29 พ.ย. 2022 เวลา 00:10 • ธุรกิจ
ใครเป็นบ้าง เวลาออกจากห้องประชุมทีไร หรือเสร็จจากคิดโปรเจกต์อะไรหนักๆ เรามักจะรู้สึกหิวมากกว่าปกติ ทั้งที่ก็ไม่ได้ออกแรงทำอะไรมาก นี่ไม่ใช่แค่เรื่องอุปมาอุปไมยหรือนึกคิดไปเองเฉยๆ แต่มีหลักวิทยาศาสตร์ยืนยันได้ วันนี้จะเล่าให้ฟัง แถมวิธีช่วยจัดการให้ด้วย
ทำไมเราจึงรู้สึกหิว
ก่อนจะไปดูเหตุผลว่าเพราะเหตุใดการใช้สมองคิดอะไรเยอะๆ จึงทำให้รู้สึกหิวขึ้นมาได้ เราลองมาทำความเข้าใจ กลไกการเกิดความหิว (Hunger mechanism) ของร่างกายกันก่อน
อันดับแรกเลย คือ การเกิดความหิวและอิ่มของร่างกายจะถูกควบคุมด้วยสมองส่วนที่เรียกว่า “ไฮโพทาลามัส” (hypothalamus) โดยศูนย์ควบคุมความอิ่มจะอยู่ส่วนกลางของไฮโพทาลามัส ส่วนศูนย์ความหิวจะอยู่ด้านข้าง ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของเราจะมีกลไกควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสให้คงที่อยู่เสมอ โดยศูนย์ความหิวที่อยู่ในไฮโพทาลามัสจะมีตัวรับกลูโคสที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดมาก ซึ่งปกติน้ำตาลกูโคสในเส้นเลือดแดงมักจะมีมากกว่าเส้นเลือดดำเสมอ
ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ระดับน้ำตาลในเลือดของเส้นเลือดทั้งคู่เริ่มมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเส้นเลือดแดงต้องคอยทำหน้าที่กระจายกลูโคสไปยังเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้พลังงาน ศูนย์ความหิวในสมองก็จะเริ่มสั่งการไปยังกระเพาะอาหารทำให้เรารู้สึกหิวขึ้นมาในทันที เพื่อนำอาหารเข้าสู่ร่างกาย
และเมื่อร่างกายเริ่มได้รับพลังงานจากอาหารเพียงพอแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะกลับมาเป็นปกติ ศูนย์หิวก็จะเริ่มหยุดสั่งการ ศูนย์ควบคุมความอิ่มก็เริ่มทำงานขึ้นมา และเมื่อเส้นเลือดแดงส่งต่อน้ำตาลกลูโคสไปยังอวัยวะต่างๆ ใกล้หมดอีกครั้ง เมื่อนั่นแหละเราจึงจะเริ่มรู้สึกหิวขึ้นมาอีกครั้ง
แค่คิด ไม่ได้ออกแรง ทำไมยังหิว
ทีนี้มาเข้าเรื่องกันว่าทำไม๊ ทำไม แค่การนั่งคิดงาน หรือนั่งฟังประชุมเฉยๆ เราจึงรู้สึกหิวขึ้นมาได้ ไม่ต่างจากการออกแรงทำงานเลย
โดยจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กล่าวไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่สมองต้องใช้สมาธิ จดจ่อ หรือคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานานๆ สมองจะต้องการกลูโคส ซึ่งเป็นพลังงานของเซลล์ประสาทมากขึ้นกว่าปกติ ทำให้การเผาผลาญกลูโคสในกระแสเลือดหมดไปอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกหิวขึ้นมาได้ ทั้งที่ก็แทบไม่ได้ออกแรงอะไรเลย
ถึงตรงนี้ฟังดูแล้วหลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่า งั้นถ้ายิ่งคิดงานเยอะ ก็ยิ่งเผาผลาญนะสิ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งใช้สมองคิดเยอะ ก็ยิ่งผอมได้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น เพราะการเผาพลาญแคลอรีหรือพลังงานในร่างกายมันคนละอย่างกัน การที่เราจะขับแคลอรีออกมาได้ ก็ยังคงต้องใช้การออกแรง เช่น การออกกำลังกาย การขยับร่างกายอยู่ดี
