต่อง
ถ้าพิจารณาตามสมการเศรษฐกิจมหภาค ที่แสดงความสัมพันธ์ไว้ว่า
GDP + Import = Cp + Ip + Cg + Ig + Export + change in inventories
(supply) = (demand)
(ผู้อ่านที่สนใจทำความเข้าใจเศรษฐกิจมหภาคอย่างง่าย สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก link นี้ครับ https://www.blockdit.com/posts/6383236d538bc5cb9cb13247)
เราอาจจะอธิบายเศรษฐกิจของอีต่องได้คร่าว ๆ ดังนี้
ด้าน supply อีต่องมีผลผลิตส่วนใหญ่คือการให้บริการด้านท่องเที่ยว แม้จะยังไม่เคยมีหน่วยงานใดทำการสำรวจรายได้จากการท่องเที่ยวของบ้านอีต่อง แต่จากภาพที่ปรากฏและการพูดคุยกับชาวบ้าน ก็คงพอจะเดาได้ว่ารายได้ของบ้านอีต่องเกินครึ่งมาจากการให้บริการท่องเที่ยว จึงกล่าวได้ว่า การผลิตหลักของหมู่บ้านนี้คือ การบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็น ที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก บริการนำเที่ยว บันเทิงและนันทนาการ
(จากคำบอกเล่า ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 บ้านอีต่องมีที่พักรวมกันรองรับนักท่องเที่ยวในแต่ละวันได้ประมาณ 700 คน)
ในด้านสาธารณูปโภคและอุตสาหกรรม ถ้าจะมีการผลิตที่เกี่ยวข้อง ก็จะเป็นการผลิตไฟฟ้าของ ปตท. ที่ผลิตและขายให้กับหมู่บ้านและสถานที่ราชการใกล้เคียง การผลิตประปาหมู่บ้าน การสื่อสารผ่านดาวเทียม
(ที่นี่ไม่มีไฟฟ้าส่งมาจากภายนอก โชคดีที่มีท่อก๊าซของ ปตท. พาดผ่าน และ ปตท. ใจดีแบ่งก๊าซมาผลิตเป็นไฟฟ้าขายให้กับหมู่บ้าน ทำให้ที่นี่มีไฟฟ้าใช้ แต่ก็จำกัดตามกำลังการผลิต และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่มีบ้านไหนในหมู่บ้านนี้มีเครื่องปรับอากาศ และเป็นเหตุให้ 7 – eleven ไม่สามารถเข้ามาเปิดบริการที่นี่ได้)
ในด้านการขนส่ง ที่นี่อาศัยการขนส่งที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอกผ่านรถโดยสารของหมู่บ้านที่วิ่งระหว่างหมู่บ้านกับอำเภอทองผาภูมิที่อยู่ด้านล่าง
ด้านการบริการภาครัฐที่เข้ามาให้บริการในพื้นที่หมู่บ้านอีต่องที่เห็นมี 6 หน่วยงาน ได้แก่ รพ.สต. โรงเรียน อุทยาน อบต. ตำรวจ และทหาร
ส่วนการผลิตในภาคเกษตรนั้น ข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยเบื้องต้นน่าจะมีน้อยมาก ถ้าจะมีก็อาจจะมาจากการไปหาของป่าของคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น เพราะที่นี้แทบจะไม่มีการรุกป่าเพื่อทำไร่เหมือนหมู่บ้านที่อยู่บนเขาอื่นๆ เนื่องจากคนที่นี่ไม่ใช่ชาวเขาดั้งเดิมเป็นคนที่อพยพมาจากข้างล่างทั้งจากไทยและพม่า
เมื่อมีโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆ จึงไม่จำเป็นต้องถางป่าทำไร่ และกิจกรรมหาของป่านี้ก็น่าจะเป็นกิจกรรมเดียวที่วัตถุดิบของการผลิตไม่ต้องถูกนำเข้า (Import) มาจากโลกภายนอก ในขณะที่กิจกรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สาธารณูปโภค การก่อสร้าง ขนส่ง และการให้บริการภาครัฐ ล้วนแล้วแต่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากภายนอกทั้งสิ้น
ด้าน Income รายได้ที่ได้จากกิจกรรมการผลิตทุกรูปแบบที่กล่าวข้างต้น จะถูกกระจายให้กับคน 4 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าของกิจการ แรงงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าของทุน และรัฐบาล (ในรูปของภาษีที่เก็บจากผู้ประกอบการ แรงงานที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากการซื้อขายที่นี่ไม่มีใบเสร็จ รัฐบาลจึงไม่มีภาษีที่เก็บเมื่อมีการซื้อขายสินค้าดังเช่นภาษีที่คนในเมืองต้องเสีย)
