1 ธ.ค. 2022 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ดักคอ‘คมนาคม’ ดันรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าครม.
เวทีสัมมนา ความโปร่งใสประมูลเมกะโปรเจ็กต์รัฐ จับตา คมนาคมดันแน่ รถไฟฟ้า สายสีส้มเข้าครม. ก่อนยุบสภา ดักคอ “บิ๊กตู่” สั่งเบรก หวั่นกลายเป็นค่าโง่ ปมส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน
งานเสวนา “THE BIG ISSUE 2022 ความโปร่งใสในการประมูลงานภาครัฐ กับอนาคตประเทศไทย” จัดโดย สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับฐานดิจิทัล และหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนแวนชั่น ในหัวข้อ “ความโปร่งใสการประมูลเมกะโปรเจ็กต์”
บนเวที พุ่งเป้าไปที่ ความเคลือบแคลงสงสัย ส่วนต่าง 68,612.53 ล้านบาทที่รัฐอาจเสียหาย จากการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์)กรณี บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือBTSC เปิดตัวเลขการขอรับสนับสนุนงบประมาณรัฐลงทุนงานโยธาสายสีส้มตะวันตกเพียง 9,675 ล้านบาท
เทียบกับการประมูลรอบสองรัฐต้องอุดหนุนงบประมาณมากถึง 78,288 ล้านบาท ให้กับผู้ชนะประมูล ทั้งที่มูลค่าโครงการระยะเวลาดำเนินการไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจาก การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การประมูลในทุกวิถีทางส่อเอื้อประโยชน์ กีดกันการแข่งขันให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง จนนำไปสู่การฟ้องร้อง คดียังอยู่ในศาลปกครอง,ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่ บริษัท ระบบขนส่งกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
เบรกบิ๊กตู่ ทิ้งทวน สายสีส้ม
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้เอกชนผู้ชนะประมูลเรียบร้อยแล้ว รอเพียงกระบวนการกระทรวงคมนาคมนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติลงนามในสัญญาระหว่างเอกชนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หลายฝ่ายฟันธงว่า จะได้เห็นครม.อนุมัติทิ้งทวนโครงการสายสีส้มก่อนยุบสภาฯ หรือก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึง
วงเสวนามองว่าจะต้องใช้เวทีนี้เบรกกระบวนการดังกล่าวให้ถึงที่สุด เพราะเป็นโครงการไม่โปร่งใส โดยผู้ที่ต้องตระหนักและสามารถยับยั้งโครงการได้คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สะท้อนว่า เชื่อว่า ครม. จะอนุมัติรถไฟฟ้าสายสีส้ม เพราะรฟม.จะพยายามผลักดันทุกวิถีทางเพื่อให้โครงการเกิดขึ้นเร็วที่สุด อย่างไรก็ตามหากสายสีส้มอนุมัติให้ลงนามในสัญญาจะเลิกเชื่อถือคนในครม.ทั้งคณะที่เคยมีนโยบายปราบปราบทุจริตคอรัปชั่น ทั้งนี้ ผู้ที่จะหยุดขบวนการนี้ได้จะเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว
พร้อมกันนี้ ยังตั้งข้อสังเกต 10 ประเด็น อาทิ ถ้าไม่ล้มประมูล BTSC อาจชนะประมูล รัฐประหยัดเงิน 6.8 หมื่นล้านบาท ข้อที่ 2 รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล หลังบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ขอให้เปลี่ยนแค่ 2 สัปดาห์ ทั้งที่ศึกษาเกือบ 2 ปี ข้อที่ 3 การประมูลครั้งที่ 2 เหตุใดรฟม.จึงลดคุณสมบัติผู้เดินรถไฟฟ้า แต่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาสูงขึ้นฯลฯ
จากเมกะโปรเจ็กต์ถึง “เมกะดีล”
สอดคล้อง นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฟันธง ว่า ครม.ทิ้งทวน อนุมัติ รถไฟฟ้า สีส้มตะวันตก ก่อนยุบสภาแน่นอน และยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบหากเกิดอะไรขึ้น ซึ่งควรจะหยุดกระบวนการดังกล่าว หากปล่อยให้มีการอนุมัติประเทศไทยต้องเสียผลประโยชน์มหาศาล
โดยเรียกโครงการนี้ว่า “3 ป” เพราะพบว่ามีกระบวนการ ปั้นตัวเลข มา ปั่นโครงการ และในวันนี้ใกล้จะ ปันผลประโยชน์ หากถูกส่งไปยัง ครม. จะทำให้เงินภาษีของประชาชนถูกใช้เกินจำเป็น 68,612.53 ล้านบาทสร้างความเสียหายทันที