วารสาร Psychosomatic Medicine ได้เคยตีพิมพ์ผลงานวิจัยไว้ว่าระหว่างนั่งเฉยๆ 45 นาที กับอ่านหนังสือ 45 นาที สมองเราจะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 3 แคลอรีเท่านั้น แต่จากการที่ต้องใช้ความคิดเยอะ ทำให้ระดับกลูโคสในร่างกายลดต่ำลงมากกว่าปกติ สมองจึงสั่งการให้เรารู้สึกหิว หรืออยากกินอะไรมากขึ้น แม้ในความเป็นจริงเราจะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อยก็ตาม ซึ่งจากผลวิจัยกล่าวว่าผู้ทดลองที่อ่านหนังสือมา 45 นาที จะกินข้าวเพิ่มเข้าไปมากกว่าผู้ที่นั่งอยู่เฉยๆ ถึง 200 แคลอรีเลยทีเดียว
นอกจากระดับกลูโคสในร่างกายจะถูกนำมาใช้มากกว่าปกติ จนทำให้รู้สึกหิวขึ้นมาในเวลาที่เราต้องใช้สมองเยอะๆ แล้ว หากใครมีความเครียดเพิ่มเข้ามาด้วย ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกหิวเพิ่มขึ้นมาอีก เหมือนที่หลายคนชอบพูดว่า “ยิ่งเครียด ยิ่งกิน”
เหตุผลเป็นเพราะว่าเวลาที่เราเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเครียดที่เรียกว่า “คอร์ติซอล” และฮอร์โมนหิวที่เรียกว่า “เกรลิน” ออกมา ทำให้สมองสั่งการว่าหิวมากกว่าปกติ จึงมักต้องการอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไขมันและน้ำตาล จึงไม่แปลกที่ทำไมหลายคนเวลารู้สึกเครียดๆ แต่พอได้กินของหวานแล้ว กลับทำให้อารมณ์ดีขึ้นมาได้
ทำยังไงไม่ให้อยากกินเยอะเกินไป เมื่อต้องใช้สมองเยอะๆ
จากข้อมูลที่นำมาเล่าให้ฟัง จึงพอสรุปได้ว่าเมื่อเราต้องใช้สมองคิดงานเยอะๆ จะทำให้รู้สึกหิวและอยากกินเยอะขึ้นมามากว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ สร้างความกังวลให้หลายคนได้ มาถึงตรงนี้เราได้รวบรวมวิธีป้องกันและแก้ไขมาฝาก ดังนี้
ดื่มน้ำเปล่าก่อนที่จะไปหาอย่างอื่นกิน
อย่าเพิ่งผลีผลาม หยุดพัก หยุดคิดสักครู่ ปล่อยใจให้นิ่งๆ และค่อยไปหาอะไรกิน จะทำให้ความหิวลดลง
ออกกำลังกายง่ายๆ เช่น เดินเร็ว แกว่งแขนขาไปมา เพื่อช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ และทำให้ลดความหิวลงมาได้บ้าง
หลีกเลี่ยงอาหารให้พลังงานสูง เช่น แป้ง น้ำตาล
กินโปรตีนแทน เช่น ถั่ว นม ไข่ โยกิร์ตจะช่วยให้บรรเทาความหิวลงได้ และแคลอรีไม่เยอะเกินไป
เบนความสนใจไปอย่างอื่นก่อน แล้วค่อยกิน เพื่อช่วยให้ความเครียดน้อยลง ความต้องการกลูโคสไม่สูงเกินไป
สุดท้ายอยากฝากบอกนักคิดผู้ที่ต้องใช้สมองเยอะทุกคนว่า อย่ากังวลมากจนเกินไป เพราะอย่างน้อยการที่คุณรู้สึกหิวขึ้นมาเวลาที่ต้องคิดอะไรเยอะๆ แสดงว่าคุณเป็นคนจริงจังและใส่ใจกับงานที่ทำอยู่ ฉะนั้นถ้าน้ำหนักจะขึ้นมาสักเล็กน้อย ก็เป็นหลักฐานให้ใครๆ ได้เห็นว่า คุณ คือ ตัวจริงที่เอาการเอางานคนหนึ่งนะ
ที่มา : https://bit.ly/3u0ArU8
TEXT : nimsri
#sme #smethailand #สินเชื่อ #ผู้ประกอบการ #เพื่อนคู่คิดธุรกิจเอสเอ็มอี #เรื่องธุรกิจต้องSMETHAILAND
.
ติดตามเราได้ที่
SME Thailand Online
โฆษณา