จากการเดินดูรอบหมู่บ้าน ก็พอจะคาดเดาได้ว่า เจ้าของกิจการที่นี่น่าจะมีรายได้สูงทีเดียว ส่วนแรงงาน (ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบ้านพักอยู่วงรอบนอกของตลาดอีต่อง) จะมีงานทำทั้งปีหรือไม่ (โดยเฉพาะในช่วง low season มีงานทำหรือไม่) และค่าแรงเป็นเท่าไรนั้น ในเบื้องต้นยังไม่ได้ซักถามถึงข้อมูลนี้
ด้าน demand รายได้ของเจ้าของกิจการส่วนหนึ่ง ของแรงงานส่วนหนึ่ง (รวมแรงงานของภาครัฐเช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครู อบต. ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่อุทยาน) ที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการเพื่อการดำรงชีวิตทั่วไป จะกลายเป็นมูลค่าการบริโภคของภาคเอกชน (Cp)
ในขณะที่เงินส่วนอีกส่วนหนึ่งของเจ้าของกิจการ เมื่อรวมกันกับเงินกู้ยืมจากภายนอกเช่นสถาบันการเงิน จะถูกนำมาใช้ในการลงทุนสร้างที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก และถูกเรียกว่าการลงทุนภาคเอกชน (Ip) นอกจากนี้ เงินที่ภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ ลูกจ้าง ข้าราชการ ร่วมกันบริจาคให้กับศาสนาในการสร้างวัด สร้างโบสถ์คริสต์ ก็จะถือว่าเป็นการลงทุนของภาคเอกชนด้วยเช่นเดียวกัน
วัดเหมืองปิล็อก
การลงทุนภาคเอกชนนี้ยังอาจหมายรวมไปถึงการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามาให้บริการในพื้นที่ เช่น การลงทุนในสถานีควบคุมก๊าซและโรงผลิตไฟฟ้าของ ปตท. การลงทุนติดตั้งเสาส่งสัญญานของบริษัทโทรคมนาคม เป็นต้น
โรงควบคุมท่อก๊าซ ปตท. บ้านอีต่อง
ด้านการบริโภคของภาครัฐนั้น ภายใต้ระบบราชการแบบ centralized ที่ไม่กระจายอำนาจ ภาครัฐโดยส่วนกลางจะเป็นผู้ซื้อบริการของรัฐบาล (ซื้อบริการของตัวเอง) ในรูปของการจ่ายเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ทุกระดับ ทั้งแบบประจำและชั่วคราวของทุกหน่วยงานได้แก่ รพ.สต. โรงเรียน อบต. อุทยาน ตำรวจ ทหาร ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในบ้านอีต่อง
เงินเดือนทั้งหมดรวมถึงรายจ่ายสำหรับวัสดุสิ้นเปลือง ค่าน้ำ ค่าไฟ ของสถานที่ราชการ จะถูกนับรวมกันเป็นการบริโภคภาครัฐ (Cg) และหากในช่วงใดปีใดมีการก่อสร้างสถานที่เพิ่มเติม มีการก่อสร้างถนน มีการซื้ออุปกรณ์เครื่องมือหรือที่ภาครัฐเรียกว่าครุภัณฑ์เพื่อใช้ในสถานที่ราชการในบ้านอีต่องเพิ่มเติม รายจ่ายก้อนนั้นก็จะนับรวมกันเป็นการลงทุนของภาครัฐ (Ig)
และท้ายที่สุด การบริโภคของนักท่องเที่ยวผู้ซึ่งเดินทางมาจากภายนอกหมู่บ้านและนำมาซึ่งรายได้หลักของหมู่บ้านนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์ การขายสินค้าและบริการให้กับนักท่องเที่ยวนี้คือการส่งออก (Export) ให้กับโลกภายนอกของบ้านอีต่อง
แน่นอนว่าไม่มีระบบเศรษฐกิจใดในโลกที่ผลิตและนำเข้า (supply side) มาพอดีเป๊ะกับการบริโภคและลงทุน (demand side) ส่วนต่างระหว่าง supply และ demand เมื่อตัดบัญชีกันที่ปลายปีจึงกลายเป็นการเพิ่มขึ้น (หรือลดลง) ของสินค้าและวัตถุดิบที่เหลือค้างอยู่ในแต่ละร้านค้า ครัวเรือน และสถานบริการต่าง ๆ และเรียกรวมกันว่า การเปลี่ยนแปลงในสต็อกสินค้า
