5 ธ.ค. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
Casa Lapin ขยายสาขาอย่างไร ให้ติสต์ได้ แต่ต้องโตด้วย
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ร้านกาแฟ Specialty “Casa Lapin” (คาซ่า ลาแปง) ได้ถือกำเนิดขึ้น จากความหลงใหลในการดื่มกาแฟพิเศษ ของกลุ่มเพื่อนสายดิไซน์
ตอนนั้น Casa Lapin เป็นหนึ่งในไม่กี่ร้านกาแฟ Specialty ในไทย
ทำให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคอกาแฟ ได้ไม่ยาก
จนตอนนี้ Casa Lapin มีทั้งหมด 24 สาขา ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้กลายเป็นร้านกาแฟ Specialty สัญชาติไทย ที่มีสาขามากที่สุด
วันนี้ ลงทุนเกิร์ล มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณต๋อง สุรพันธ์ ทันตา
และคุณเจ เอกชัย สุขุมวิทยา ผู้บริหารและหุ้นส่วนของ Casa Lapin
ถึงความท้าทายในการขยายสาขาของร้านกาแฟ Specialty
Casa Lapin มีกลยุทธ์ในการขยายสาขาอย่างไร เพื่อคงความพิเศษของร้านกาแฟ Specialty ไว้อย่างดี
ลงทุนเกิร์ลจะสรุปให้ฟัง..
1
Casa Lapin ไม่ใช่ร้านกาแฟธรรมดา
แต่เป็นร้านกาแฟ Specialty ที่พิถีพิถันกับ คุณภาพเมล็ดกาแฟ และกรรมวิธีในการชงเป็นอย่างมาก
เพื่อที่จะมอบประสบการณ์ การเสพกาแฟแสนพิเศษ ให้กับลูกค้า
ซึ่งหลังจากเริ่มต้นมาได้ 5 ปี
เครือเจมาร์ท ก็ได้เข้าซื้อหุ้น 60% ของ Casa Lapin ด้วยเงินจำนวน 42 ล้านบาท
ส่งผลให้ Casa Lapin มีมูลค่าอยู่ที่ 70 ล้านบาท
ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้น มีสาขาอยู่เพียง 7 แห่งเท่านั้น
1
โดยเป้าหมายที่คุณต๋อง ผู้ก่อตั้ง Casa Lapin
และคุณเจ ทายาทของเจมาร์ท มีร่วมกันก็คือ การขยายสาขาทั้งในประเทศและนอกประเทศ
สำหรับในปัจจุบัน หลังจากการร่วมมือกันของทั้งสองคน ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีแล้ว
เป้าหมายการขยายเชนร้านกาแฟ Specialty ที่ว่าเป็นโจทย์หิน ก็ได้เดินทางมาถึงสาขาที่ 24 แล้ว
แล้วพวกเขามีวิธี ขยายสาขา อย่างไร ให้ไม่เสียเสน่ห์ของร้านกาแฟ Specialty ?
อันดับแรก “เราต้องหาลูกค้าให้เจอ”
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
กลุ่มลูกค้าที่รู้จัก และนิยมดื่มกาแฟ Specialty ยังมีน้อยมากในไทย
แต่ด้วยความเป็น Niche Market นี่เอง ที่ทำให้ผู้บริโภคกลายเป็นฝ่ายที่วิ่งเข้าหาร้าน
เพราะลูกค้าในกลุ่มนี้ มีความรู้เรื่องกาแฟเป็นอย่างดี และยินดีที่จะจ่ายในราคาสูง เพื่อสินค้าที่ต้องการ
รวมถึงลูกค้ามักมีคนรู้จัก ที่ชอบดื่มกาแฟ Specialty เหมือน ๆ กัน ทำให้เกิดการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก
จนเมื่อ 3 ปีก่อน
ตลาดกาแฟ Specialty กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มลูกค้าก็ยิ่งขยายตัวตามไปด้วย
ดังนั้น ในปัจจุบัน ลูกค้าของ Casa Lapin จึงเป็นใครก็ได้ ทุกเพศ ทุกวัย ที่ชื่นชอบกาแฟ Specialty
ทำให้ Casa Lapin เปลี่ยนแนวทางการขยายสาขา เป็นบริเวณออฟฟิศ มหาวิทยาลัย และในห้างสรรพสินค้า เพื่อเข้าถึงลูกค้าหน้าใหม่ ๆ มากขึ้น
อันดับสอง “แบรนด์ต้องเป็นที่จดจำ”
เมื่อ Casa Lapin เปิดสาขาใหม่ กลุ่มลูกค้าจะจำได้ว่า นี่คือแบรนด์ร้านกาแฟ Specialty ถ้าเห็นแบรนด์นี้ก็จะ มั่นใจได้เลยว่า กาแฟที่ได้ดื่ม ต้องเป็นกาแฟที่มีคุณภาพอย่างแน่นอน
คุณต๋องยังบอกอีกว่า แครักเตอร์ ของ Casa Lapin คือ แบรนด์ที่เฟรนด์ลี เข้าถึงง่าย ซุกซน ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ แต่มีความจริงจังเรื่องกาแฟเป็นที่สุด
อย่างเวลาลูกค้าเข้ามาสั่งกาแฟที่ร้าน
นอกจากเลือกเมนูแล้ว พนักงานจะคอยถามลูกค้าว่า
 
