27 พ.ย. 2022 เวลา 11:00 • ปรัชญา
สิ่งเดียวที่เราต้องกลัวก็คือ “ความกลัว” นั่นเอง
— แฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์
เหตุใดเราถึงไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าตั้งคำถาม ท่ามกลางการประชุมในที่ทำงาน แต่เรากลับกล้าพูดทุกอย่างแม้แต่เศษเสี้ยวความรู้สึกกับกลุ่มเพื่อนที่สนิทชิดเชื้อ
นั่นเพราะว่ากลุ่มเพื่อนมีสิ่งที่เรียกว่า “ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา” (Psychology Safety) ที่ค่อนข้างสูง
“ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา” คือ ความสามารถในการแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม เปิดเผยความขัดแย้ง แจ้งปัญหา แสดงความรู้สึก ความอ่อนไหว ความผิดพลาด โดยไม่ต้องกังวลว่าจะดูไม่ดี หรือมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น
แน่นอน ในบริบทที่ทำงานมักมีความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาต่ำกว่า โดยเฉพาะองค์กรที่มีวัฒนธรรมการปกครองด้วย “ความกลัว” ที่มักมีหัวหน้างานที่อารมณ์ฉุนเฉียว เน้นการใช้อำนาจข่มขู่ ตัดสิน ตำหนิ วิจารณ์ ตามแต่อารมณ์จะพาไป
ความเกี้ยวกราดส่งต่อกันมาเป็นลำดับชั้น ความกลัวถูกส่งไม้ต่อเป็นทอดมาเรื่อยๆ และคนที่ต้องแบกรับมากที่สุดก็คือ พนักงานลำดับล่างสุด โดยสังเกตได้ว่าบริษัทที่มีลำดับชั้นอำนาจแนวตั้ง (ปกครองจากบนลงล่าง) พนักงานจะมีความสบายใจในการแสดงความคิดเห็นต่ำ
เรามักพบสถานการณ์ที่หัวหน้างานถามความคิดเห็นกับพนักงานในที่ประชุม แต่ก็ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นออกมา สิ่งเดียวที่โอบคลุมเราไว้และสร้างบรรยากาศชวนอึดอัดขึ้นมานั่นก็คือ “ความเงียบ”
มีการศึกษาว่าสาเหตุที่เรา “ปากหนัก” ไม่กล้าแสดงความรู้สึกออกไป มีอยู่ 4 เหตุผลใหญ่ๆ โดยเหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ “ไม่อยากถูกมองในแง่ลบ” ตามมาด้วย “ไม่อยากทำให้ใครเสียหน้า” ตามด้วย “รู้สึกว่าเรื่องที่จะพูดไม่ได้สำคัญ” และสุดท้ายคือ “กลัวถูกแก้แค้น”
แต่หารู้ไหมว่าการดำรงวัฒนธรรมแห่งความเงียบและความกลัวเอาไว้ เปรียบดั่งระเบิดเวลาที่จะส่งผลร้ายแรงต่อตนเองและองค์กรจนเราคาดไม่ถึง
เพราะปัจจุบัน การที่องค์กรจะอยู่รอดได้ในโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้หลายสมอง หลายความคิด หลายประสบการณ์ หากมัวแต่คิดเอง เออเองคนเดียว ใช้แต่อำนาจเผด็จการโดยใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือ กำหนดภาพฝันที่เกินเอื้อม ไม่รับฟีดแบกที่เป็นจริง องค์กรอาจพบจุดจบในไม่ช้า
1
เรื่องอื้อฉาวของบริษัทโฟล์คสวาเกนที่วิศวกรไม่กล้าบอกความจริง ความล้มเหลวของธนาคารเวลส์ฟาร์โกที่ตั้งเป้าให้พนักงานขายผลิตภัณฑ์ด้วยจำนวนที่สูงเกินเอื้อม การกลัวความจริงของอดีตยักษ์ใหญ่อย่างโนเกีย รวมถึงอุบัติเหตุร้ายแรงของกระสวยอวกาศ “โคลัมเบีย” และ “ชาเลนเจอร์”
1
ความล้มเหลวเหล่านี้มีรากสาเหตุมาจากวัฒนธรรมแห่งความกลัว ซึ่งบั่นทอนความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาทั้งสิ้น
การสร้างวัฒนธรรมที่เปิดรับทุกความรู้สึก ความคิดเห็น และมองความผิดพลาดเป็นการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลเบื้องลึกที่ได้จากพนักงานทุกคน จึงเป็นหนทางที่ชาญฉลาดกว่า
องค์กรที่มีความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาสูง พนักงานมิเพียงรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรมากขึ้น หากยังมีแรงบันดาลใจในการทำงาน ทุ่มเททำงานมากกว่า ลดความวิตกกังวลที่ต้องเก็บงำความรู้สึก ลดความขุ่นเคือง
เมื่อเราสัมผัสความปลอดภัยได้จากภายในมันจึงส่งต่อออกมาเป็นอารมณ์และบรรยากาศในการทำงานที่ดี
The Fearless Organization บอกกับเราว่า “ทุกความรู้สึกมีความหมาย” ไม่มีความคิดเห็นใดไร้คุณค่า การเปิดกว้างรับฟัง เปิดเวทีเชิญชวนอภิปรายในประเด็นต่างๆ ตั้งคำถามเชื้อเชิญให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เลิกประณามความล้มเหลว และแสดงความชื่นชมในทุกความคิดเห็น จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการเรียนรู้ได้มากขึ้น
แม้ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาไม่อาจรับประกันความสำเร็จองค์กรได้ 100% แต่รับประกันได้ว่าเพื่อนร่วมงานของเราทุกคนจะมีความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน 🖤
100/10 อ่านสนุกมากกกกก !!!!
…พะโล้
โฆษณา