มาถึงตรงนี้ก็มีโจทย์ให้คิดต่อว่า แล้วบ้านอีต่องจะถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก (จากที่ดีอยู่แล้วในปัจจุบัน) ได้อย่างไร (เพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวคุณภาพ)
เนื่องจากการพัฒนาใด ๆ ต้องการปัจจัยหลักสองปัจจัยคือ เงิน และ คน และเนื่องจากเงินไม่ใช่ปัญหาสำหรับอีต่อง เพราะมีนักท่องเที่ยวหอบเงินเข้ามาให้จำนวนมากอยู่แล้ว และแม้จะไม่พอ สถาบันการเงินทุกแห่งในประเทศนี้ก็พร้อมที่จะให้ผู้ประกอบการในบ้านอีต่องกู้ไปลงทุน
คำตอบเชิงหลักการที่ผุดขึ้นมาทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาคิดคือ การพัฒนาความเก่งของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะด้านการผลิตและบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของคนทุก generation ของที่นี่ ทั้งในระดับผู้ประกอบการและคนทำงาน เพราะความเก่งของมนุษย์คือต้นตอของความเจริญ ความกินดีอยู่ดี และความยั่งยืน
ส่วนจะทำยังไงนั้น น่าจะต้องว่ากันยาว และใครจะเป็นคนทำนั้น ผมคิดถึงการให้อำนาจการบริหารจัดการศึกษาผ่านการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.ปิล็อก ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ถูกปิดกั้นจากกฎระเบียบแบบปัจจุบัน
เพื่อเปิดโอกาสให้ อบต. ปิล็อก และประชาชนชาวปิล็อก ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ทำการระดมทรัพยากรทั้งจากภายในและภายนอกเข้ามาช่วยพัฒนาคนอย่างไม่ต้องถูกจำกัดทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ เพิ่มเติมจากการพัฒนาคนแบบ one – size fit all ของกระทรวงศึกษาธิการ และไม่ถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดนานับประการของกฎเกณฑ์ภาครัฐจากส่วนกลาง (ผ่านการเข้ามาช่วยของหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงแรงงาน พาณิชย์ ท่องเที่ยว พช. พม.) ที่ไม่สามารถทำให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาได้
ตลาดบ้านอีต่อง โรงเรียนอยู่ด้านบนสุดของภาพ
อีกเรื่องนึงที่น่าทำหากมีโอกาสและเงินทุนคือ การทำพิพิธภัณฑ์และแบบจำลองของหมู่บ้านเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์และบรรยากาศของที่นี่เมื่อครั้งยังเฟื่องฟูจากการเป็นศูนย์รวมของคนทำเหมืองหลักหมื่นคนที่กระจายกันอยู่รอบๆ ในตำบลปิล็อกเป็นระยะเวลานานถึงกว่า 40 ปี
พิพิธภัณฑ์และแบบจำลองนี้จะช่วยให้นักท่องเที่ยว นักประวัติศาสตร์ ผู้คนในบ้านอีต่องเอง และคนรุ่นหลังจากทั่วประเทศและทั่วโลก ได้เห็นภาพอดีตที่ชัดเจนมากกว่าการฟังจากคำบอกเล่า เพราะหากไม่รีบทำ ภาพจำที่ยังอยู่กับคนรุ่นเก่าเพียง 4 - 5 คนที่ยังเหลืออยู่ ก็คงจะหายไปตลอดกาลพร้อมกับคนที่มีค่ากลุ่มนั้น
บ้านอีต่องในอดีต ด้านซ้ายบนคือวัดเหมืองปิล็อกที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน กลางภาพด้านบนปัจจุบันคือลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประจำหมู่บ้าน
เหมืองปิล็อกในอดีต
ทางขึ้นเหมืองในอดีต
เจ้าหน้าที่และคนงานเหมือง ถ่ายรูปร่วมกันหน้าอาคารอำนวยการของเหมือง (ปัจจุบันอาคารยังคงอยู่ในสภาพดี)
กลุ่มบ้านริมแอ่งน้ำของเหมืองในอดีตเทียบกับปัจจุบัน
ขอขอบคุณพี่แอ๊ด เจ้าของร้านใบบุญ ร้านขายขนมทองโย๊ะ ขนมพื้นบ้านของตลาดอีต่อง (อร่อยมาก) ที่เอื้อเฟื้อภาพในอดีตและบอกเล่าเรื่องราวของอีต่องได้อย่างสนุกสนาน
โฆษณา