- ชอบรสชาติกาแฟแบบไหน
- ชอบเมล็ดกาแฟคั่วอ่อน คั่วกลาง หรือคั่วเข้ม
เพื่อที่จะได้แนะนำเมล็ดกาแฟไปทำเครื่องดื่มให้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด
อันดับสุดท้าย คือ “ติสต์ได้ แต่ต้องเป็นระบบ”
เสน่ห์ของ Casa Lapin คือ ความติสต์ ความหลงใหล และความจริงจังเรื่องกาแฟ
แต่หากจะขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น
ต้องมีการทำงานที่เป็นระบบ ถึงจะสามารถทำให้ Casa Lapin ยังรักษาเสน่ห์ไว้ได้เหมือนเดิม
 
ดังนั้น Casa Lapin จึงเลือกที่จะควบคุมคุณภาพกาแฟเองทั้งหมด
ตั้งแต่ คัดเลือกสายพันธุ์, แปรรูป, คั่ว และชงให้ลูกค้าดื่ม
เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า กาแฟทุกแก้วที่ลูกค้าดื่ม จะเป็นกาแฟที่ดี ตามมาตรฐานของ Casa Lapin
แต่ที่สำคัญ และท้าทายมากกว่า คือ บาริสตา
เพราะเป็นด่านหน้า ที่ส่งของถึงมือลูกค้า
Casa Lapin ออกแบบระบบเทรนนิง ทั้งความรู้เฉพาะเรื่องกาแฟพิเศษ วิธีการชง และการบริการ
เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกสาขา
และยังมี Career Path ให้พนักงาน เห็นโอกาสเติบโตในสายงาน และพร้อมที่จะพัฒนาไปกับบริษัท
 
ไม่เพียงแค่นั้น ทัศนคติของบาริสตา ก็ยังสำคัญไม่แพ้กัน
เพราะหน้าที่ของพนักงาน ไม่ใช่แค่ชงเครื่องดื่มเท่านั้น
แต่พนักงานคือ ตัวแทนของแบรนด์
ดังนั้น พนักงานจะต้องเข้าใจความเป็น Casa Lapin
และสามารถสะท้อนมันออกมาผ่านเครื่องดื่ม และการบริการให้ได้
นอกจากนี้ คุณเจยังทิ้งท้ายไว้ว่า
“เราเห็นการเกิด และจากไปของธุรกิจร้านกาแฟอยู่เรื่อย ๆ
เนื่องจากธุรกิจร้านกาแฟ เป็นธุรกิจที่เริ่มง่าย
แต่หากจะทำให้มันเติบโต และอยู่ได้อย่างดี ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นว่าสิ่งที่ Casa Lapin กำลังทำ ไม่ใช่เรื่องง่าย
เมื่อศิลปะในการเสพกาแฟ คือ จุดเด่นของ Casa Lapin
การทำชิ้นงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์ ให้มีหลายชิ้น จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
แต่การวางแผน การจัดระบบในองค์กร และการสร้างมาตรฐาน เพื่อที่งานศิลปะแต่ละชิ้นนั้น จะยังคงเสน่ห์ของมันอยู่
อาจทำให้ความท้าทาย เป็นไปได้ขึ้นมาจริง ๆ
Reference:
- สัมภาษณ์พิเศษกับ คุณต๋อง สุรพันธ์ ทันตา และคุณเจ เอกชัย สุขุมวิทยา ผู้บริหารคาซ่า ลาแปง บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด
โฆษณา