พร้อมตั้งข้อสังเกตโครงการ สายสีส้ม แยกเป็นหลายท่อนหลายส่วน ทั้งส้มตะวันออก-ตะวันตก ทั้งจ้างงานโยธา และการเดินรถ ซึ่งต้องมีความชัดเจนในข้อมูลตัวเลขต่างๆ ได้ทำหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบในสภาฯ รวมทั้งเป็นอนุกรรมาธิการโครงสร้างพื้นฐานฯ ได้เชิญหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการมาชี้แจงหลายครั้ง ไม่มีใครกล้ายืนยันตัวเลขอย่างชัดเจน
"โครงการมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลสายสีส้มเป็นโครงการที่มีปัญหามาก และได้ติดตามมาโดยตลอด มีการพูดกันถึงตัวเลขราคากลางที่ 9 หมื่นกว่าล้านบาท เป็นตัวเลขหลอก เพราะฐานในการคิดต่างกัน เดิมคิดจากฐานการลงทุนงานโยธาช่วงก่อสร้าง แต่ก่อนหลังจากฐานรายได้จากการเดินรถที่ต้องเก็บอีก 30 ปี จนมีส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาท ที่ถามกันว่าหายไปไหนอยู่กับใคร อย่าปล่อยให้ความไม่โปร่งใสไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นได้ อย่าปล่อยให้เมกะโปรเจ็กต์กลายเป็นเมกะดีล ซึ่งจะกลายเป็นค่าโง่ตามมา"
สายสีส้มส่อลากยาว
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย สะท้อนปมร้อนการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีกระบวนการไม่โปร่งใส เริ่มจากเอกชน ต้องการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การประมูล โดยอ้างว่า ต้องขุดเจาะอุโมงค์ผ่าน เกาะรัตนโกสินทร์ รวมทั้งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ต้องใช้เทคนิคชั้นสูง เพราะมีเอกชนเพียงรายเดียวร้องขอปรับเกณฑ์และรฟม.ได้ตอบสนองใช้เวลาปรับเกณฑ์ทีโออาร์ใหม่ เพียงไม่กี่วัน ทั้งที่ใช้เวลาศึกษามานาน
นอกจากนี้ยังกำหนดเงื่อนไขผูกให้ผู้ชนะประมูลสายสีส้มตะวันตกรับสัมปทานเดินรถทั้งระบบ (ตะวันตกและตะวันออก) ขณะค่าก่อสร้างงานโยธาฝั่งตะวันออก รัฐเป็นฝ่ายออกให้ แต่เอกชนที่ชนะประมูล กลับลงทุนค่าก่อสร้างเพียงครึ่งเดียว และได้รับได้ประโยชน์จากการเดินรถทั้งเส้นทาง มองว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลก
ขณะเดียวกันไม่ฟันธงว่า ครม.จะเร่งอนุมัติ โครงการให้เดินต่อ หรือไม่ เพียงแต่สายสีส้มช่วงตะวันออก ที่ก่อสร้าง เกือบ 100% มีความล่าช้า ประชาชนเสียประโยชน์ เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ไม่ต่ำกว่าปีละ กว่า 46,000 ล้านบาท โดยเฉพาะคนที่ซื้อที่ดิน คอนโดมิเนียม ตลอดจนการลงทุนเชิงพาณิชย์ที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากสายสีส้มตะวันออก โดยเฉพาะคนในพื้นที่ คลองสามวา มีนบุรี รามคำแหง ฯลฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมและเสียโอกาส
ดันฝ่ายบริหาร -ตุลาการขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตามแม้ว่า รฟม.ออกมายืนยันว่าเส้นทางตะวันออกจะเปิดให้บริการในปี 2568 หลังล่าช้ามา 2 ปี นายจิรายุ มองว่า จะล่าช้าจริงไม่ต่ำกว่า 4 ปี เพราะกว่าเส้นตะวันตกจะได้รับอนุมัติ และจัดซื้อขนวนรถต้องใช้เวลา
“ไม่สนใจถ้าเอกชนรายไหนจะชนะการประมูล หรือได้ประโยชน์เพราะเป็นเรื่องของธุรกิจ แต่วิธีการมากกว่าว่าเข้าตามตรอกออกตามประตูหรือไม่ ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้”
ทั้งนี้อยากให้มีกระบวนการยุติธรรมที่พึ่งพาได้ ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนต่อประเทศชาติ ขอให้ประเทศมีกลไกถ่วงดุลทั้งฝ่ายบริหารและนิติตุลาการ
"ฟันธงเลยว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มอีก 2 ปีไม่มีทางเสร็จ เพราะเวลาจะซื้อรถไฟฟ้า ใช้เวลา 3 ปี รถไฟฟ้าถึงจะมาถึง ต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปีปี 2570 หรือดีไม่ดีอาจจะยังไม่ได้เปิดใช้บริการ"
โฆษณา