29 พ.ย. 2022 เวลา 12:30 • กีฬา
#MainStand : “ศาลบอลโลก” ความยุติธรรมแบบฉับพลัน ในฟุตบอลโลก 2010
ฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นครั้งแรกที่การแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับโลกได้จัดขึ้นในทวีปแอฟริกา ท่ามกลางบรรยากาศความทรงจำ ทั้งเหตุการณ์สำคัญในสนาม บทเพลง และเสียงของแตร “วูวูเซลา” อันโด่งดัง
1
แต่สิ่งหนึ่งที่ประเทศเจ้าภาพไม่อยากให้เป็นที่จดจำหรือแม้แต่โจษจันอย่างแพร่หลายคือเรื่องของเหตุอาชญากรรมในประเทศที่มีอัตราการก่อเหตุสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ตั้งแต่การปล้นทรัพย์ พฤติกรรมคุกคาม ไปจนถึงการฆาตกรรม ที่มีรายงานการก่อเหตุมากถึง 50 ครั้งต่อวัน อันมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศโดยตรง
ดังนั้นเพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เจ้าหน้าที่ของแอฟริกาใต้จึงได้จัดตั้ง “ศาลฟุตบอลโลก” ขึ้นมาเฉพาะกิจรวม 56 แห่ง ในพื้นที่ทั้ง 9 เมืองที่มีการแข่งขัน เพื่อใช้ในการว่าความและตัดสินคดีความต่าง ๆ ด้วยความรวดเร็ว
นี่ไม่ใช่ศาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพียงเพื่อภาพลักษณ์ของประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะแค่สองวันหลังการเปิดศาล ชาวซิมบับเวสองรายถูกตัดสินจำคุก 15 ปีหลังก่อเหตุใช้อาวุธมีดจี้ชิงทรัพย์นักข่าว และทั้งคู่ก็ยังคงอยู่ในเรือนจำ แม้ว่าฟุตบอลโลกครั้งดังกล่าวจะผ่านพ้นไปแล้วถึง 12 ปี
1
นอกจากคดีอันน่าสะพรึงกลัวแล้วยังมีกรณีสุดแปลกเกิดขึ้น อย่างการขับไล่แฟนบอลชาวดัตช์ 36 รายออกจากสนามบอล ด้วยเหตุผลว่าพวกเขาสวมใส่เสื้อที่มีโลโก้ของบริษัทเบียร์ท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่แบรนด์ที่เป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นทางการ จนถูกตีความว่าอาจเป็นการโฆษณาแอบแฝง
นั่นนำไปสู่การนำกำลังเข้าจับกุมแฟนบอลสองรายที่ถูกระบุว่าเป็นผู้นำแฟนบอลคนอื่น ๆ เข้าไปชมเกมในสนาม หลังตำรวจอ้างว่าทั้งคู่ถูกว่าจ้างจากบริษัทเบียร์ท้องถิ่นเจ้าหนึ่งให้สวมใส่เสื้อแบรนด์ของพวกเขาเข้าไปในสนาม
การพิจารณาคดีนี้เกิดขึ้นในศาลบอลโลกเช่นกัน ก่อนที่ทั้งคู่จะได้รับการปล่อยตัวด้วยเงินประกันมูลค่าประมาณ 20,000 บาท ซึ่งทำให้ รัฐมนตรีต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ ออกมาให้ความเห็นว่าการจับกุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่เกินความจำเป็นและไร้เหตุผลสิ้นดี
ความเห็นของประชาชนท้องถิ่นต่อการจัดตั้งศาลดังกล่าวขึ้นมาค่อนข้างเป็นไปในทางบวก “มันสุดยอดมาก โทษจำคุก 5 ปีสำหรับการขโมยมือถือเหรอ ผมสนับสนุนนะ” คือความเห็นของ แซม มัคโฮมู คนขับรถในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก เนื่องจากภรรยาของเขาเคยสูญเสียมือถือไปและถูกขู่เอาชีวิตถ้าขัดขืน
“นี่แหละแอฟริกาใต้ ถ้าความยุติธรรมในช่วงฟุตบอลโลกมันเกิดขึ้นจริง ผมก็หวังว่ามันจะเป็นเช่นนั้นตอนที่แขกคนสำคัญจากต่างแดนจากไปแล้ว”
รัฐบาลแอฟริกาใต้ ได้ทุ่มงบประมาณมากกว่า 94 ล้านบาทเพื่อยกระดับความยุติธรรมภายในประเทศรวมถึงศาลฟุตบอลโลกขึ้นมา ซึ่งมีผลและทำงานกันจนถึงตอนที่แสงไฟสุดท้ายในการแข่งขันมหกรรมฟุตบอลโลกบนผืนดินทวีปแอฟริกาได้ดับลงไป โดยแทบไม่มีการพูดถึงระบบยุติธรรมที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น และอัตราการเกิดอาชญากรรมในประเทศก็ไม่ได้ทุเลาลงแต่อย่างใด
สิ่งที่ชาวบ้านเกรงว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือเมื่อฟุตบอลโลกจบลงแล้วผู้กระทำผิดเหล่านี้จะถูกปล่อยตัวออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทราบว่าเกิดขึ้นจริงไหม และความยุติธรรมได้ถูกบังคับใช้จริงจังหรือไม่
Sources:
โฆษณา